“การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง” เกษตรต้นแบบ (แปลงใหญ่) อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นตัวอย่างสะท้อนความสำเร็จ “เกษตรไทยยุค 4.0” ที่น่านำไปเป็นตัวอย่าง

อมรินทร์ อุดมวงษ์วัน เกษตรกรเจ้าขององค์ความรู้ ชาวบ้านหมู่ 3 ตำบลศีรษะกระบือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ช่วยพ่อแม่ทำนาเรียนรู้การทำนามาตั้งแต่เด็กแล้ว

หลังจากแต่งงานก็ยังประกอบอาชีพทำนาเช่นเดิม โดยนำความรู้ที่ได้สะสมมาและความช่างสังเกตมาพัฒนาวิธีการทำนาของตนเองบนพื้นที่ 40 ไร่ อมรินทร์ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกก็ปลูกข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก โดยปลูกข้าวนาปี เช่น พันธุ์พื้นเมือง ข้าวเหลือง แต่เจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จึงคิดเริ่มปลูกพันธุ์ข้าวปลูก

“ทำใช้เองและขายให้กับเกษตรกรในหมู่บ้าน เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพ ปราศจากพันธุ์ปน ทำให้มีพ่อค้าในพื้นที่เข้ามาติดต่อให้ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งขายให้กับทางร้าน”

ด้วยความรู้บวกกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทำให้สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับเกษตรกรรายอื่นๆได้ เป็น “เกษตรต้นแบบ” หรือ “จุดเรียนรู้” ให้กับชาวนาในชุมชน และมีผู้สนใจมาศึกษาดูงานอยู่เสมอ

...

องค์ความรู้ในการประกอบอาชีพและงานที่ภาคภูมิใจคือ...เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง รายละเอียดในการปฏิบัติคร่าวๆ เริ่มจาก...การเตรียมดินปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปอเทือง ถั่วเขียว เพื่อบำรุงดิน อัตราเมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัมต่อไร่ และมีการไถกลบตอซังก่อนการเพาะปลูกข้าว เป็นการจัดการที่ดีและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

ปรับพื้นที่นาให้ราบเรียบสม่ำเสมอ...ตีเทือก 1 ครั้ง ทิ้งไว้ 2 วัน ทุบเทือก เพื่อเตรียมการหว่านโดยใช้กระดานลูบให้หน้าดินเรียบ และทำร่องระบายน้ำบนพื้นที่นา 40 ไร่...ทำการติดตั้งท่อดูน้ำโดยการใช้ท่อพีวีซี เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 25 เซนติเมตร เจาะรูด้วยสว่านเส้นผ่าศูนย์กลางหุนครึ่งถึงสองหุน 4-5 แถวรอบๆท่อ

แต่ละรูให้ห่างกัน 5 เซนติเมตร...การติดตั้ง “ท่อดูน้ำ” ให้ติดตั้ง 4 มุมรอบแปลง โดยฝังลึกประมาณ 20 เซนติเมตร สำหรับพันธุ์ข้าวที่ใช้จะเป็นพันธุ์ กข 57, พันธุ์พิษณุโลก 2 ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 18 กิโลกรัมต่อไร่

แล้วก็มาถึงเคล็ดไม่ลับแต่ทำแล้วดี...ขั้นตอนการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง หลังหว่านเมล็ดพันธุ์ 2-3 วัน ฉีดพ่นสารเคมีประเภทคุมเลน (บิว–ทาคลอร์) เพื่อควบคุมก่อนวัชพืชงอก...หลังหว่านแล้วประมาณ 20 วันถ้าระดับน้ำในท่ออยู่ต่ำกว่าประมาณ 10 เซนติเมตร ให้นำน้ำเข้าแปลงนาจนท่วมปากท่อ

หมั่นสังเกตระดับน้ำในท่อทุก 5 วัน...ใส่ปุ๋ยครั้งแรก ข้าวอายุ 20-25 วัน พร้อมทั้งปล่อยน้ำเข้านาโดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-8-8 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากใส่ปุ๋ยให้รักษาระดับน้ำให้ท่วมผิวดิน ปล่อยให้น้ำลดลงและแห้งตามธรรมชาติ และหมั่นตรวจสอบระดับน้ำในท่อ...ถ้าระดับน้ำต่ำกว่า 10 เซนติเมตร ให้นำน้ำเข้าแปลงนาและให้ท่วมปากท่อ ขังน้ำไว้จนกระทั่งน้ำแห้งแบบนี้จนกระทั่งข้าวเริ่มตั้งท้อง

ระยะข้าวเริ่มตั้งท้อง (45-50 วัน) ใส่ปุ๋ยสูตร 16-8-8 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ขังน้ำไว้จนกระทั่งข้าวออกรวง ระยะนี้ข้าวจะขาดน้ำไม่ได้ ให้รักษาระดับน้ำในแปลงนาให้สูงกว่าปากท่อดูน้ำ พอข้าวโพล่งรวงเริ่มก้ม (อายุประมาณ 100 วัน) ปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติ เพื่อเตรียมการเก็บเกี่ยวต่อไป

ข้างต้นไม่ใช่การทำนาสูตรสำเร็จแบบฉีกซองปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากแต่เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์วิธีการทำนาให้สอดคล้องกับพื้นที่นาของตนเองได้ แนวคิดสำคัญ “เกษตรกรยุคใหม่” ต้องหาความรู้และเทคนิคการทำนาใหม่ๆอยู่เสมอ วิเคราะห์...วางแผนงานก่อนที่จะลงมือปฏิบัติบวกกับประยุกต์การใช้เทคโนโลยี

...

ถ่ายทอดให้กับผู้อื่นเพื่อให้ได้ผลสำเร็จร่วมกัน...เรียนรู้ จดจำ ทำตาม นำมาประยุกต์...การลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ...พัฒนาดินให้ดี ถือเป็นพื้นฐานของการเกษตรที่ดี...ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรเท่าที่จำเป็น...หมั่นลงสำรวจแปลงนาอยู่เสมอ ดูแลอย่างใกล้ชิด...

“เดินบนคันนาบ่อยๆ เงาทับต้นข้าว ต้นข้าวก็ดีใจแล้ว”

ข้างต้นเป็นตัวอย่างเกษตรต้นแบบแปลงใหญ่ที่หลายคนคงพอจะได้ยินมาบ้าง ในวันนี้เกษตรกรไม่น้อยน่าจะอยากใคร่รู้ต่อไปว่า...หากจะเข้าร่วมหรือทำ “เกษตรแปลงใหญ่” นั้นจะเริ่มจากไหน? อย่างไรกันดี?

คำตอบจาก สำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คนที่ 2 บอกว่า หลักคิดของเกษตรแปลงใหญ่ให้เกษตรกรบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยในการที่จะลงทุนเรื่องเทคโนโลยีให้คุ้มค่าเป็นไปได้ยาก จะซื้อรถไถ เครื่องจักร ต้องซื้อคนเดียวใช้อยู่คนเดียวก็ไม่คุ้ม จะบริหารจัดการ ทำตลาด ให้ผลผลิตได้ปริมาณ มีคุณภาพ มีอำนาจต่อรองกับตลาดก็ไม่มี...ก็เลยเป็นที่มาของเกษตรแปลงใหญ่

ที่ว่า...จะทำอย่างไรให้ “เกษตรกรรายย่อย” มารวมกลุ่มกัน เพื่อบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การผลิต มานั่งวิเคราะห์กันว่าตัวเองผลิตอยู่อย่างไร ใช้เทคโนโลยีอะไร สภาพการผลิต ผลผลิต ปัญหา...แล้วมาวางแผนนั่งคุยกัน แล้วตลาดเป็นแบบไหน ปริมาณเท่าไหร่ ช่วงไหน แล้วก็ใช้แนวทางการตลาดนำการผลิต

...

“เราต้องผลิตให้สนองความต้องการตลาด เพราะเราผลิตเพื่อขาย”

หรือ...ถ้าในกรณีที่ผลิตเพื่อบริโภคเองก็ว่ากันไป แต่ที่กล่าวถึงก็คือผลิตเพื่อการค้า มีรายได้มาดำรงชีวิต แล้วก็เอาการตลาด ข้อมูลส่วนตัวมาวางแผนร่วมกัน ถ้ากลุ่มมีการบริหารจัดการได้ตรงความต้องการตลาด

ตัวอย่างสมมติเกษตรแปลงใหญ่ “ผัก” คุยกับท็อปฯบอกต้องการผักชนิดนี้ช่วงนี้กี่กิโลกรัม คุณภาพเป็นแบบไหนก็ต้องย้อนกลับมายังสมาชิกมาร่วมกันวางแผนการผลิตเพราะว่าบางเดือนอาจจะต้องผลิตคะน้า...บางเดือนเป็นผักบุ้ง แล้วจะบริหารจัดการอย่างไรให้ผลิตแล้วไม่ล้นตลาด แถมยังต้องตรงกับความต้องการด้วย

นั่นคือกระบวนการสำคัญ...ต้องวางเป้าหมายอย่างน้อย 5 ด้าน ในเรื่องของการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพให้ได้ตามความต้องการของตลาด มองในแง่การบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็งให้ได้ พัฒนาควบคู่กันไปด้วย อีกทั้งยังต้องมองความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ จะพัฒนาเพื่อสนองความต้องการได้อย่างไร

คำถามสำคัญมีว่า...หัวใจจริงๆของ “เกษตรแปลงใหญ่” คืออะไร?

คำตอบก็คือกระบวนการกลุ่ม การที่เราจะไปถึง 5 ด้านข้างต้นที่ต้องไปด้วยกันและไปได้อย่างที่ว่านั้นจะต้องพัฒนาคนให้มีวิธีคิดที่จะทำงานไปด้วยกัน วางแผน คิดว่าต้องเปลี่ยนการตลาดนำการผลิตเป็นอย่างไร

“ถ้าคิดแบบเดิม ทำไปผลผลิตออกมาไม่รู้จะขายใครเลย ก็จะแย่ แต่เกษตรแปลงใหญ่ทำเพื่อตลาด ตลาดต้องการอะไรก็ผลิตให้ตรงกับความต้องการ ทำเพื่อขาย ทำเพื่อเอารายได้มาดำรงชีวิต”

พัฒนากลุ่ม...พัฒนาคนให้มีความคิดที่เข้มแข็งให้สำเร็จก่อน ส่วนราชการก็เข้าไปเสริมเติมเต็มในเรื่องการกระตุ้น...ให้แต่ดั้งเดิมที่เกษตรกรทำเดี่ยวๆอยู่นั้น ต้องมารวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มกันบริหารจัดการ

...

“เกษตรกรเข้ามาได้หลายทาง กลุ่มไหนมีความพร้อมมากก็จะรวมกลุ่มกันผลิตแล้วก็ขอรับรองแปลงได้โดยการเข้ามาแจ้งหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ ก็จะมีกระบวนการรับรองไปตามขั้นตามตอน” สำราญ ว่า

“ส่วนหนึ่งกระทรวงเกษตรฯเองทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรอยู่แล้ว ก็สนับสนุนเพื่อให้รวมกันผลิตเป็นแปลงใหญ่...เป็นอีกที่มาหนึ่ง เป็นปกติที่ทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกรอยู่แล้ว”

“เกษตรไทยยุคไทยแลนด์ 4.0” ต้องเดินหน้า...ตัดวัฏจักรยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้สิน “เกษตรกรยุค 4.0”...ต้องลืมตาอ้าปากได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก.