กรมอุทยานฯ และทีมสัตว์แพทย์ เคลื่อนย้ายลูกช้างที่ถูกเหยียบจนได้รับบาดเจ็บจากช้างเพศผู้ที่ต่อสู้แย่งเพศเมีย ไปรักษาตัวที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีแล้ว คาดใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน สำหรับล่าสุดช้างยังมีอาการบาดเจ็บที่สะโพกและขาหลังด้านขวา 

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.61 ความคืบหน้ากรณีลูกช้างป่าอายุประมาณ 5-6 ปี ถูกช้างเพศผู้เหยียบระหว่างการต่อสู้แย่งเพศเมียในช่วงฤดูผสมพันธ์ ซึ่งเป็นช้างโขลงใหญ่จำนวน 18 ตัว ทำให้ได้รับบาดเจ็บบริเวณขาหลังขวา ล้มลงนอนตะแคงอยู่บริเวณร่องเขา หมู่ 6 ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ใกล้กับชายแดนไทย-เมียนมา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ช่วงบ่ายวันนี้หลังจากความพยายามช่วยลูกช้างป่าผ่านไปกว่า 60 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงตั้งชื่อว่าลูกช้างป่าว่า "น้องวิงวอน" และทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมเคลื่อนย้าย น้องวิงวอน ไปรักษาตัวต่อที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ แทนสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตามที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากกว่าเพราะมีสภาพเป็นป่าใกล้เคียงกับจุดหากินเดิมของลูกช้าง

ย้ายลูกช้างเข้ารักษาตัว รพ.สนาม อช.กุยบุรี คาดใช้เวลา 3 เดือน

...

ซึ่งทีมปฏิบัติการเคลื่อนย้าย น้องวิงวอน ลูกช้างป่า นำโดย นายสวัสดิ์ ทวีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี , นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมด้วย สัตวแพทย์หญิงสุนิตา วิงวอน นายสัตวแพทย์ประจำกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สัตวแพทย์หญิงกชพร พิมพ์สิน นายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทีมสัตวบาล ร่วมกันวางแผนในการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าให้ปลอดภัยมากที่สุด โดยมี พ.ต.ท.วิศรุต สุขแท้ ผบ.ร้อย ตชด. ที่.145 ร.ต.อ.สมชาย บุญจริง หัวหน้าชุด ชปข.ร้อย ตชด. ที่.145 พ.อ.เฉลิมพล สังข์ต้อง รอง ผบ.ฉก.จงอางศึก กองกำลังสุรีห์ ทหารปฏิบัติการบ้านแพรกตะคร้อ หมวด รว.1 พ.ต.ท.เสกสิทธิ์ จันทร รอง ผกก.ป.สภ.ปราณบุรี ร.ต.อ.เอกพจน์ ทิมทอง รองสารวัตร(สอบสวน)สภ.ปราณบุรี และนายเพชรพร โกมลฤทธิ์ กำนัน ต.เขาจ้าว ร่วมภาระกิจเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าในครั้งนี้ด้วย

สำหรับปฎิบัติการในครั้งนี้ เริ่มจากทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และชาวบ้านเขาจ้าวได้ช่วยกันปรับพื้นที่ เพื่อให้รถบรรทุกหกล้อสำหรับบรรทุกลูกช้างเข้าถึงได้ใกล้มากที่สุด และรอให้อากาศเย็นลงในช่วงบ่าย จากนั้นทีมสัตวแพทย์กรมอุทยาน ได้ทำการตรวจสุขภาพลูกช้างป่าเป็นลำดับแรก พร้อมฉีดยาบำรุงและให้น้ำเกลือเพื่อให้ลูกช้างมีแรง พร้อมทยอยป้อนสับปะรดและหญ้าเสริมให้กับลูกช้างด้วย

ย้ายลูกช้างเข้ารักษาตัว รพ.สนาม อช.กุยบุรี คาดใช้เวลา 3 เดือน

จากนั้นสัตวแพทย์ฉีดยาซึม เพื่อลดอาการเครียดและตื่นตระหนกของลูกช้างป่า เพื่อไม่ให้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม ขณะเคลื่อนย้ายไปยังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้เวลากว่าที่ยาจะออกฤทธิ์ราว 20 นาที จากนั้นจึงนำเชือกร้อยตัวลูกช้างเพื่อช่วยพยุงตัว ซึ่งขั้นตอนนี้มีความยุ่งยากในการคล้องเชือกช่วยพยุงกว่า 1 ชั่วโมง เพราะลูกช้างป่ามีน้ำหนักมากเกือบ 2 ตัน และยังบาดเจ็บ ต้องระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม และอาจอุบัติเหตุซ้ำซ้อนระหว่างยกลูกช้างขึ้นรถ การดำเนินการจึงต้องมีความละเอียดรอบคอบสูงสุด

และเมื่อนำลูกช้างขึ้นบนรถบรรทุกหกล้อได้สำเร็จแล้ว จึงเคลื่อนย้ายไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่ได้เตรียมสถานที่ไว้ให้เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว สำหรับรักษาอาการบาดเจ็บที่สะโพกและขาหลังด้านขวา ที่คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาในการรักษาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ระหว่างเดินทางเคลื่อนย้ายต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง โดยมีทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คอยดูแลลูกช้างบนรถเคลื่อนย้ายจนถึงปลายทาง.

ย้ายลูกช้างเข้ารักษาตัว รพ.สนาม อช.กุยบุรี คาดใช้เวลา 3 เดือน