ชาวสวนทับสะแกโวย ภาครัฐล่าช้าเก็บข้อมูลดีเอ็นเอมะพร้าวไม่เสร็จ ไม่สามารถตรวจสอบมะพร้าวเถื่อนลักลอบนำเข้าได้ โรงงานเลี่ยงนำเข้ากะทิเข้มข้นแทน ราคาผลผลิตไม่ดีขึ้น
จากกรณีราคาผลผลิตมะพร้าวผลในประเทศไทยราคาตกต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งช่วงต้นปี 2562 ราคามะพร้าวผลอยู่ที่ลูกละ 5 บาท ปัจจุบันราคาดีดตัวขึ้นผลละ 9-10 บาท จากสภาพผลผลิตในพื้นที่ขาดตามฤดูกาล ทั้งที่ควรเพิ่มถึง 12 บาท แต่เนื่องจากยังคงมีมะพร้าวนำเข้ากว่า 40 ล้านลูก มาในรูปของกะทิเข้มข้นสูง จี้ภาครัฐจัดเก็บดีเอ็นเอ เพื่อใช้ในการตรวจสอบแหล่งกำเนิด ป้องกันการลักลอบนำเข้า
นายวัชรา อรุณเมธี อายุ 66 ปี ประธานแปลงใหญ่ ต.เขาล้าน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แปลงสวนมะพร้าวอินทรีย์มีสมาชิก 105 ราย จำนวน 1,503 ไร่ กล่าวว่า ปัญหามะพร้าวราคาตกยังไม่เบาบาง การนำเข้าไม่สามารถควบคุมได้ ทางกลุ่มได้เสนอให้มีการกำหนดแหล่งกำเนิดหรือเก็บรวบรวมสารพันธุกรรม เพื่อดูอัตลักษณ์ของมะพร้าวพื้นถิ่นใน อ.ทับสะแก หรือมะพร้าวในประเทศไทยทั้งหมด เนื่องจากกรมศุลกากรไม่สามารถตรวจสอบมะพร้าวนำเข้า ว่าเป็นมะพร้าวในประเทศจริงหรือไม่ ประกอบกับปัจจุบัน ยังคงมีมะพร้าวจากอินโดนีเซียลักลอบนำเข้าอยู่ปริมาณมาก การดำเนินการของภาครัฐยังล่าช้า ส่งผลกระทบต่ออาชีพชาวสวนมะพร้าว ต้องการให้มีการรับซื้อมะพร้าวในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน
นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวทับสะแก กล่าวว่า การนำมะพร้าวบรรจุถุงตาข่ายเข้ามาในพื้นที่อำเภอทับสะแก เป็นระยะ ๆ โดยอ้างว่าเป็นมะพร้าวจากปัตตานี รวมทั้งการตรวจสอบมะพร้าวเถื่อนนำเข้า ไม่สามารถแยกแยะได้จริง แต่ได้นำเข้าปลอมปน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเสียคุณภาพ และเสียชื่อทางการค้ามะพร้าวทับสะแกและมะพร้าวไทยมาโดยตลอด การพิสูจน์ทำได้ยากมาก เพราะไม่สามารถแยกแยะด้วยตาเปล่าได้ เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวทับสะแก มีความเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องมีการจำทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอ (DNA) หรือสารพันธุกรรม ที่ง่ายต่อความสามารถตราวจสอบจากลูกมะพร้าวได้
...
“ปัจจุบันราคามะพร้าวตกผลละ 9-10 บาท จากเมื่อเดือนที่แล้วอยู่ที่ 5 บาท เนื่องจากเป็นช่วงมะพร้าวขาดคอ หรือผลผลิตลดน้อยลงตามฤดูกาล แต่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่ชาวบ้านอยู่ได้ ควรมีราคาที่ 12 บาท และการนำเข้ากะทิจากต่างประเทศเป็นการเลี่ยงการนำเข้าผลมะพร้าว แต่มีผลกระทบไม่ต่างกัน ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการนำเข้ากะทิหากเทียบเป็นผลมะพร้าวแล้วเท่ากับ 40 ล้านลูก จึงเป็นสาเหตุที่ราคามะพร้าวในประเทศไม่สูงขึ้นตามกลไกตลาด”