“ปลัดขิก”...นับเป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลังที่มีความเชื่อศรัทธากันมากว่าเป็นของดีที่มีมาแต่โบราณนานมาแล้ว
“อาณาจักรเครื่องรางของขลัง” เล่ม 2 รองศาสตราจารย์นิพัทธ์ จิตรประสงค์ พณ.บ.เกียรตินิยม “ดีมาก” MBA อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกริ่นกล่าวนำไว้ว่า...
“เครื่องรางของขลังเป็นของที่ครูบาอาจารย์ได้ ทำไว้เพื่อเอาไปใช้โดยเฉพาะ นับตั้งแต่พกติดตัว บูชาอยู่กับบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือร้านค้า ฯลฯ”
สำหรับประเภทติดตัวและคุ้มครองตัว ได้แก่ เบี้ยแก้ ปลัดขิก ตะกรุด ผ้ายันต์ เสือ สิงห์ ลิง หนุมาน หมากทุย ราหูอมจันทร์ ประคำ แหวน
คนในแวดวงเครื่องรางของขลังน่าจะรู้กันดี กล่าวขานกันว่า หากจะนับสุดยอด “เครื่องรางของขลัง” ที่เป็นที่สุด...ความนิยมประดุจดั่งพระเครื่องเบญจภาคี...ใครมีไว้ครอบครอง นั่นหมายถึงสุดยอดแห่งความเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร ไล่เรียงกันไปก็มี “ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ”...วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอาจจะแทนได้ด้วย “ปลัดขิกหลวงพ่ออี๋” วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี
...
ใครมีไว้ครอบครองนั้นขึ้นชื่อลือชาเรื่อง คงกระพัน เมตตา โชคลาภ...
...ทำมาค้าขายดีเยี่ยม ใส่แล้วเหลือกินเหลือใช้แบบไม่ต้องร้องขอแต่ประการใด
อันดับสอง “เขี้ยวเสือ”...หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ อันดับสาม “ลิง”...หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือจะทดแทนด้วย “หนุมาน” หลวง–พ่อสุ่น วัดศาลากุน เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี...“ขุนกระบี่วานรฤทธิไกร หนึ่งในสยาม” ก็พอว่ากันได้
แล้วก็มี “เบี้ยแก้”...หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ใกล้ๆนี่เองจังหวัดนนทบุรี ว่ากันว่าทดแทนกันได้ด้วย “เบี้ยแก้”...หลวงปู่รอด วัดนายโรง ก็ยังไหวเพราะแลกวิชากันกับหลวงปู่บุญ ตบท้ายด้วย “ตะกรุด”...หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จังหวัดนนทบุรี ที่ลือเลื่องในพุทธานุภาพยิ่งนัก
0 0 0 0
ว่ากันด้วยเรื่อง “ปลัดขิกมหาเสน่ห์เมตตา” หล่อจากเนื้อเงิน ท่านอาจารย์เฮง ไพรยวัล พระอาจารย์ผู้ทรงเวทมนตร์แห่งเมืองพระนครศรีอยุธยาผู้สร้าง
เพื่อให้ลูกศิษย์พกติดตัว ป้องกันภัยที่ไม่พึงปรารถนา และ...เป็นเสน่ห์ เมตตาแก่ผู้คน ค้าขายเงินทองคล่องดี...
กล่าวกันว่า ยัง...เป็นเครื่องรางของขลังดีทางสร้างเสน่ห์นิยมต่อเพศตรงข้าม เล่นตลกโปกฮา กันเขี้ยวงา และใช้ทางอยู่ยงคงกระพันมหาอุด
เหตุที่สร้างอย่างเครื่องเพศชาย สืบเนื่องมาจากลัทธิบูชาศิวลึงค์ในศาสนาพราหมณ์และท่านโบราณาจารย์นำเอา “หัวใจโจร” และ “หัวใจ พุทธมนต์” บางอย่างลงไป
“ปลัดขิก”...มีการสร้างกันหลายอาจารย์ แต่ละท่านมีข้อพิจารณาที่แตกต่างกัน อาทิ ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา รอบลำตัว นอกจากจะลงด้วย “กันหะเนนะ” ตัวกันหะใช้ “น” สะกด รอบลำตัวยังลงเพิ่ม “อุมะอุมิ” หรือ “อิติกะริ อิติกะตา” เฉพาะรอบๆ
หน้าประธานลงด้วย “อุ” ถ้าเขียนหวัดๆดูคล้ายเลขสามไทย ส่วนมากลง 3-5 ตัว
ถัดมา “ปลัดขิกหลวงพ่อสี” วัดปากคลองบางครก เพชรบุรี หน้าประธานเขียน “อุขึ้น อุลง” ส่วน...“ปลัดขิกหลวงพ่อบุศ” วัดพรหมวิหาร เพชรบุรี คำว่า “กัณ” ของท่านผันด้วยไม้หันอากาศ นอกจากนี้ยังมี “ปลัดขิกหลวงพ่ออี๋” วัดสัตหีบ ชลบุรี ที่ตัว “กัณ” ใช้ “ณ” สะกด ถ้าตัวใหญ่จะลง “กัณหะ เนนะ” เต็มทั้งสองข้าง
บริเวณต้นคอลงพินทุ หรือตาพระอินทร์เป็นขมวดกลมๆ หน้าประธานลง “อุ” และ “อิ”
สำหรับ “ปลัดขิกอาจารย์เฮง ไพรยวัล วัดสะแก พระนครศรีอยุธยา” นั้น ปลัดขิกตัวขนาดเล็กจะลง “พุทธะ สังมิ” และ “นะชาลิติ” เพียงสองแถว ถ้าเป็นตัวขนาดใหญ่จะลงหลายแถวมี “อุดปิด” หรือ “อะลึงเลิงมิง” ถ้าพิเศษจะลง “นะเทพรำลึก” และ “นะเทพรำจวน”
พระอาจารย์เฮงอาจจะใส่หัวใจบทไหนก็ได้ไม่เป็นที่ยุติ เช่น “นะมะพะทะ” หรือ “หัวใจโจร”...“กันหะเนนะ” หรือลงยันต์ประจำตัวท่าน ส่วนหน้าประธานจะลง “อุณาโลม” จำนวนหลายตัวกำหนดไม่ได้ แล้วแต่พื้นที่หน้าประธานจะอำนวย...มีบางตัวท่านลง “นะอุด” มีสองลักษณะด้วยกัน
...
0 0 0 0
ศรัทธา...ความเชื่อที่มีต่อ “ปลัดขิก” ว่ามีพุทธคุณด้านใดนั้นอาจจะกล่าวได้ขึ้นอยู่กับคาถาที่ลงไว้ อาจจะเป็นด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ ก็ไปในทางค้าๆขายๆ ร่ำรวย เฮงๆ ดึงดูดเพศตรงข้าม...หรืออาจจะเป็นเรื่องคงกระพัน แคล้วคลาด...กันสัตว์ร้ายทำร้ายก็ว่ากันไป
สำหรับ “เจ๊สมัย” มือตำส้มตำมือหนึ่งแห่งร้าน “สมัย ส้มตำปากปลาแดก” หมู่บ้านสหกรณ์ ถนนเสรีไทย กรุงเทพฯ น่าจะมีความเชื่อผูกโยง ไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
ครกไม้ที่ใช้ก็ดูธรรมดาๆ เหมือนครกตำส้มตำทั่วๆไป แต่เมื่อเหลียวไปมอง “สาก” ถ้าไม่สังเกตให้ดีๆก็คงไม่มีใครรู้ว่า เจ๊สมัยใช้ “สากปลัดขิก”
นี่กระมัง...ที่เป็นเหมือนมหาเสน่ห์ ทำให้ลูกค้าต้องมนตร์รสมือส้มตำของเจ๊สมัย...ตำส้มตำออกมาได้เด็ดโดนใจทุกครก พ่อยกแม่ยก ลูกค้าเพียบแน่นจัดเต็มยืนออหน้าร้าน ได้ทุกๆวันไม่เคยขาด
ฝีไม้ลายมือน่ะ คงดีกลมกล่อมอยู่แล้ว ด้วยเจ๊ สมัย เครือมา วันนี้อายุ 58 ปีเข้าไปแล้ว คลุกคลีฝึกประสบการณ์อยู่กับ “สาก” กับ “ครก” ทำหาเลี้ยงชีพด้วยการตำส้มตำขายมาตั้งแต่สมัยวัยแรกรุ่น
...
แต่...เมื่อบวกกับความเชื่อในไสยศาสตร์แบบที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้...ก็ไม่อาจที่จะลบหลู่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเรื่องทำนองอย่างนี้...อย่าไปคิดให้ปวดหัว เอาเป็นว่า “ส้มตำ” เจ๊แกนั้นมี “มนตร์เสน่ห์” มัดให้ลูกค้าติดใจได้ทุกครกก็แล้วกัน
สงสัยใคร่รู้...อยากลองของ (ส้มตำมหาเสน่ห์) คงต้องลองบุกไปพิสูจน์กันด้วยตัวเอง แต่ให้ระวังเอาไว้จะต้องมนตร์โดนฤทธิ์สากส้มตำมหาเสน่ห์เอาเข้าให้ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน
“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.
รัก-ยม