เปิดคำพิพากษา ยกฟ้อง คดีหวย 30 ล้าน 2 เจ๊พยานโจทก์ "บ้าบิ่น-พัช" ให้การขัดแย้ง สับสนเรื่องเวลา วันที่ มีพิรุธ น่าสงสัย ที่สำคัญ พูดย้ำจนทำให้ครูปรีชาคล้อยตาม คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของหวย
วันที่ 4 มิ.ย. ภายหลังศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษา ในคดีที่นายปรีชา ใคร่ครวญ หรือครูปรีชา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.ต.ท.จรูญ วิมูล หรือหมวดจรูญ ฐานยักยอกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 หมายเลข 534726 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย.60 ได้เงินรางวัลจำนวน 30 ล้าน โดยพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้คัดย่อคำพิพากษาในคดีนี้ ใจความว่า
"คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัย ว่า สลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลที่ 1 เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ทำหาย อันเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก สำหรับความผิดตามฟ้องหรือไม่
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐาน เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ คงมีเพียงพยานบุคคลที่อ้างว่า เป็นประจักษ์พยาน มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการซื้อขายเท่านั้น แต่ไม่มีพยานหลักฐานอื่น มาสนับสนุนคำเบิกความของพยานบุคคล อีกทั้งคำเบิกความของพยานดังกล่าวก็มีพิรุธ และขัดแย้งกันเองหลายประการ ทั้งเรื่องความสามารถของพยานแต่ละคนในการจดจำเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล การโทรศัพท์ติดต่อไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาล ระหว่างโจทก์กับนางสาวรัตนาพร การแจ้งความหลังทราบผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล และที่สำคัญ การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของโจทก์ในในวันที่ 31 ตุลาคม 2560
...
เมื่อพิจารณาประกอบ กับพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่จำเลยนำสืบหักล้างแล้ว ข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จากนางสาวรัตนาพร ที่ตลาด เรด ซิตี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 แต่โจทก์กลับใช้วิธีนำสืบ โดยหยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 มากล่าวอ้างว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 31ตุลาคม 2660 เมื่อปรากฏว่า สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ถูกรางวัลที่ 1 ยังวางขายอยู่บนแผงสลากกินแบ่งรัฐบาล ของนางสาวพัชริดา ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 แต่โจทก์ไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 แสดงว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ซื้อไปจาก นางสาวรัตนาพร ไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นางสาวรัตนาพร เห็นภาพถ่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล บนแผงขายของนางสาวพัชริดา ซึ่งนางสาวพัชริดาถ่ายรูปไว้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ปรากฏภาพสลากกินแบ่งรัฐบาล หมายเลข 534726 อยู่บนแผง นางสาวรัตนาพรจึงคิดว่าตนเองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวไปจากนางสาวพัชริดา แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ นางสาวรัตนาพร จึงไปบอกโจทก์ ว่าถูกรางวัลที่หนึ่ง ในครั้งแรกโจทก์ยืนยันว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ มีเลขสามตัวหลัง ตรงกับรางวัลที่หนึ่ง แต่เมื่อนางสาวรัตนาพร พูดย้ำหลายครั้งว่า โจทก์ถูกรางวัลที่หนึ่ง ทำให้โจทก์เริ่มลังเล จนในที่สุดก็เชื่อตามไปด้วยอีกคนว่า ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ถูกรางวัลที่หนึ่งจริงตามที่นางสาวรัตนาพร บอก แม้ว่าขณะนั้น โจทก์จะไม่มีสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งอยู่ในครอบครอง จนกลายเป็นที่มาของการไปแจ้งความว่า โจทก์ทำสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่หนึ่งตกหาย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว โจทก์ไม่มีสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวอยู่ตั้งแต่แรก
เมื่อคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบ ให้ได้ความว่า มีการกระทำความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นจริง แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ล้วนมีพิรุธ น่าสงสัย และขัดแย้งกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ หลายประการที่กล่าวมา
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากนางสาวรัตนาพร สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่จำเลยนำไปขอรับเงินรางวัล ไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ ไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง