ค่ายมวย "ศิษย์สามศร" แห่งขุนเขาตะนาวศรี การรวมตัวของกลุ่มเด็กเยาวชนกะเหรี่ยง ที่ใจรักในกีฬามวย ด้วยหัวใจเต็มเปี่ยมของนักสู้ แม้ขาดอุปกรณ์การฝึกซ้อม นวมเปื่อย กระสอบทรายขาด  

"ศิษย์สามศร" สู้ด้วยหัวใจ แม้ยากไร้ขาดแคลน  

เหล่าเยาวชนผู้รักดี ได้รวมกลุ่มกับเยาวชนกะเหรี่ยงต้านยาเสพติดแห่งเทือกเขาตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตั้งค่ายมวยชื่อ “ศิษย์สามศร” อยู่ที่หมู่ 2 บ้านท่ามะขาม ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง ด้วยใจรักในกีฬามวย จึงสร้างเวทีมวยชั่วคราว โดยเสาไม้แก่นร่อนปักเป็นเวที ใช้สายยางสำหรับฉีดยาผักและเชือกมากั้นรอบทั้งสี่ด้าน มีผ้ายางรองพื้นและมีกระสอบทรายเก่าๆ ที่ขาดจนใช้การแทบไม่ได้แล้ว ขณะที่นวมสวมมือ อุปกรณ์ซ้อมมวยก็มีไม่เพียงพอ ยางรถยนต์เส้นใหญ่ถูกนำมาไว้ให้เด็กๆ ได้เต้นออกกำลังขา

เป็นค่ายมวยที่เกิดขึ้นแบบตามมีตามเกิด แม้ขาดความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ แต่มาจากใจที่รักในกีฬามวย เหล่าบรรดาเด็กๆ เยาวชนชาวกะเหรี่ยงต่างตั้งอกตั้งใจฝึกซ้อมกันอย่างขะมักเขม้น

...

เด็กๆ ใช้เวลาว่างไปกับ "มวยไทย" ห่างไกลยาเสพติด

ค่ายศิษย์สามศรแห่งเทือกเขาตะนาวศรีแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นจากแรงบันดาลใจของ นายภัทรพงศ์ วงศ์กิจเกษม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านท่ามะขาม นายรัชดา เจริญสุข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านห้วยแห้ง และนายพาลี แสวงดี ครูมวย ได้ช่วยกันฝึกสอนวิชามวยไทยให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้าน เพื่อให้เขาเหล่านั้นใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และยังมีวิชาที่ใช้ป้องกันตัวอีกด้วย

ส่วนใหญ่เด็กๆ จะใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดและช่วงหลังเลิกเรียนฝึกซ้อม เพิ่มทักษะศิลปะการต่อสู้ด้วยศิลปะแม่ไม้มวยไทย หลายคนเคยชึ้นเวทีชกชิงแชมป์ที่ต่างจังหวัด และสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ ด้วยการฝึกซ้อมจากเวทีชั่วคราวแห่งนี้

"นวมเปื่อย กระสอบทรายขาด เวทีไม่มีหลังคา" 

นายภัทรพงศ์ วงศ์กิจเกษม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านท่ามะขาม เปิดเผยว่า ค่ายมวย “ศิษย์สามศร” ของหมู่บ้าน ตั้งมานานแล้ว เนื่องจากมีเด็กๆ ในหมู่บ้านเยอะ ทางครูมวยได้เล็งเห็นว่าเด็กเหล่านี้น่าจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด แต่ด้วยกำลังของชาวบ้านซึ่งไม่มีงบประมาณการสร้างค่ายมวย จึงสร้างค่ายได้อย่างที่เห็นอยู่นี้

“อุปกรณ์บางอย่าง เช่น นวม และกระสอบทราย ก็มีสภาพเก่าเริ่มขาดชำรุดแล้ว หลังคาเวทีก็ยังไม่มี เด็กๆ ที่ผ่านการฝึกฝนได้ออกไปขึ้นชกหลายเวทีมาแล้วในพื้นที่ต่างจังหวัด และชนะมาเกือบทุกครั้ง ได้เป็นเงินรางวัลเล็กๆ น้อยๆ และถ้วยรางวัลมา เคยทำโครงการไปของบประมาณจากภาครัฐ แต่ก็ยังไม่มีการสนับสนุนเข้ามาแต่อย่างใด สิ่งที่อยากได้ขณะนี้ เป็นอุปกรณ์การชกมวย นวม กระสอบทราย พื้นเวที หลังคา ที่จะนำมาให้เด็กได้ฝึกซ้อมได้ดีขึ้น"

...

ครูมวย เผยที่มาชื่อ "ศิษย์สามศร" 

ขณะที่ นายพาลี แสวงดี ครูมวยค่ายศิษย์สามศร เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่จะต่อยต้องยกมือไหว้กระสอบทรายก่อน เพราะเป็นครูบาอาจารย์ สอนวิชาป้องกันการเดินเข้าหาคู่ต่อสู้ที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ที่นำเด็กไปชกจะชนะ ไม่เคยมีเสมอ ผลมีแพ้กับชนะ อย่างเด็กบางคนต่อยมา 28 ไฟต์ แพ้คะแนน 4 ไฟต์ เหตุที่ตั้งชื่อค่ายมวย "ศิษย์สามศร" คือ สมัยก่อนตัวเองเคยรับราชการเป็นหมอทหารเสนารักษ์อยู่ที่ จ.กาญจนบุรี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ได้ให้ไปชกชิงแชมป์เสื้อสามารถ ทางผู้บัญชาการกองพลชอบลีลาการต่อยใช้ศอกเป็นอาวุธ เลยคิดถึงพระนามว่าทหารเอกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ “สามศร” ทางผู้บัญชาการกองพลจึงตั้งชื่อตนเองว่า “สามศร” มาจนถึงทุกวันนี้ กว่า 30-40 ปีมาแล้ว เลยเป็นที่มาของชื่อ “ค่ายศิษย์สามศร”

นักมวยหญิงคนเก่ง วาดอนาคต "นักกีฬาทีมชาติ"

นางสาวสมหญิง ชาติอารีย์ อยู่บ้านเลขที่ 20/1 หมู่ 2 ต.ตะนาวศรี นักเรียนโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา และเป็นนักมวยหญิงของค่ายศิษย์สามศร กล่าวว่า เริ่มฝึกซ้อมมวยมาตั้งแต่อยู่ชั้น ม.3 ตอนนี้อยู่ชั้น ม.5 แล้ว เคยไปชกหลายที่ ล่าสุดไปต่อยที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี ผลชนะคะแนน คิดว่าเห็นคนอื่นเล่นกันก็เลยลองเล่นตาม สุดท้ายเกิดความชอบตามมา โดยใช้เวลาว่างช่วงเย็นๆ หลังเลิกเรียนมาซ้อมกับเพื่อนๆ คิดว่าอนาคตข้างหน้าอยากเป็นนักกีฬามวยทีมชาติไทยให้ได้ และในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ได้เป็นตัวแทนของ จ.ราชบุรี ไปแข่งขันในกีฬาเยาวชนแห่งชาติที่ จ.ตาก คาดว่าจะชนะได้เหรียญกลับมาฝากชาวราชบุรีด้วย

วอนผู้ใจบุญ สนับสนุนอุปกรณ์ "กีฬามวยไทย"

...

สำหรับผู้สนใจมีจิตศรัทธาที่จะช่วยเหลือสนับสนุนด้านอุปกรณ์กีฬามวยไทยให้กับเด็กๆ หรือจะบริจาคสมทบทุนสร้างเวทีมวย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นายภัทรพงศ์ วงศ์กิจเกษม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านท่ามะขาม เบอร์ 09-0139-9905.