• นายกอบต.พันท้ายนรสิงห์คนจริงแห่งสมุทรสาคร
  • นอกจากให้พื้นที่สร้างศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 ตั้งเตียงรองรับผู้ป่วย 140 เตียง
  • ยังเป็นตัวตั้งตัวตี ทั้งหาทุน มอบที่ดินเนื้อที่ 8 ไร่ สร้างรพ.สนามให้อีก 1,000 เตียง
  • หรือหากยังไม่พอ ยังมีที่ดินอีก 100 ไร่ จะสร้างไปจนกว่า "สมุทรสาคร" จะสู้จนเอาชนะโควิดได้

ณ วันนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่าศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 กำหนดก่อสร้าง ในพื้นที่ของ "วัฒนาแฟคตอรี่" ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

นายวัฒนา แตงมณี ที่เป็นทั้งนายก อบต.เจ้าของพื้นที่ต.พันท้ายนรสิงห์ และเป็นเจ้าของที่ดินผู้มอบอาคารโกดังโรงงาน 2 หลัง บนเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ห่วงใยคนสาคร ตามดำริของ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร ผู้ว่านักสู้ ที่ตอนนี้ยังนอนป่วยด้วยโรคโควิดฯอยู่ที่รพ.ศิริราช

จุดมุ่งหมายของศูนย์แห่งนี้ คือ นำผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ในจังหวัดสมุทรสาคร มากักตัวอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลา 14 วันหรือจนกว่าหาย ตามมาตรการที่กำหนดไว้

ความคืบหน้าในขณะนี้ มีการนำเตียงนอนมาลงในพื้นที่เต็มอัตรา 140 เตียง มาพร้อมเครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม

อุปกรณ์สำหรับโรงพยาบาลสนาม
อุปกรณ์สำหรับโรงพยาบาลสนาม

...

ส่วนห้องสุขา ห้องอาบน้ำ ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงเหลือแต่การจัดพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อภายใน ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 นี้เท่านั้น

"บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องของการวางระบบ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ซึ่งที่ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3 นี้ จะมีแพทย์ พยาบาล บุคลากร จากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ"

ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3  ใกล้สำเร็จ
ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 ใกล้สำเร็จ

ทั้งนี้ คาดว่าอีก 1-2 วันนี้ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่วัฒนาแฟคตอรี่ จะสามารถนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากในชุมชนเข้ามากักตัวได้ โดยสามารถรองรับได้โกดังละ 140 คน รวมทั้ง 2 โกดังก็ประมาณ 280-300 คน

นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากชุมชนต่างๆ ที่จะเข้ามากักตัวอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3 วัฒนาแฟคตอรี่ แห่งนี้ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อม ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือ โดยจะใช้หลักการบริหารจัดการเดียวกันกับในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เกิดความปลอดภัยทั้งกับบุคลากรและตัวผู้ป่วย รวมถึงความปลอดภัยที่จะมีต่อชุมชนรอบ ๆ ด้วย

“เรามีระบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง” หมอพรเทพ กล่าวให้ความมั่นใจ

เจ้าของพื้นที่ มาสั่งการด้วยตัวเอง
เจ้าของพื้นที่ มาสั่งการด้วยตัวเอง

ขณะที่ นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต. พันท้ายนรสิงห์ เจ้าของหรือผู้บริหารวัฒนาแฟคตอรี่ ที่กำลังจะกลายเป็นรพ.สนาม “ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3” ในอนาคตอันใกล้นี้ เปิดใจถึงการมอบอาคารโกดังโรงงาน 2 หลัง ให้กับทางจังหวัดสมุทรสาคร ว่า

ตามที่จังหวัดสมุทรสาคร เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และทางจังหวัด มีความประสงค์ในการจัดหาสถานที่เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม (ศูนย์ห่วงใยคนสาคร) นั้น

...

"ในฐานะผู้ประกอบการที่มีอาคารโกดังโรงงานสร้างใหม่ และอยู่ในพื้นที่ ๆ มีความเหมาะสม ปลอดภัยต่อชุมชน จึงได้มอบอาคารโกดังโรงงานให้กับทางจังหวัดสมุทรสาครจำนวน 2 หลัง เพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาไว้ในพื้นที่ โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดทั้งสิ้น"

นายวัฒนา ยังบอกอีกว่า นอกจากโกดัง 2 หลังนี้แล้ว ยังจะได้สร้างโรงพยาบาลสนาม บนเนื้อที่ 8 ไร่ ภายในโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้ออีก 1,000 เตียง โดยใช้ทั้งเงินส่วนตัว และส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากเพื่อนๆ ผู้ใจบุญใจกุศล และมูลนิธิฯ ต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการสร้างโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียงนี้ด้วย

อีกทั้ง ยังได้ความร่วมมือจาก พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดกำลังคนมาช่วยดำเนินการ สร้างโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง ซึ่งได้เร่งทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 10 วันข้างหน้า โดยขณะนี้ มีการออกแบบเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย อยู่ระหว่างการปรับหน้าดิน ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนที่วางไว้ ส่วนงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 5 ล้าน

...

นายวัฒนา ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ในวันนี้ พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร ต้องหันมาร่วมมือกันในการแก้ไขสถานการณ์โควิด ซึ่งในส่วนของเขานั้น หากโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ก็ยินดีที่จะสร้างเพิ่มให้อีก

หรือถ้าจะต้องสร้างจนเต็มพื้นที่ 100 ไร่ที่เหลืออยู่นี้ ก็ยินดี เพื่อให้จังหวัดสมุทรสาครมีที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพราะในสภาวะเช่นนี้ แม้จะสร้างโรงงานไปก็คงไม่มีใครมาซื้อ ดังนั้น จึงหันมาทำโรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และจังหวัดสมุทรสาคร จะดีกว่า

ต้องสู้ถึงจะชนะ
ต้องสู้ถึงจะชนะ

"การทำครั้งนี้ทำด้วยหัวใจ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่พอจะมีกำลังทรัพย์ สิ่งของ หรือสถานที่ ที่พอจะสามารถช่วยเหลือจังหวัดสมุทรสาครได้ ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง ก็อยากจะให้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 ก่อนที่จะแพร่ระบาดมากไปกว่านี้"

...

สุเมธ จันทร์สอาด : เรื่องและภาพ

ชลิต จิตต์ณรงค์ : เรียบเรียง