การค้นพบผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ในบ้านเราเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายครา ล่าสุดปลายปีที่แล้ว รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ค้นพบผีเสื้อสกุลใหม่มีการแพร่กระจายเฉพาะในป่าเต็งรัง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ วงศ์ย่อย Olethreutinae เผ่า Enarmoniini ปีกแผ่กว้างเพียง 1.3-1.5 ซม. มีปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อนขอบปีกด้านบนมีขีดเล็กๆสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก เรียงกันเป็นระเบียบ ส่วนปีกคู่หลังมีสีขาวบริเวณมุมปลายปีกกลายเป็นสีเหลืองอ่อน
ที่โดดเด่นไม่มีผีเสื้อชนิดใดเหมือนเลย ตรงปีกมีแถบสีเหลืองทองแวววาววับ พาดตามขวางของปีกจำนวน 3 แถบ เมื่อใช้ไฟฉายส่องที่ปีก จะสามารถสะท้อนแสงกลับมาให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้จะมีขนาดเล็กแค่ไม่เกิน 2 ซม.ก็ตาม
เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะเหมือนกันจนแยกไม่ออก แต่เมื่อนำไปสแกนด้วยกล้องขยายพบว่า มีลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในร่างกายเท่านั้นที่แตกต่างกัน
ดร.นันทศักดิ์ ได้ตั้งชื่อผีเสื้อชนิดใหม่นี้ว่า “สกุลผีเสื้อกลางคืนเกษตรศาสตร์ (genus Kasetsartra)” เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ZOOTAXA 4532 (1) : 95-103 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2561 โดยตัวอย่างต้นแบบของผีเสื้อพันธุ์นี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์แมลงสุธรรม อารีกุล ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม.