โครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาทำการเกษตรให้มีความยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ก.ค.41 ที่ให้ยกเลิกการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่น้ำจืด และได้ให้กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่ได้รับผลกระทบ โดยดำเนินการฟื้นฟูให้สามารถนำพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ด้านการเพาะปลูกได้อีกครั้ง
นายวิโรจน์ ชูช่วย ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้ดำเนินการโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาตั้งแต่ปี 2543 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 152 ราย พื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาสามารถปลูกพืชได้จำนวน 1,224 ไร่ นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากพี่น้องเกษตรกรอีกหลายรายที่มีความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการฯ สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาครจะเข้าฟื้นฟูบ่อกุ้งร้าง โดยการล้มคันร่องและปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ และทำการขุดยกร่อง เพื่อปลูกพืชให้กับเกษตรกรพร้อมทั้งสนับสนุน พันธุ์พืช วัสดุสำหรับปรับปรุงดิน เช่น ยิปซั่ม เพื่อแก้ปัญหาความเค็มของดิน โดโลไมท์ เพื่อแก้ปัญหาดินกรด ปุ๋ยอินทรีย์สำหรับเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน
...
หลังจากที่มีการฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่แล้ว เกษตรกรใน จ.สมุทรสาครส่วนใหญ่จะปลูกมะพร้าวน้ำหอม เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาผลผลิตขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขายได้ 12-15 บาทต่อลูก ซึ่งในปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมเริ่มให้ผลผลิต 800-900 ลูกต่อเดือน ในพื้นที่ 8 ไร่ ของนายชิ้น ฟูกทรัพย์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2559 นอกจากนี้เกษตรกรยังมีการปลูกพืชเสริมหรือพืชล้มลุกในร่องสวน มีทั้งการปล่อยปลากินพืชในร่องสวนเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งก่อนที่มะพร้าวจะให้ผลผลิต พร้อมทั้งมีการปลูกหญ้าแฝกตามแนวคันร่องเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
นายชิ้น ฟูกทรัพย์ จึงเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการฯ ที่ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งพื้นที่บ่อกุ้งร้างนั้นเดิมมีปัญหาดินเค็มจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อเกษตรกรจะหันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืช ต้องใช้เวลานานและใช้ต้นทุนสูง ซึ่งกว่านายชิ้นจะปรับเปลี่ยนฟื้นฟูมาทำการเกษตรจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้นั้นไม่ง่ายเลย ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ที่ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น ปัจจุบันได้สร้างรายได้ให้นายชิ้นกว่าเดือนละหมื่นบาท นอกจากจะปลูกมะพร้าวที่สามารถสร้างรายได้แล้วนั้น พื้นที่บริเวณยกร่องสวนยังมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้ นายชิ้น ได้รับรางวัลจากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 11 ประเภทพื้นที่เชิงลาดแหล่งน้ำ/ไหลทาง อีกด้วย เป็นรางวัลของเกษตรกรผู้ที่ตั้งใจและมีใจรักในการปลูกหญ้าแฝกที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
"พื้นที่ของนายชิ้นยังเปิดเป็นแปลงสาธิตเพื่อให้เกษตรกรรายอื่นที่ตั้งใจจะปรับเปลี่ยนสามารถเข้ามาเรียนรู้ เยี่ยมชมแปลงสาธิตแห่งนี้ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาครยังคงมุ่งหวังให้เกษตรกรในพื้นที่บ่อกุ้งร่างหันมาปรับเปลี่ยนฟื้นฟูการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ดินของตนเอง และขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จ.สมุทรสาคร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรรายอื่นต่อไป" นายวิโรจน์ กล่าว.