โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เดิมพื้นที่โครงการเป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพืชไร่ มีการใช้ดินอย่างผิดวิธี ทำให้หน้าดินเสียหาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์เกิดความแห้งแล้งไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือปลูกได้แต่ผลผลิตลดลงมาก พื้นที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง บางส่วนมีการขุดลูกรังไปขาย ดินสวนใหญ่เป็นดินตื้น เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายและปนกรวด มีชั้นดานแข็งอยู่ด้านล่างลึกประมาณ 40 เซนติเมตร จากผิวดินบน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 พ.ย.29 ได้มีพระราชดำริ ให้ดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงดินเสื่อมโทรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ โดยการทดสอบวางแผน และจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในลักษณะศูนย์ศึกษาการพัฒนาขนาดย่อม

นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า ประวัติความเป็นมาของพื้นที่ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจากราษฎรในพื้นที่ซึ่งเขาใช้พื้นที่จุดนี้จนหมดความสามารถหมดศักยภาพในการทำประโยชน์แล้วทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เสื่อมโทรมท่านจะฟื้นฟูที่ดินแห่งนี้ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ มีป่าขึ้นมา มีพันธุ์ไม้ขึ้นมาสามารถทำการเกษตรได้ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมให้พัฒนาแหล่งน้ำให้พัฒนาทางด้านของพืชทำการเกษตร โดยการปรับปรุงดินในเรื่องของการใช้ปุ๋ยหมักการใช้พืชคลุมดินเพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดินศูนย์ศึกษาแห่งนี้มีทั้งการวิธีการทดลองต่างๆ เอาผลสำเร็จที่ได้จากงานทดลองนะครับไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรด้านนอก

...


โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้ทั้งความรู้ และเพลิดเพลิน พื้นที่กว่า 869 ไร่ เป็นแหล่งศึกษาดูงานของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป จะได้ชมพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรมแห่งนี้ จนมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นกว่าในอดีต โดยการทำงานบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งได้มีการแนะนำ ส่งเสริมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ได้ทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งดการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร ผลผลิต และผู้บริโภค

นางสาวนันทพร กอบธัญญกิจ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กล่าวว่า โครงการฯ จะส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้เคมีผลิตภัณฑ์ที่ที่ส่งเสริมให้ตอนนี้ก็คือมีการผลิตปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพและก็ส่งเสริมให้ในเรื่องของการใช้ปุ๋ยพืชสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน อย่างปุ๋ยหมักเป็นกระบวนการที่ง่ายที่เกษตรกรทุกคนสามารถทำได้เพียงแค่มีวัสดุเหลือใช้เกษตร เช่น ใบไม้ เศษฟางเศษหญ้าแห้งหรือวัสดุอินทรีย์หมักร่วมกับมูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้ไก่ แกลบ ทางกรมพัฒนาที่ดินจะมีจุลินทรีย์ที่ช่วยในกระบวนการหมักคือสารเร่งซุปเปอร์พด. 1 กระบวนการหมักในกองปุ๋ยให้กลายเป็นปุ๋ยที่เร็วขึ้นก็จะใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างดินเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินส่วนน้ำหมักชีวภาพก็ทำได้ง่ายเช่นเดียวกัน ผลิตจากผัก ผลไม้ซึ่งเป็นพืชที่อวบน้ำใช้สารเร่งซุปเปอร์พด. 2 ในกระบวนการหมัก ใช้ฉีดพ่นเพื่อเพิ่มฮอร์โมนพืชส่วนในเรื่องของโรคและแมลงก็จะใช้น้ำหมักจากพืชสมุนไพรในการฉีดป้องกันแมลงโดยการลดการใช้สารศัตรูพืชลดการใช้ยาฆ่าแมลงต่างๆ สิ่งที่ได้มาก็เป็นพวกสมุนไพรที่เขาเรียกว่าพืชสมุนไพรที่ใช้ในการหมักเป็นพวกพริก สะเดา ยาสูบ และก็มีหลายชนิดที่สามารถหมักได้ ก็จะมีช่วยในการหมักก็คือสารเร่งซุปเปอร์พด. 7 ในกระบวนการหมักด้วย ทำในเชิงของเกษตรอินทรีย์ที่ครบวงจรลดการใช้สารเคมีสิ่งที่ได้กลับมาก็ถือว่าระบบนิเวศดีขึ้น จากการที่มีวัตถุดิบมีจุลินทรีย์ดินมีธาตุอาหารพืช เกษตรกรที่ทำเขาก็มีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ผลผลิตที่ได้มีมูลค่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทำให้ลดรายจ่ายจากการซื้อสารเคมี

ภายในโครงการ สามารถเข้าชมภายใน โดยสะดวก เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีไร่แปลงสาธิต ฐานการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งมีความมุ่งหวังว่า เกษตรกรและประชาชน จะได้มีนำไปขยายผล ความรู้ในการพัฒนาฟื้นฟูสภาพดิน พัฒนาพื้นที่ของตนเองที่เคยเสื่อมโทรม พลิกฟื้นผืนดินให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน.