มะขามหวาน พืชอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่นและมีมูลค่าประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ จากเดิมขายทั้งฝักแบบชั่งกิโลฯเพื่อเพิ่มมูลค่าและตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบความสะดวก การขายมะขามในยุคนี้จึงเปลี่ยนมาแกะเมล็ดออก แล้วขายเนื้อเน้นๆ
ส่วนเมล็ดถูกทิ้งกลายเป็นขยะ
เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ในระดับชาติและนานาชาติ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดทำโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มของเหลือทิ้ง พัฒนาเป็นสารสกัดจากเปลือกหุ้มเมล็ดมะขาม
เนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดมะขามมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบฟีนอลลิกปริมาณใกล้เคียงกับสารสกัดจากเมล็ดองุ่น นอกจากจะมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ยังลดเบาหวาน ลดคอเลสเทอรอล ต้านการอักเสบ และลดการเสียหายของเยื่อหุ้มเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ และป้องกันเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดงไม่ให้ถูกทำลาย
จากคุณประโยชน์ดังกล่าว วว.จึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดเมล็ดมะขาม พร้อมดื่ม คุณสมบัติช่วยแก้ปัญหาอาการอ่อนเพลียกับผู้ใช้แรงงานและผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ส่วนเนื้อในเมล็ดมะขามนำมาทำแป้งในรูปของนาโนอิมัลชัน (nanoemulsion) คุณสมบัติยับยั้งเซลล์เป้าหมายในชั้นใต้ผิวหนัง ลดการสร้างเม็ดสีผิวบำรุงผิวหน้า เหมาะสำหรับผู้ที่ผ่านการทำเลเซอร์.