ศูนย์ปฏิบัติการจัดการที่ดินชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการจัดการพัฒนาที่ดิน ตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง ซึ่งบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ได้เช่าที่ดินของโครงการฯ พื้นที่ประมาณ 4,794 ไร่ เพื่อใช้ปลูกสับปะรด เป็นเวลาติดต่อกันนาน 20 ปี และขาดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม ทำให้สภาพดินส่วนใหญ่เกิดการเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง กรมพัฒนาที่ดิน จึงเห็นว่าน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่ศึกษาและพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพดิน น้ำ และป่าไม้
หลังจากที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่แล้ว ทำให้ขณะนี้ มีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ยังเป็นแหล่งอาหารให้กับคนในชุมชน ก่อให้เกิดสัตว์น้ำตามธรรมชาติ มีของป่า ที่หล่อเลี้ยงชีวิต สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน บริเวณศูนย์แห่งนี้
นางสาวกฤษณา ทิวาตรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการจัดการที่ดิน ชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาพื้นที่ เราได้ดำเนินการปลูกป่า มีการจัดทำโครงการปลูกป่าควบคู่กับการทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การใช้วิธีกล และการใช้วิธีพืช โดยวิธีกล เป็นการจัดทำคันดิน และทำบ่อดักตะกอนในพื้นที่ และในส่วนวิธีพืชจะมีการใช้หญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยการปลูกพืชตามแนวระดับ มีการปลูกพืชคลุมดิน รวมถึงการปรับปรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุ มีการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และใช้วัสดุคลุมดินในพื้นที่
...
นางสาวณัฐชนัญ ชินปุษยานนท์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กล่าวว่า พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นโซนที่ปลูกป่า ซึ่งมีสะเดาประมาณ 1,000 ไร่ และส่วนของโซนที่เป็นสวนพฤกษศาสตร์ประมาณ 300 ไร่ เน้นเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น พะยูง ประดู่ มะค่า สามารถใช้ประโยชน์ได้ และมีไม้โตเร็วอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีงานทำฐานเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ และฐานเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น บ้านพอเพียง รวมถึงแปลงวิจัยด้วยการใช้ประโยชน์ด้านหญ้าแฝก การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของเรา และก็จะมีงานอื่นๆ เช่น กิจกรรมปลูกป่าร่วมกับปลูกหญ้าแฝก รวมถึงมีนักท่องเที่ยว มีเด็กมาทัศนศึกษาเข้าค่ายพักแรม
นายอภินันท์ นุภาสัน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตนมองว่าชุมชนได้ประโยชน์จากศูนย์แห่งนี้คือ เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และด้านหลังเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสัตว์น้ำ มีปลา กุ้ง หอย มีผักบุ้ง สะเดา ชาวบ้านก็เข้ามาหากินกัน อยู่ภายใต้เงื่อนไขกติกา ซึ่งในช่วงฤดูปลาวางไข่ จะห้ามการใช้พวกแห ตาข่าย จะให้ใช้เบ็ดตกปลาและนำหอย กุ้ง ไปรับประทานได้ ที่สำคัญยังใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นที่เที่ยวเชิงอนุรักษ์ของคนในชุมชนโดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีผู้ที่หยุดจากงานมาพักผ่อน กางเต็นท์ ทำอาหารกินในที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากศูนย์พัฒนาที่ดินนี้มาตลอด.