นักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ เร่งศึกษาชีวิตหอยเม่นทะเล หาลู่ทางให้เกษตรกร เพาะเลี้ยงสายพันธุ์ที่บริโภคได้หวังในอนาคตเป็นสัตว์เศรษฐกิจ...

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2561 นายศุภกานต์ ชัยโชติรานันท์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ศูนย์วิจัยนำหอยเม่นมาศึกษาด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ เม่นดำขนยาว เม่นดำขนสั้น เม่นแต่งตัว และเม่นแต่งตัวเขียว ขณะนี้ สามารถเพาะพันธุ์เม่นดำขนยาวได้สำเร็จ เพื่อใช้เป็นแนวทางศึกษาในการเพาะพันธุ์เม่นสายพันธุ์อื่นที่สามารถบริโภคได้

ขั้นตอนการเพาะพันธุ์แม่พันธุ์เม่นได้ปล่อยไข่ออกมาจำนวน 1 ล้านฟอง เมื่อเลี้ยงเป็นตัวอ่อนอายุได้ 5 เดือน เหลือรอด 980 ตัว ซึ่งเป็นภาวะปกติตามธรรมชาติ ที่สัตว์น้ำเมื่อเกิดลูกปริมาณมาก มักมีอัตราการรอดน้อยเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถรอดจนเติบโตเป็นตัวโตเต็มวัย พร้อมเจริญพันธุ์และขยายพันธุ์มีประชากรเม่นเพิ่มในธรรมชาติได้

ขณะที่ในการศึกษาเพาะพันธุ์และอนุบาลกระทั่งเจริญเติบโตแข็งแรง มีความยุ่งยากในการอนุบาลดูแลตัวอ่อน เพราะเม่นมีหนามยาว และหนามของเม่นแต่ละตัวเกี่ยวพันกันกระทั่งร่วงลงก้นบ่อ จึงต้องเลี้ยงในพื้นที่ที่มีขนาดเหมาะสมและไม่หนาแน่น

...

ขณะที่ การบริโภคไข่เม่นที่ได้รับความนิยม คือ เม่นสายพันธุ์ญี่ปุ่น ซึ่งมีการบริโภคมากในประเทศญี่ปุ่น และที่ประเทศเวียดนาม ส่วนประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยม ทราบข้อมูลว่า มีชาวบ้านบางส่วน และชาวประมงที่เกาะสมุยบริโภคเม่นดำขนยาว ทั้งนี้ ต้องมีการศึกษาตามหลักวิชาการให้ได้ข้อมูลแน่ชัดว่าเม่นสายพันธุ์ไหนบริโภคได้ปลอดภัย จึงจะพัฒนาต่อยอดเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และส่งเสริมเกษตรกรเพาะเลี้ยงได้.