นักศึกษา ประชาชน กลุ่มนักวิ่งประมาณ 2 พันคน เปิดงานสวนป่าประชารัฐ พร้อมร่วมยินดี ภายหลังประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์เลียงผา สัตว์ป่าที่ครั้งหนึ่งที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์

เช้าวันที่ 5 พ.ค.2561 ที่สวนพฤกษศาสตร์พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงฯนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันเปิดงานสวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย มีประชาชน นักเรียน นักศึกษาและกลุ่มนักวิ่งชมดงประมาณ 2 พันคน บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก


พลเอกสุรศักด์ กล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ การรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมกับมีนโยบายให้พัฒนาป่าในเขตเมืองขึ้นทางกระทรวงทรัพยากรฯได้ดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 99 แห่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ 51 แห่ง กรมป่าไม้ 28 แห่งและกรมทรัพยากรชายฝั่ง 20 แห่ง ซึ่งต่อไปจะมีเพิ่มอีกหลายแห่งที่มีความเหมาะสม


รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอยากแจ้งให้พี่น้องคนไทยทราบว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯร่วมกับประชาชน อำเภอแก่งคอย 2 ตำบล 5 หมู่บ้านประกอบด้วยตำบลสองคอน ตำบลท่าตูม ส่วนหมู่บ้านคือพระพุทธบาทน้อย บ่อโศก ปางคล้อ ทุ่งแตงและโปร่งค่าป่าไม้แดง ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์เลียงผา สัตว์ป่าที่ครั้งหนึ่งเราคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วแต่ตอนนี้มีจำนวนมากกว่า 30 ตัว แต่มีนักอนุรักษ์บางคนประมาณว่าน่าจะมีถึง 100 ตัวขึ้นไป

...

ซึ่งขณะนี้ได้สั่งให้กรมอุทยานฯเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับกลุ่มประชาชนอำเภอแก่งคอยอย่างเต็มที่ส่วนผลกระทบจากการทำกิจการซีเมนต์และโรงโม่หินมีทางจังหวัดให้การสนับสนุนประสานงานจนเป็นที่เข้าใจโดยมีการมอบเงินสมทบกองทุนบ้านเลียงผาสระบุรีจำนวน 1.1 ล้านบาทเพื่อทำแหล่งน้ำให้เลียงผา ศึกษาประชากรและระบบนิเวศ การสร้างเครือข่าย


นายสฤษดิ์ จิตรนอก กรรมการป่าชุมชนพระพุทธบาทน้อย จ.สระบุรี กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์เลียงผาเริ่มจากประชาชน 2 อำเภอ 5 หมู่บ้านมีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 2 พันไร่ ปัจจุบันยืนยันได้ว่าไม่มีการล่าเลียงผา อีกต่อไปแล้วจิตสำนึกดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับเกรงกลัวผิดกฎหมายแต่มาจากความรักถิ่นฐานมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของเลียงผาจึงเกิดความเข้มแข็ง


"เราเชื่อว่าไม่มีการล่าเพราะจำนวนเลียงผามีมากขึ้นทุกปี ตัวสุดท้ายที่ตายไปนั้นเขาลงจากเขาหินปูนมาในหมู่บ้าน แต่ไม่สามารถกลับขึ้นไปได้เหตุผลน่าจะมาจากอายุมาก สังเกตลักษณะการเดินและดวงตาที่ฝ้าขาวขุ่นกระทั่งล้มป่วยมี จนท.นำไปรักษาก่อนที่จะตายเพราะหมดอายุขัย ประมาณว่าอายุน่าจะอยู่ที่ 17-18 ปี เมื่อนับตามวงรอบๆ เขา"

กรรมการป่าชุมชนพระพุทธบาทน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์เลียงผา กล่าวอีกว่า ภัยคุกคามของเลียงผาที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือภาคอุตสาหกรรม นั่นคือการให้สัมปทานเอกชน ภูเขาหินปูนอันเป็นที่อยู่ของเลียงผาฝูงนี่คือที่สุดท้าย รอบๆ พื้นที่ 2 พันไร่ อันเป็นอาณาจักรของเลียงผาอยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันอนุรักษ์ไว้ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและการตื่นรู้ของประชาชนเชื่อว่าต่อไปจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวได้