(ภาพ) เครื่องผลักดันน้ำถูกติดตั้งบริเวณใต้สะพานคลองพระยาบันลือ หน้าที่ว่าการอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไล่น้ำเค็ม แก้ปัญหาแหล่งน้ำใช้ในการประปา.
ปัญหา “ภัยแล้ง” ในปีนี้ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ มีสภาพแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรเป็นบริเวณกว้าง กลายเป็นปัญหาซ้ำซากให้รัฐบาลต้องแก้กันทุกปี
นอกจากภัยแล้งแล้ว ยังมีปัญหาน้ำเค็มหนุนเข้าแม่น้ำทำให้น้ำเค็ม ส่งผลต่อการนำน้ำมาทำน้ำประปาจ่ายให้กับประชาชนในการบริโภค และภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไปด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ณ ที่ว่าการอำเภอลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
...
โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอลาดบัวหลวง พ.ต.อ.สมิทธิ สารอต ผกก.สภ.ลาดบัวหลวง และนายวิชา ดาวแจ่ม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหลักชัย
พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และ นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ
ก่อนจะเดินทางต่อไปตรวจเยี่ยมจุดปฏิบัติการผลักดันน้ำในคลองพระยาบันลือ และจุดปฏิบัติงานขุดลอกสันดอนคลองพระยาบันลือเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม มีการบรรยายสถานการณ์ให้ฟังอย่างละเอียด
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะหากน้ำในแม่น้ำมีค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตรฐานก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการผลิตน้ำประปา จึงได้เดินทางลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง
พร้อมกันนี้ก็ได้สั่งการให้ กรมชลประทาน ร่วมกับ การประปานครหลวง เพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง สนับสนุนการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง และมอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์ และตลอดจนวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ภายใต้การขับเคลื่อนของ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
...
รองนายกฯ ย้ำอีกว่า นอกจากจะมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักตอนบนแล้ว ยังผันน้ำจากแม่น้ำกลองมาช่วยเหลือในพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เส้นทาง
ประกอบด้วย 1.คลองท่าสาร-บางปลา 2.คลองจรเข้สามพัน ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน เข้าสู่คลองพระยาบันลือ คลองพระพิมล โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำจำนวน 102 เครื่อง เพื่อเร่งผันน้ำให้ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา และ 3.คลองประปา เข้าคลองบางกอกน้อยไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
มาตรการผันน้ำจะดำเนินการร่วมกับมาตรการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วยการบริหารจัดการอาคารชลประทานให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง โดยหน่วงน้ำในพื้นที่ด้านบนบริเวณหน้าเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ด้วยการบริหารปิด/เปิดบานระบายให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง
...
“การทำงานสอดคล้องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้านท้ายแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะปิดประตูระบายน้ำในช่วงเวลาน้ำขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำและจะเปิดบานระบายน้ำในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อเร่งระบายน้ำหรือการกระแทกน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไล่น้ำเค็มออกสู่ทะเลโดยเร็วอีกด้วย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะ รอง ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 24-31 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่เกิดน้ำทะเลหนุนสูง ผลการดำเนินการตามมาตรการข้างต้นร่วมกับการทดลองใช้ปฏิบัติการกระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา (Water Hammer Operation) โดยกรม ชลประทานร่วมกับ กปน.
...
พบว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 ซึ่งเกิดน้ำทะเลหนุนสูงสุด ลิ่มความเค็มอยู่บริเวณวัดตลาดใต้ อ.เมืองปทุมธานี ห่างจากสถานีสูบน้ำสำแลของ กปน. ลงมาประมาณ 11 กิโลเมตร และจากการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล ณ เวลา 07.00 น. มีค่า 0.18 กรัมต่อลิตรเป็นคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ (เกณฑ์ควบคุมค่าความเค็มเพื่อการผลิตน้ำประปา อยู่ที่ไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร และเกณฑ์ควบคุมเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร)
สำหรับปฏิบัติการกระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวิธีการที่กรมชลประทานและ กปน.นำมาทดลองใช้เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดมาใช้ผลักดัน และเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบสำแล โดยกำหนดให้โรงสูบน้ำประปาสำแลหยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลง
เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวไปให้ไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล โดยมีการปฏิบัติการแล้ว 3 ครั้งในช่วงระหว่างวันที่ 25-26 ธ.ค. 2562 วันที่ 9-13 ม.ค.2563 และวันที่ 24-27 ม.ค.2563
ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังคงเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะดำเนินทุกมาตรการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคที่ปลอดภัย.
พันธ์ภิพรต รังษิโย