หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สั่งทีมงานลงพื้นที่สำรวจเก็บพืชสมุนไพรที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้พืชสมุนไพรสูญหายต่อไปอย่างสิ้นเชิง.....
จากกรณี "ไทยรัฐ" ตีแผ่ปัญหาฝูงเถาวัลย์รุกรานกินป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิตของสัตว์ป่า ป่าถล่ม ไม่เว้นแม้กระทั่งพืชสมุนไพร ที่ชาวกระหร่างใช้เป็นยาสามัญประจำหมู่บ้าน และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อนำพืชสมุนไพรเหล่านี้ที่มีคุณภาพในการรักษาโรคต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาใช้กับการรักษา ทั้งในรูปแบบยาแผนโบราณของไทย และนำไปผสมเป็นยาแผนปัจจุบัน แต่พืชสมุนไพรเหล่านี้ต้องมาล้มหายตายไปจากผืนป่าแห่งนี้ที่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ในทุกด้าน และเป็นแหล่งรวมพืชสมุนไพรมากมายเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ขณะที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ ได้ เตรียมการพลิกฟื้นพืชสมุนไพรให้คืนสู่แก่งกระจานตามเดิม หลังการดำเนินการกับเจ้าเถาวัลย์ตัวปัญหาเสร็จสิ้น ตามข่าวที่ "ไทยรัฐ" นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค "ไทยรัฐ" รายงานความคืบหน้ามาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. น.ส.สุพร พลพันธ์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยว่า จากการที่เคยสำรวจพืชสมุนไพรที่เคยมีอยู่มากมายหลายชนิดในอุทยานแห่งนี้ แต่หลังจากถูกเถาวัลย์รุกรานกลับพบพืชสมุนไพรเหลือเพียง 10 กว่าชนิดนั้น เนื่องจากพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศของป่าแห่งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในระบบนิเวศ (Ecological Succession) ยิ่งมาถูกปัญหาเถาวัลย์รุกรานกินพื้นที่ป่าไปถึง 3 แสนไร่ ทำให้สมุนไพรชนิดต่างๆถูกปกคลุมด้วยเถาวัลย์ทำให้ไม่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ เป็นสาเหตุให้พืชสมุนไพรเหล่านี้หายไปจากป่าเกือบสิ้นเชิง สำหรับการปรับเปลี่ยนในระบบนิเวศ คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น มีสิ่งมีชีวิตใหม่เกิดขึ้น เกิดชุมชนใหม่ มีการเปลี่ยน–แปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนชนิดของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในชุมชนแห่งนั้นไปด้วย
น.ส.สุพรเผยต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องใช้เวลาในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควร โดยมีสาเหตุสำคัญเป็นปัจจัยที่ทำการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศประกอบด้วย ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา (Geological Cycle) ที่อาจทำให้เกิดธารน้ำแข็ง ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิ ล้วนเป็นสาเหตุให้ดุลธรรมชาติในกลุ่มสิ่งมีชีวิตเสียไป ปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างรุนแรงทำให้เกิดภัยวิบัติต่างๆ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม พายุทอร์นาโด พายุเฮอริเคน ทำให้สภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตถูกทำลายไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงแทนที่ขึ้นใหม่ ปัจจัยจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่า การทำไร่เลื่อนลอย ภาวะมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำและอื่นๆซึ่งมีผลทำให้สภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยน ดุลธรรมชาติถูกทำลาย เกิดโรคระบาด แมลงศัตรูพืชระบาดทำให้สิ่งมีชีวิตล้มตาย จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของกลุ่มสิ่งมีชีวิตขึ้นใหม่อีก และปัจจัยจากปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตที่มีต่อแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแทนที่ เพราะกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ทำให้สิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น เช่น อุณหภูมิ ความเข้มข้นของแสง ความชื้น ความเป็นกรด ด่าง ของพื้นดินหรือแหล่งน้ำและอื่นๆ เปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อยจนในที่สุดไม่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตกลุ่มเดิม จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงแทนที่โดยกลุ่มสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เหมาะสมกว่า
นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการเผยอีกด้วยว่า สำหรับที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงของปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตต่อแหล่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีสมุนไพรนั้นขาดปัจจัยและความเหมาะสมของอุณหภูมิ ความเข้มข้นของแสง ความชื้น ความเป็นกรด ด่าง ของพื้นดินจนส่งผลให้พืชสมุนไพรเหล่านี้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่หากมีแมกไม้หรือมีสมุนไพรพื้นเดิมที่รอดพ้นจากการถูกปกคลุมของเถาวัลย์หลงเหลืออยู่ มันก็จะสามารถกระจายพันธุ์และเจริญเติบโตได้อย่างปกติ แต่ต้องได้รับปัจจัยที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตตามระบบนิเวศ เช่น มีอุณหภูมิ ความเข้มข้นของแสง ความชื้น ความเป็นกรด ด่าง ที่เพียงพอ นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว พื้นที่เหล่านี้จะต้องเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีแสงเข้ามาเพื่อสร้างกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ดี ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ให้ความสำคัญของการอนุรักษ์พืชสมุนไพรเหล่านี้ จึงมอบให้ตนและนายสุทัศน์ ทรัพย์ภู่ หัวหน้างานศึกษาวิจัยระบบนิเวศและสัตว์ป่า นำทีมงานลงพื้นที่สำรวจเก็บพืชสมุนไพรที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้พืชสมุนไพรสูญหายต่อไปอย่างสิ้นเชิง.
...