กรมอุทยานฯปิ๊งไอเดีย “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯช่วงรอยต่อเขตรักษาพันธุ์ฯห้วยขาแข้งกับอ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี กว่า 3 หมื่นไร่ ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำ ให้นักท่องเที่ยวขับรถล่องเรือชมสัตว์ป่าคล้ายซาฟารีในทวีปแอฟริกา สร้างเส้นทางลอยฟ้าเดินชมยอดไม้ แถมมีที่พักแบบไฮเอนด์รองรับ ใช้งบฯกว่า 100 ล้านบาท อยู่ระหว่างให้คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ ทำโมเดลศึกษาวิจัย
ที่อนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ช่วงเช้าวันที่ 1 ก.ย. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายณรงค์ รักร้อย ผวจ.อุทัยธานี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร หน่วยงานราชการ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ประชาชน นักเรียน นักศึกษากว่า 500 คน เข้าร่วมงานรำลึก “29 ปี สืบ นาคะเสถียร” อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่กระทำอัตวินิบาตกรรมยิงตัวตายในบ้านพักหัวหน้าเขตฯ บริเวณหน่วยทุ่งแฝก เมื่อช่วงใกล้รุ่งวันที่ 1 ก.ย. 2533 เพื่อกระตุ้นให้สังคมหันมาสนใจการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรัฐบาลสมัยนั้น เพื่อผลักดันให้ป่าห้วยขาแข้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
นายวราวุธกล่าวว่า การจากไปของสืบ นาคะเสถียร 29 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยทั้งประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าว่า เป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยดูแล ส่วนภัยคุกคามห้วยขาแข้งที่ยังเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนทุกคนและชุมชนที่ต้องช่วยป้องกันดูแล ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่อยู่ 20 ชุด ตนจะช่วยสนับสนุนในเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงาน ส่วนกรณีมีประชาชนเรียกร้องที่ทำกินในป่าอนุรักษ์หลายพื้นที่ สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างถูกกฎหมาย เรื่องนี้มีโครงการ คทช. ดูแลอยู่แล้ว วันนี้ขอไม่ใช้คำว่าทวงคืนผืนป่า แต่ให้ใช้คำว่าการร่วมกันฟื้นฟูป่า โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนข้อเสนอของภาคประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลในการออกโฉนดชุมชน เป็นเรื่องดี และต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน ยังไม่รับปากว่าทำได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าใครจะทำอะไรได้ตามใจชอบ และไม่ใช่ได้โฉนดไปแล้วนำไปสร้างคอนโดฯ
...
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ กล่าวว่า กรมอุทยานฯดำเนินโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า เป็นการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบซาฟารีคล้ายในทวีปแอฟริกา ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯบริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์ฯห้วยขาแข้งกับอ่างเก็บน้ำทับเสลา ทั้งบนบกและผืนน้ำ เนื้อที่กว่า 3 หมื่นไร่ เป็นส่วนที่น้ำท่วมถึง เมื่อน้ำลดจะกลายเป็นทุ่งหญ้าและเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่า เช่น ช้าง วัวแดง กระทิง เสือโคร่ง นกยูง และสัตว์กีบทั้งหลาย มีความเหมาะสมจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปแบบดังกล่าว อาจจะใช้ได้ทั้งรถและเรือในการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) และมอบให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยนำเสนอโมเดลมาแล้ว 4-5 รูปแบบ คาดจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท
“ส่วนข้อห่วงใยว่าจะทำให้มีการแฝงตัวเข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่หรือไม่ ปัญหานี้มีในพื้นที่อยู่แล้ว ทำให้ต้องคิดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อดึงชุมชนมาร่วมอนุรักษ์และดูแลสัตว์ป่า และชุมชนต้องได้ประโยชน์จากการจัดการท่องเที่ยวด้วย การดำเนินการน่าจะเป็นรูปแบบที่รัฐร่วมมือกับชุมชนในการบริหารจัดการ จะไม่เหมือนในแอฟริกาที่ให้เอกชนบริหารจัดการทั้งหมด หากได้ข้อสรุปของโครงการจะนำไปสอบถามความเห็นของชุมชนรอบพื้นที่ต่อไป” นายสมโภชน์กล่าว
ช่วงบ่าย ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา นายนันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ นำเสนอโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ว่า แนวคิดการดำเนินงานในพื้นที่ป่ากันชน 1.5 หมื่นไร่ เพื่อลดความขัดแย้งและให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลป่า ส่วนแรกจะทำแนวรั้วกั้นสัตว์ป่าเพื่อปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างเส้นทางลอยฟ้าศึกษาธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ หรือคาโนปีวอล์กเวย์ ระยะทาง 2-3 กม.ให้นักท่องเที่ยวเดินชมธรรมชาติโดยไม่รบกวนสัตว์ป่า ส่วนที่ 2 เป็นเส้นทางขับรถชมสัตว์ป่าที่เป็นมาตรฐาน รูปแบบเหมือนแอฟริกา หรืออินเดีย และส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่ “ระบำรักษ์ป่า” หมู่บ้านระบำ อยู่ในพื้นที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เหมาะสม จะจัดให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ของชุมชนในการขายสินค้า หรือพืชผลการเกษตร รวมทั้งสัมปทานที่พักแบบไฮเอนด์ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง