ตำรวจค้นบ้าน ลูกจ้างสำนักงานจังหวัด ยักยอกเงิน 33 ล้านบาท ตะลึงหลักฐานเงินเข้าบัญชีวันละหลายรายการ สูงสุด 5.9 ล้าน พบสมุดเช็คเปล่า ลงลายมือผู้มีอำนาจเบิกจ่าย

จากกรณี นางสาวขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานวิชาการการเงินและบัญชี สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยักยอกงบประมาณราชการจำนวน 33 ล้านบาท ต่อมา นางกัลยารัตน์ นิลอ่อน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ และศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกหมายจับที่ จ. 47/63 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2563 ในข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม กระทั่งนำมาสู่การจับกุมตัวเมื่อคืนวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันที่ 23 มิถุนายน 2563 พ.ต.ท.พิธี อินทร์น้อย รอง ผกก.สส. สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อม พ.ต.ท.สุทิน ทัดรัตน์ สว.สส. นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน พร้อมหมายค้น ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 82/21 ถนนเพชรเกษม หมู่ 8 ต.คลองวาฬ อ.เมือง ซึ่งเป็นบ้านพักของ นางสาวขนิษฐา 

จากการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดเอกสารการเงินส่วนตัว และเอกสารของทางราชการจำนวนมาก ประกอบด้วยสมุดเช็คงบประมาณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของธนาคารกรุงไทย จำนวน 1 ฉบับ ภายในปรากฎการลงลายมือของผู้มีอำนาจสั่งจ่าย จำนวน 2 คน โดยไม่กรอกตัวเลขจำนวนเงิน และชื่อบุคคลที่สั่งจ่าย รวมถึงสมุดบัญชีหลายธนาคาร จำนวน 18 เล่ม บัตรเครดิต และบัตร เอทีเอ็ม 22 ใบ โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊ก สมุดทะเบียนคู่มือรถจักรยานยนต์ 1 เล่ม

...

ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สมุดบัญชีบางเล่ม มีการบันทึกรายการเบิกจ่ายผ่านระบบในวันที่ 30 เมษายน 2563 มีเงินเข้าบัญชีสูงสุดในรายการครั้งเดียว จำนวน 5,630,548 บาท และถอนออกไปภายในวันเดียวกันจำนวน 5,924,154 บาท เหลือเงินติดบัญชีเพียง 82 บาท 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวนายธัญเทพ กิตติธากรณ์ และนางสายพิณ ดิบดีคุ้ม สามีและมารดาของ นางสาวขนิษฐา ไปสอบปากคำที่ สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ อย่างเคร่งเครียด เนื่องจากไม่ปักใจเชื่อตามคำรับสารภาพของผู้ต้องหาว่าลงมือกระทำความผิดเพียงคนเดียว และใช้บัญชีธนาคาร ธกส. ของมารดาเพียงบัญชีเดียว เนื่องจากตรวจพบการโอนผ่านระบบอีแบงก์กิ้ง กระจายเงินไปมากกว่า 100 บัญชี มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

โดยจะได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมเป็นคณะงานในการตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมด สำหรับข้ออ้างว่ามีการนำเงินไปเล่นการพนันออนไลน์จนหมด ถือว่ามีพิรุธ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามตรวจสอบในการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่น.