หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ แจงโครงการซาฟารีห้วยขาแข้ง ต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน ชี้กรมอุทยานฯ พร้อมทำตามกฎหมาย-ระเบียบเกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ-มรดกโลก-ประชาชน อย่างระมัดระวัง เผย วนศาสตร์ ม.เกษตรฯ เตรียมแถลง 5 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาเปิดเผยถึงโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า ในรูปแบบซาฟารี คล้ายในทวีปแอฟริกา โดยใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ บริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กับอ่างเก็บน้ำทับเสลาบนเนื้อที่กว่า 3 หมื่นไร่ โดยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีพี และมอบให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัย คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท จนทำให้มีหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการซาฟารีห้วยขาแข้ง เนื่องจากหวั่นว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศป่าห้วยขาแข้ง รวมไปถึงประชาชนนั้น

โดย นายธานี วงนาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้กล่าวถึงกรณีโครงการซาฟารีห้วยขาแข้ง ว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงมีเพียงการศึกษาธรรมชาติที่ประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาธรรมชาติได้ตามความเหมาะสมเท่านั้น สำหรับกรณีจะมีการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบของซาฟารีห้วยขาแข้ง อันเป็นประเด็นข่าวที่สนใจขณะนี้ เป็นการวิจัยคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ ซึ่งได้ทำการวิจัยพื้นที่รอยต่อด้านนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งด้านทิศตะวันออก ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งนักวิจัยคณะวนศาสตร์ได้ทำการวิจัยในรูปแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเชิงอนุรักษ์ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาและจัดการพื้นที่เชิงอนุรักษ์ ที่อยู่ด้านนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อันประกอบด้วยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางส่วน และบริเวณพื้นที่ริมเขื่อนทับเสลา และพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้านแต่อย่างใด ทั้งนี้ต้องใช้ข้อมูลเชิงวิชาการในการพัฒนาและจัดการอย่างเหมาะสม ต้องไม่มีผลกระทบถึงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การวิจัยดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัย เมื่อแล้วเสร็จทราบถึงความเหมาะสม และรูปแบบการพัฒนา จากนั้นจะต้องนำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นมรดกโลก และประชาชน อย่างระมัดระวัง ซึ่งทางคณะวนศาสตร์จะมีการแถลงถึงโครงการดังกล่าวในวันที่ 5 ก.ย.นี้.

...