“สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และจากพฤติกรรมเกษตรกรไทยที่มักปลูกอ้อยในพื้นที่เดิมๆอย่างต่อเนื่อง ติดต่อระยะเวลานาน เป็นผลทำให้เกิดโรค โรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ เป็นสาเหตุทำให้อ้อยแคระแกร็น และแห้งตายได้ง่าย”
นางสาววีรวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชไร่ขอนแก่น เปิดเผยว่า การวิจัยปรับปรุงพันธุ์อ้อยสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ ต้องใช้เวลา 15-20 ปี และที่ผ่านมาบ้านเราไม่มีการปรับปรุงพันธุ์อ้อยมาเลยตั้งแต่ปี 2543
อ้อยพันธุ์ใหม่ล่าสุด “ศรีสำโรง 1” เป็นผลพวงมาจากการปรับปรุงพันธุ์เมื่อปี 2539 เพื่อหาพันธุ์อ้อยโรงงานที่ทนทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ...ด้วยการนำอ้อยพันธุ์ KWT7 มาผสมกับพันธุ์ RT96-018 จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ปลูกที่ อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
เนื่องจากการพัฒนาปรับปรุงอ้อยสายพันธุ์ใหม่ๆต้องใช้ดอกผสมพันธุ์ การปลูกอ้อยให้ออกดอกและมีเมล็ด ต้องปลูกพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ต้นอ้อยเกิดความแปรปรวน ออกดอกและติดเมล็ด
...
จากนั้นนำเมล็ดที่ได้ 10,000 เมล็ด มาเพาะชำในถุง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย เมื่อได้ต้นกล้าสูง 7 นิ้ว คัดต้นกล้าที่สมบูรณ์ 3,280 โคลน (เมล็ด) กระทั่งอายุ 2 เดือน นำลงปลูกในแปลงหลุม จนอายุ 10 เดือน คัดเลือกต้นที่มีทรงกอตั้งตรง ไม่ล้ม แตกกอดี ไม่เป็นโรคไม่มีการทำลายของหนอนได้ 138 โคลน (อ้อยแต่ละกอ)
นำมาปลูกรอบ 2 แต่หนนี้ขยายพันธุ์ด้วยการตัดเป็นท่อนพันธุ์ แต่ละท่อนให้มีตาอ้อย 3 ตา นำมาปลูกในแปลง เมื่ออ้อยอายุ 10 เดือน คัดเลือกต้นที่ทรงกอตั้งตรง ไม่ล้ม แตกกอดี ไม่เป็นโรคไม่มีการทำลายของหนอน ไม่เป็นโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ และคัดต้นพันธุ์เหลือจำนวน 25 โคลน (อ้อยแต่ละกอ)
และเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง วีรวรรณ บอกว่า ได้นำท่อนพันธุ์อ้อยที่คัดเลือกไปทดลองปลูกในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชลบุรี และระยอง ต่อเนื่อง 7 ปี ระหว่างนี้จะประเมินผลผลิตคัดเลือกอ้อยที่ให้ผลผลิตสูงสุด ตั้งแต่อ้อยตอ 1 และอ้อยตอ 2 คัดเฉพาะต้นที่ให้ผลผลิตมากที่สุดไว้เป็นพันธุ์อ้อยเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก
ในที่สุดการปรับปรุงพันธุ์ที่ใช้เวลามานาน 19 ปี จากที่ตั้งความหวังว่าจะได้ “อ้อยโรงงาน” ที่ทนทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ...กลับได้ “อ้อยคั้นน้ำ” ที่ทนทานโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำแทน
เพราะนำอ้อยมาหีบเอาเฉพาะน้ำอ้อย จะได้น้ำอ้อยที่มีกลิ่นหอม ความหวานวัดได้ 19 บริกซ์ มาตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิในสภาพห้อง 3-4 ชม.สีน้ำอ้อยไม่เปลี่ยนแปลง...ซึ่งต่างจากอ้อยโรงงาน ตั้งทิ้งไว้ 15-20 นาที สีน้ำอ้อยจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลง
ให้ผลผลิตไร่ละ 18.47 ตัน ได้น้ำคั้นไร่ละ 5,647 ลิตร มากกว่าอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งให้น้ำคั้นแค่ไร่ละ 4,856.42 ลิตร
...
โดยทีมวิจัยได้ใช้ชื่ออ้อยสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “อ้อยคั้นน้ำศรีสำโรง 1” เพราะได้มาจากการปรับปรุงพันธุ์ที่สถานีวิจัย อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย.
เพ็ญพิชญา เตียว