"เฉลิมชัย" ห่วงน้ำท่วมใต้ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการรับมือ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.62 ที่สำนักงานชลประทานที่ 14 อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2562 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังจะมาถึง โดยได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด รวมถึงการตรวจสอบอาคารและระบบชลประทานในพื้นที่ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ อีกทั้งยังเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์

...


นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ได้มอบนโยบายการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี มักจะได้รับผลกระทบจากลมมรสุมฝนตกหนัก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมที่ดีจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ มีสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จึงขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้การป้องกันแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องมองไปถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งปีหน้าด้วย โดยต้องหาแนวทางกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด

จากนั้นได้เดินทางไปเปิดกิจกรรม “เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2562” พร้อมปล่อยขบวนคาราวานเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เข้าประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่หากเกิดอุทกภัยได้ทันที ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยภาคใต้ทั้งหมด 89 จุด ใน 16 จังหวัด และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักร อาทิ เครื่องสูบน้ำจำนวน 464 เครื่อง โดยดำเนินการติดตั้งแล้ว 49 เครื่อง และสำรองอีก 415 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 300 เครื่อง ดำเนินการติดตั้งแล้ว 28 เครื่อง และสำรองอีก 272 เครื่อง รถแทรกเตอร์และรถขุดจำนวน 308 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีกจำนวน 170 หน่วย รวมเครื่องจักรเครื่องมือทั้งหมด 1,242 หน่วย

มีรายงานว่า ที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรได้รายงานสภาพอากาศและการคาดการณ์ พบว่าพื้นที่ภาคใต้จะเริ่มได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของลมมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนัก ในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมนี้ และคาดการณ์ว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงที่พื้นที่ภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักมากที่สุด ส่วนช่วงเดือนธันวาคม คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยในปีนี้มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังการเกิดสถานการณ์อุทกภัยจำนวน 89 จุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ และ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน มีพื้นที่เสี่ยงภัย 8 จังหวัด 44 อำเภอ โดยกรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเครื่องจักรพร้อมออกปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 16 จังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง รวม 1,242 หน่วย ประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำ 464 เครื่อง ปัจจุบันติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว 49 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง ปัจจุบันติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว 28 เครื่อง และยังมีรถแทรกเตอร์ 308 คันและเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 170 หน่วย พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายเข้าประจำการในพื้นที่ประสบภัยได้ทันที

...

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำภาคใต้ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ย. 62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนรัชประภา และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำรวมกัน 5,513 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 46 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 351 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนขนาดเล็ก 106 มีปริมาณน้ำรวมกัน 31 ล้าน ลบ.ม. จากการคาดการณ์ปริมาณฝนเฉลี่ย ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะมีปริมาณน้ำรวมกัน 5,705 ล้าน ลบ.ม. และจากการคาดการณ์ปริมาณฝนเฉลี่ย ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2562 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะมีปริมาณน้ำรวมกัน 5,930 ล้าน ลบ.ม.