รวมกลุ่มแปลงใหญ่ประมงคงความเป็น "ปลาสลิดบางบ่อ" มุ่งสร้างความเข้มแข็งเกษตรกร เพื่อพัฒนาผลผลิตสู่มาตรฐานสากล ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต หนุนหาช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่าย

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.61 นางจรีภรณ์ มีศรี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า หากพูดถึงปลาสลิดที่ขึ้นชื่อหลายคนจะต้องนึกถึง "ปลาสลิดบางบ่อ" มาเป็นอันดับแรก เนื่องจากปลาสลิดบางบ่อเป็นปลาตากแห้งที่มีรสชาติอร่อย เนื้อปลาหวานไม่มีกลิ่นโคลน ขนาดปลามีความพอดีเหมาะแก่การรับประทาน ทำให้ผู้ที่มีโอกาสมาถึงจังหวัดสมุทรปราการ จะต้องหาซื้อกลับไปรับประทานหรือซื้อไปเป็นของฝากอย่างแน่นอน ทำให้ปลาสลิดบางบ่อเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

นางจรีภรณ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงปลาสลิดของอำเภอบางบ่อมีจำนวนลดลง เนื่องจากความเจริญทางสังคมและอุตสาหกรรมที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีคุณภาพลดจำนวนลง ซึ่งปลาสลิดเป็นปลาที่จะต้องอาศัยน้ำจืดและระบบนิเวศที่มีคุณภาพในการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีเกษตรกรเลี้ยงปลาสลิดบางบ่อลดน้อยลง แต่ยังคงมีกลุ่มเกษตรกรบางส่วนที่ยังคงยึดอาชีพเลี้ยงปลาสลิดเพื่อนำมาแปรรูปตากแห้งขาย และยังคงเลี้ยงตามวิถีชาวบ้านดั้งเดิม เพื่อคงความเป็นปลาสลิดบางบ่อแท้ๆไม่ให้กลายพันธุ์ กรมประมงได้เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มอนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อ ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านประมง ในปี 2561 เรียกได้ว่าเป็นแปลงใหญ่ปลาสลิดนำร่องแปลงเดียวของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดบางบ่อ ให้สามารถพัฒนาศักยภาพของผลผลิตสู่มาตรฐานสากล และช่วยอนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อซึ่งเป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นให้คงอยู่ในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้หัวใจหลักของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านประมง คือ การลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตและต้องพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP รวมถึงการหาช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า โดยกรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ส่งเสริมองค์ความรู้ ทั้งในเรื่องการนำเทคโนโลยีและวิธีการเลี้ยงไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร และทำการเชื่อมโยงช่องทางการตลาดด้วยการทำ MOU กับบริษัท The Mall Group เพื่อเป็นการกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแปรรูปสู่ตลาด Modern Trade 

...

สำหรับการเลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จะสามารถพบเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 30 ราย รวมพื้นที่ 889 ไร่ ซึ่งต้นกำเนิดการเลี้ยงปลาสลิดนั้น มาจากเกษตรกรในอำเภอบางบ่อ ที่ทดลองปรับเปลี่ยนที่นามาเลี้ยงปลาสลิด โดยปรากฏว่าได้ผลผลิตและผลตอบแทนที่มากกว่าการทำนา เกษตรกรจึงเปลี่ยนจากการทำนามาเลี้ยงปลาสลิดเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว โดยรูปแบบการเลี้ยงปลาสลิดของเกษตรกรที่นี่ คือ การเลี้ยงในบ่อดินโดยใช้หลักการเลี้ยงแบบธรรมชาติส่วนใหญ่ ใช้วิธีการฟันหญ้ารอบบ่อซึ่งเป็นหญ้าประจำถิ่นลงในบ่อเพื่อหมักให้เกิดเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ใช้เป็นอาหารธรรมชาติ สำหรับเลี้ยงปลาสลิด โดยบางครั้งอาจมีการนำหญ้าเนเปียร์มาให้เป็นอาหารเสริมเลี้ยงปลาสลิด ด้วยวิธีดังกล่าวนี้จะเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์น้ำลงได้มาก อีกทั้งในเรื่องอัตราการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกลุ่มอนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อจะเน้นในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบไม่หนาแน่น โดยจะคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาสลิดที่มีความสมบูรณ์ ปล่อยลงในบ่อจำนวน 50-100 กิโลกรัม/บ่อ ให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ เพื่อจะได้ผลผลิตในขนาดที่เท่าๆกัน และง่ายต่อการดูแลมากยิ่งขึ้น

นายปรีชา สมานมิตร ประธานแปลงใหญ่ทั่วไปปลาสลิด อำเภอบางบ่อ ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆที่ประสบความสำเร็จ จากการเลี้ยงปลาสลิดแบบธรรมชาติตามวิถีชีวิตของชาวบางบ่อโดยแท้จริง เล่าว่า "ลักษณะการเลี้ยงปลาสลิดของสมุทรปราการ จะเลี้ยงแบบธรรมชาติใช้เวลาอย่างน้อย 10-12 เดือน ได้ผลผลิตประมาณ 7-10 ตัวต่อกิโลกรัม จากเมื่อก่อนถ้าเลี้ยงแบบเชิงธรรมชาติอย่างเดียว ผลผลิตที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าต้องการให้ได้ผลผลิต 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ จะต้องให้อาหารเสริมแก่ปลาสลิดโดยเฉพาะ 2 เดือน ก่อนจับผลผลิตเพื่อเป็นการลดต้นทุนและทำให้ปลาได้ขนาดตามที่ต้องการ ถ้าพูดถึงต้นทุนของผมนะ ต้นทุนผมน้อยมาก อย่างผมทำ 60 ไร่ ผมใช้ต้นทุนไม่เกิน 50,000 บาท อาหารแทบไม่ต้องจ่ายเลย"

จุดเด่นของกลุ่มอนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ มีผู้นำอย่าง นายปรีชา สมานมิตร ที่มีความเข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รวมถึงมีความเสียสละพื้นที่ส่วนตัวเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อและขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคตในการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ คือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงและแปรรูปปลาสลิดได้เอง โดยไม่ต้องรอพ่อค้าแม่ค้าคนกลางมาซื้อแล้วไปแปรรูปจำหน่าย ซึ่งหากทำได้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรก็จะสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว

นายปรีชา เล่าต่อว่า "การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ตอนนี้เรามาดูว่า มีวิธีการที่จะทำยังไงเพื่อต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้ ทางกลุ่มจะต้องสร้างรูปแบบของการเลี้ยงเพื่อให้ผลผลิตออกมาไม่ตรงกัน จะได้ไม่ประสบปัญหาปลาสลิดล้นตลาด ในอนาคตมองไว้ว่าจะทำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเองเลย แล้วในตัวบรรจุภัณฑ์ก็จะให้มีเรื่องราวบอกว่าปลาสลิดนี้มาจากที่ไหน แล้วก็ได้การรับรองจากกรมประมง"

...

นายปรีชา สมานมิตร ประธานแปลงใหญ่ทั่วไปปลาสลิด อำเภอบางบ่อ ยังบอกทิ้งท้ายถึงวิธีการดูปลาสลิดบางบ่อแท้ว่า "สังเกตอย่างแรกก็คือตัวจะต้องเป็นสีดำ แล้วอีกอย่างถ้าจับตัวปลาดูจะรู้เลย เพราะเนื้อจะแน่น ถึงแม้ว่าแปรรูปแดดเดียวแล้วเนื้อก็ยังแน่นอยู่ และจะมีสีชมพูไรๆแทรกเข้าไปในเนื้อ เพราะปลาสลิดบางบ่อแท้จะเลี้ยงแบบธรรมชาติ จะแตกต่างจากปลาสลิดที่เลี้ยงด้วยหัวอาหาร เพราะตัวจะนิ่ม แล้วสีก็จะซีดๆขาวๆและสิ่งที่กำหนดว่าปลาสลิดบางบ่อแท้ก็คือพื้นที่เลี้ยง ทั้งดิน น้ำ และหญ้าในท้องถิ่น ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนที่ทำให้ปลาสลิดบางบ่อมีรสชาติดีไม่เหมือนใคร"

จากการเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ของเกษตรกรกลุ่มอนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อ ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แม้จะเพิ่งเริ่มต้นทำโครงการฯ ในปี 2561 แต่ก็เห็นได้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิด สามารถพัฒนาศักยภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐานสากล รวมถึงเป็นการอนุรักษ์ปลาสลิดบางบ่อ สัตว์น้ำเศรษฐกิจให้คงอยู่คู่กับจังหวัดสมุทรปราการต่อไป