ชาวบ้านอำเภอสามร้อยยอด เดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ทางลอดแคบ กระทบอาชีพ เพราะรถบรรทุก รถเพื่อการเกษตรผ่านไม่ได้ วอนเร่งแก้ไข หลังยื่นข้อเสนอไปหลายครั้งแต่เงียบ

วันที่ 4 มิถุนายน ชาวบ้านหมู่ 4 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลากหลายอาชีพ ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งขาว เกษตรกรชาวปาล์ม  ชาวนา และผู้ประกอบการฟาร์มจระเข้ กำลังได้รับความเดือดร้อนผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ สร้างทางลอดแคบ ขอให้เร่งแก้ไขด่วน

พบว่า ปัจจุบันบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ในซอยเทศบาลไร่เก่า 26 กำลังมีการก่อสร้างโครงการรถไฟรางคู่ มีการปรับพื้นที่ขยายเขตทางรถไฟ และเริ่มมีการล้อมรั้วตลอดแนว ซึ่งพบว่ามีการทำทางลอดใต้ทางรถไฟ 2 ช่อง เพื่อเตรียมเปิดใช้แทนจุดตัดรถไฟเดิม ที่จะยกเลิกและล้อมรั้วปิดทาง

โดยทางลอดดังกล่าว มีขนาดความสูงประมาณ 2.20 เมตร กว้างช่องละประมาณ 2 เมตร รถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถกระบะ สามารถผ่านได้พอดีคัน ส่วนรถเพื่อการเกษตร เครื่องจักร แบ็กโฮ รถไถ รถห้องเย็น รถหกล้อและรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านใช้ขนอุปกรณ์การเกษตรและขนผลผลิตไปจำหน่าย ไม่สามารถลอดทางดังกล่าวได้

...

ดังนั้น เชื่อว่าหลังการรถไฟก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้ทางลอด จะมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนนับ 1,000 ราย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และประมง มีบ่อเลี้ยงกุ้งกว่า 50 บ่อ สวนปาล์มน้ำมัน ฟาร์มจระเข้ นาข้าว ตลอดจนประชาชนที่มีอาชีพจับปลาภายในทุ่งสามร้อยอด

ขณะที่ชาวบ้านบอกว่า ก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้เสนอให้ขยายทางลอดจากแบบเดิมให้กว้างขึ้น เพื่อให้รถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถสัญจรผ่านได้ ซึ่งในที่ประชุม การรถไฟฯ ยอมรับจะไปปรับแบบให้ ขณะที่การก่อสร้างทางลอด ชาวบ้านคิดว่าเป็นทางลอดระบายน้ำ เพราะไม่ใช่ขนาดที่ตกลงกัน

นายชาคริต ทรัพย์เจริญกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ศาลาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่ชาวบ้านได้รับคือ รถขนาดใหญ่ไม่สามารถลอดทางได้ เมื่อรถใหญ่เข้ามาไม่ได้ ก็ไม่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ บริเวณนี้มีทางลอดเพียงจุดเดียว ความกว้างประมาณ 2 เมตร สูง 2.20 เมตร แต่วิถีชีวิตการประกอบอาชีพของชาวบ้านแถบนี้ที่ต้องใช้รถขนาดใหญ่ คือตั้งแต่ 6 ล้อ 10 ล้อ และก็แบ็กโฮ อยากให้การรถไฟฯลงมาดูแล แก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการปิดจุดตัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนเรื่องการประสานงาน ตนเองได้แจ้งไปทางการรถไฟฯ แล้ว และได้มีการประชุมกันหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไปตามแผนที่ชาวบ้านเสนอไว้ คือ ทางลอดมีสูงอย่างน้อย 3.80 เมตร ความกว้างประมาณ 4 เมตร

ด้าน จ.ส.อ.อภิรักษ์ แก้วเนตร ผู้เลี้ยงกุ้งขาว เปิดเผยว่า พื้นที่ทั้งหมดใกล้เคียงทางรถไฟมี ประมาณ 2,000 ไร่ มีบ่อกุ้งมี 53 บ่อ ประมาณ 500 กว่าไร่ นอกจากนี้ ยังมีภาคการเกษตรอื่นๆ ด้วย ทั้งนาข้าว ปาล์มน้ำมัน และยังมีฟาร์มจระเข้อีก 2 ฟาร์มด้วย ในส่วนของการเลี้ยงกุ้ง จำเป็นจะต้องมีการขนส่งกุ้ง และปรับพื้นที่ในบ่อกุ้ง ซึ่งจำเป็นต้องใช้รถใหญ่ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป รวมไปถึงรถไถ รถแบ็กโฮ ที่จะต้องนำเข้ามาเพื่อกวาดพื้นกวาดบ่ออยู่ตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งกับทางการรถไฟฯ ที่ตกลงกันไว้ว่าสูง 3.80 เมตร ก็ไม่ได้ ที่ทำได้คือช่องทางเล็กๆ รถกระบะ ก็ยังเข้าลำบากเลย ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปคงทำกินกันไม่ได้ ส่วนทางท้องถิ่นก็ได้ไปพูดคุยกับนายก อบต. ทำหนังสือขอใช้เส้นทาง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบรับออกมา

"การรถไฟฯ ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ และต่อไปเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้วมันจะอยู่ในรูปที่ว่าเส้นทางรถไฟปิดหมดบังคับให้เราใช้ช่องทางนี้ช่องทางเดียว ไปทางอื่นก็ไม่ได้ รถใหญ่ก็เข้าทำงานกับเราไม่ได้ เรา จะเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นก็ไม่ได้ เนื่องจากมีการล้อมรั้วมาปิดทางหมดแล้ว

ส่วนนางสุรินทร์ บัวล้อม ชาวนา มีที่นาขนาด 5 ไร่ ติดกับทางรถไฟ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่ชาวนาพบคือน้ำที่สะพานตรงนี้ออกไม่ได้ ออกไม่สะดวก พอน้ำมาเยอะๆ ก็ทำให้ท่วมข้าวมิดหมดเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีท่วมขังนาน จะท่วมก็ประมาณ 5-6 วัน น้ำกสามารถระบายได้หมด ข้าวก็ไม่เสียหาย แต่ตอนนี้ที่ท่วมเพราะมีการปิดกั้นทาง ถ้าน้ำมาเยอะก็ออกไม่ทันพอท่วมที 7-8 วัน ข้าวก็เสีย เน่าตาย จึงอยากให้ช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านด้วย

ทางด้านนายสุเมธ ปัญญาสาคร ผู้ดูแลฟาร์มจระเข้ศรีราชาฟาร์ม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของฟาร์มจระเข้ เดือดร้อนเหมือนๆ กับผู้เลี้ยงกุ้ง เนื่องจากจะต้องมีการขนส่งตัวจระเข้กลับไปที่ศรีราชา ปีหนึ่งก็ต้องทำการขนส่งกันประมาณ 6 เดือน ก็จะต้องใช้รถตั้ง 6 ล้อขึ้นไป ซึ่งไม่สามารถ ลอดอุโมงค์ตรงนี้ได้ ไม่สามารถส่งจระเข้ได้ และก็ยังมีเรื่องของรถขนส่งอาหารที่ต้องนำเข้ามาให้จระเข้ด้วยซึ่งตอนนี้จระเข้ในฟาร์มมีประมาณ 40,000 กว่าตัว อีกทั้งการรถไฟไม่ได้ทำทางคู่ขนาดไปยังทางข้ามอื่น ที่อยู่ห่างไป กว่า 3 กิโลเมตร เพราะมีการล้อมรั้วเต็มพื้นที่ หากขนส่งไม่ได้คงเดือดร้อนหนัก

...