"สมุทรสาคร" พบติด "โควิดฯ" รายใหม่วันนี้ 104 ราย ไทย 83 ต่างด้าว 6 รวมสะสม 1,738 ยืดคำสั่งปิดยาวถึง 15 ม.ค.64 ประเดิมเคลื่อนย้ายคนติดเชื้อไม่มีอาการ เข้าศูนย์ "ห่วงใยคนสาคร" 30 คน พร้อมสั่งยกระดับสถานประกอบการปรับพื้นที่เป็น Quarantine

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.63 ที่ จ.สมุทรสาคร ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 104 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุกจำนวน 15 ราย จำแนกเป็นคนไทย 10 ราย ต่างด้าว 5 ราย และในโรงพยาบาลอีก 89 ราย จำแนกเป็นคนไทย 83 ราย ต่างด้าว 6 ราย รวมมียอดผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 1,738 ราย จำแนกเป็นจากการค้นหาเชิงรุก 1,393 ราย และตรวจค้นพบในโรงพยาบาลอีก 345 ราย ขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีคนไทยที่ยังอยู่ในระหว่างการรักษาอีก 364 ราย ต่างด้าว 42 ราย รักษาหายแล้วกลับบ้านได้เป็นคนไทยรวม 28 ราย และต่างด้าวรวม 3 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เฝ้าสังเกตอาการอีก 1,301 ราย 

ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้ออกคำสั่งจังหวัดสมุทรสาครที่ 3624 / 2563 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2012 (COMD-19) (เพิ่มเติม) (ฉบับที่ 2) โดยมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COMD-19) เป็นการชั่วคราว ดังนี้ อาทิเช่น สถานที่เล่นการพนันทุกประเภท, สนามกีฬาของรัฐและเอกชนทุกแห่ง, สนามมวย โรงเรียนสอนมวย, สนามเด็กเล่น, สถานศึกษาทุกประเภทของรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันกวดวิชา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสอนทักษะกีฬา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร สถานที่รับเลี้ยงเด็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่อยู่ในคูหา รถเข็นและแผงลอยจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ภัตตาคาร ห้องอาหาร สโมสรหรือสถานประกอบการอื่นใดที่จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ผ่อนผันให้สามารถเปิดบริการให้เฉพาะการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น ยกเว้นโรงอาหารในโรงพยาบาลและโรงแรม ที่จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือห้างสรรพสินค้าในลักษณะเดียวกัน โดยเปิดให้บริการเฉพาะร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน และร้านจำหน่ายอาหาร ตามกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้นๆ และต้องปิดบริการภายในเวลา 22.00 น. ร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยให้ปิดบริการตั้งแต่เวลา 22.00 น.-05.00 น. ตลาดและตลาดนัด (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ หรือเครื่องดื่มเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และสถานบันเทิงอื่นที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานที่ออกกำลังกายภายในอาคาร (ฟิตเนส) และสปา เป็นต้น

...

ทั้งนี้สถานที่ที่ได้รับยกเว้นตามประกาศนี้ หรือสถานที่อื่นนอกเหนือจากประกาศนี้ ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ตามที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด กรณีผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.64-15 ม.ค.64 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า วันนี้ (31 ธ.ค.) เป็นวันแรก ที่ จ.สมุทรสาคร ได้เริ่มทำการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรงมากนัก จำนวน 30 คน เข้ามาพักอยู่ภายในศูนย์ห่วงใยคนสาคร (วัดโกรกกราก) ต.โกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ และมีแอนติบอดี้ คือ มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง จึงจะอนุญาตให้กลับออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งสถานที่แห่งนี้เบื้องต้นได้จัดเตียงสนามรองรับผู้ติดเชื้อไว้ จำนวน 140 คน โดยมี นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ใหญ่

พร้อมกันนี้ก็ได้มี คำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง จัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อใช้บริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมของวัดโกรกกราก เป็นที่จัดตั้ง "ศูนย์ห่วงใยคนสาคร" จึงห้ามบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปหรือออกจากสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศูนย์ห่วงใยคนสาคร) เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค กรณีผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่งด้วยเหตุที่เป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อผลเสียหายร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามนัยมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 

ด้าน นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ส่วนตลาดกลางกุ้งนั้น จะต้องวางแนวทางและมาตรการในการดำเนินงานเพื่อให้เริ่มเปิดหลังจากปีใหม่ไปแล้วให้ได้ แต่ยังไม่สามารถกำหนดวันที่ชัดเจนได้ ก็ต้องรอฟังคำสั่งจากทางรัฐบาล หรือ ศบค.อีกครั้ง แต่จะต้องเป็นไปให้เร็วที่สุด อาจจะประมาณวันที่ 4-5 ม.ค.64 ส่วนการตรวจผู้ที่อยู่ในตลาดกลางกุ้งนั้น ได้ดำเนินการใน 2 รูปแบบควบคู่กันไป คือ การตรวจหาเชื้อ กับ ตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งทุกคนต้องได้รับการตรวจอย่างครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีฐานข้อมูลจากระบบของ ตม.ที่เข้ามาดำเนินการ ทำให้สามารถระบุตัวตนได้ชัดเจน  

ด้าน นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงภาพรวมโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร ว่า มีความพร้อม ซึ่งทางเราได้นำคนเข้ามาแล้ว โดยคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และถ้ามีอาการป่วยหนักก็จะส่งโรงพยาบาล มีความพร้อมด้านเตียงนอน จำนวน 140 เตียง ขณะที่สนามกีฬากลางจังหวัด มีความพร้อม 95 เปอร์เซ็นต์ รอการนำเตียงมาลงให้ครบจำนวน ซึ่งตอนนี้มีอยู่กว่า 300 เตียง และอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเพื่อให้ครบ 540 เตียง ส่วนที่ศูนย์ฯวัฒนาแฟคทอรี่ ใน ต.พันท้ายนรสิงห์ นั้น รองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณกว่า 200 คน มีความพร้อมราวๆ 70 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องดำเนินการเรื่องห้องน้ำและห้องอาบน้ำ ที่จะต้องเป็นไปตามระบบการควบคุมโรค

...

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลสนาม จะต้องมีการเพิ่มเติมอีกกี่แห่งนั้น ก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์รายวันก่อน แต่ทั้งนี้ทางจังหวัดก็ต้องเตรียมการจัดหาสถานที่ที่มีความพร้อมไว้ ให้สามารถเข้าไปดำเนินการจัดตั้งได้เลย ซึ่งถ้าเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีตัวอาคาร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการตั้งเต็นท์และอุปกรณ์ต่างๆ แต่ถ้าเป็นโรงงานหรือโกดังใหญ่ๆ ก็ช่วยให้การทำงานสะดวกมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วย

นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากจังหวัดจะดำเนินการจัดหาสถานที่ เพื่อจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาครเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว ยังได้มีความพยายามในการดำเนินโครงการยกระดับโรงงาน หรือสถานประกอบการให้ทำพื้นที่ของตนเองเป็น Quarantine หรือพื้นที่กักกันโรคสำหรับแรงงานของสถานประกอบการนั้นๆ ที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการ 2 แห่งเข้าร่วมโครงการแล้ว และหลังจากนี้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความพร้อม ก่อนจะนำผู้พบเชื้อเข้าอยู่ได้ ในการนี้จึงขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและสถานประกอบต่างๆ หากมีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร หรือปรับให้เป็น Local Quarantine ในสถานประกอบการได้ ก็ขอให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อการดำเนินงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ให้ผ่านพ้นลุล่วงไปด้วยดี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศของการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ เข้ามาที่ศูนย์ห่วงใยคนสาครวันนี้นั้น พบว่า วันแรกมีการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อที่ค้นพบในชุมชนและสถานประกอบการเข้ามาทั้งหมด 30 คน โดยรถกระบะ 3 คัน ซึ่งเมื่อรถมาถึงหน้าประตู 1 ก็จะให้รถถอยหลังเข้าไป จากนั้นจึงส่งผู้เข้าพักอาศัยให้ลงจากรถ แล้วทุกคนก็จะต้องผ่านการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก่อน จากนั้นจึงไปรับฟังการปฏิบัติตนภายในศูนย์ฯ จากบุคลากรทางการแพทย์และล่ามที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในได้ โดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปอย่างเด็ดขาด ส่วนภายนอกมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารคอยตรวจตราความสงบเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการกั้นพื้นที่ทางเข้า-ออก ไม่ให้รถหรือคนที่มาออกกำลังกายผ่านบริเวณด้านหน้าศูนย์ฯ

...

ส่วนด้านการดูแลผู้ป่วยภายในของศูนย์ฯนั้น ได้มีการนำระบบเทเลเมดิซีน หรือระบบการแพทย์ระยะไกล มาใช้ในการให้ยาตามอาการ ตรวจรักษาและเฝ้าดูอาการของผู้ติดเชื้ออีกด้วย โดยบุคลากรทางการแพทย์จะเฝ้าดูอยู่ด้านหน้าศูนย์ฯ ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ในเต็นท์สำนักงานอาคารแพทย์ หากเห็นใครมีอาการผิดปกติ ก็จะรีบเข้าให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อเป็นการลดอัตราความเสี่ยงจากการสัมผัสนั่นเอง โดยศูนย์แห่งนี้ ถือเป็นศูนย์แรกและศูนย์เดียวในขณะนี้ ที่นำระบบดังกล่าวมาใช้