บุกศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองขโมยหัวใสกวาดไปเกลี้ยงตู้คาดขายร้านให้เช่าใส่ถ่ายรูป

กระแส “ออเจ้า” พ่นพิษ โจรแสบไม่กลัวสิ่งลี้ลับ ย่องฉก ชุดสตรีไทยแก้บนกว่า 30 ชุด จากศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง 2 พี่น้องในตัวเมืองอ่างทอง เลือกแต่ชุดราคาแพงที่มาพร้อมเครื่องประดับ คาดนำไปขายต่อให้ร้านชุดเช่าเพื่อปล่อยให้สาวๆเช่าแต่งตามกระแสละครบุพเพสันนิวาส คนดูแลศาลไม่เข้าแจ้งความ เชื่อมั่นในอิทธิฤทธิ์เจ้าแม่จะตามรังควานหัวขโมยจนอยู่ไม่เป็นสุข แถมเตือนคนซื้อให้ระวังอาจโดนเจ้าของชุดตามหลอนได้ “รอมแพง” นักเขียนดังเปิดใจยังไม่มีเวลาเขียน “พรหมลิขิต” ภาคต่อบุพเพฯ เพราะต้องเดินสายพบแฟนคลับเกือบทุกวัน ขณะที่หนังสือ “จินดามณี” รับอานิสงส์ไปเต็มๆ คนแห่ซื้อขายดิบขายดีจนขาดตลาด ด้าน ผบ.เรือนจำกรุงเทพฯยอมรับ เปิดละครบุพเพฯให้ผู้ต้องขังได้รับชมเพื่อจรรโลงใจ

กระแสละครดัง “บุพเพสันนิวาส” ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทยหลายประเด็น ทั้งเรื่องการกระตุ้นให้คนไทยหันมาศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา การรับประทานอาหารตามอย่างตัวละคร เช่น มะม่วงน้ำปลาหวาน กุ้งเผา และหมูโสร่ง รวมถึงการแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุค ไปเที่ยวชมโบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะวัดไชยวัฒนาราม ที่เป็น 1 ในฉากเด่นของเรื่อง ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าหัวใส เปิดให้บริการร้านเช่าชุดไทยละแวกดังกล่าวผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ล่าสุดมีหัวขโมยแอบฉกชุดสตรีไทยโบราณที่คนนำมาแก้บนจากศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ในพื้นที่ อ.เมืองอ่างทอง คาดอาจนำไปขายให้บรรดาร้านเช่าชุดไทยปล่อยเช่าให้นักท่องเที่ยวแต่งกายย้อนยุคถ่ายรูป

เรื่องราวชวนหลอนถึงขั้นขนหัวลุกครั้งนี้ เปิดเผยเมื่อช่วงสายวันที่ 31 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากผู้ดูแลศาลเจ้าแม่สร้อยทิพย์-แม่สร้อยศรีสุวรรณ ตั้งอยู่ข้างที่ทำการเทศบาลตำบลศาลาแดง หมู่ 2 ต.ศาลาแดง อ.เมืองอ่างทอง ว่า มีหัวขโมยแอบมาขโมยชุดสตรีไทยโบราณพร้อมเครื่องประดับ ที่ชาวบ้านนำมาแก้บนเจ้าแม่ตะเคียนทอง 2 พี่น้อง จำนวนกว่า 30 ชุด หายไปจากตู้กระจกบริเวณข้างศาลดังกล่าว หลังทราบเรื่องรีบเดินทางไปตรวจสอบ พบศาลดังกล่าวปลูกสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งอย่างดี ลักษณะเป็นศาลาทรงไทยยกพื้น ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ภายในศาลมีท่อนไม้ตะเคียนทอง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 ซม. สูงราว 60 ซม. พร้อมรูปปั้นหญิงสาวสวมชุดไทยห่มสไบเฉียงขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ชาวบ้านขนานนามว่า “แม่สร้อยทิพย์และแม่สร้อยศรีสุวรรณ” ด้านหน้ามีรูปปั้นกุมาร 2 องค์ พร้อมธูปเทียน และเครื่องเซ่นสักการะวางอยู่

...

ส่วนบริเวณด้านขวาของศาลมีตู้กระจกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ภายในตู้มีชุดสตรีไทยโบราณ ทั้งแบบผ้านุ่งสไบเฉียง ผ้านุ่งโจงกระเบนสไบเฉียง และชุดไทยประยุกต์ แขวนเรียงรายหลายสิบชุด แต่ละชุดอยู่ในสภาพใหม่มีพลาสติกห่อหุ้มกันฝุ่น จากการสังเกตพบว่าชุดไทยบนราวแขวนในตู้จำนวนมากได้หายไปทั้งแถบ ขณะที่ชุดไทยบางส่วนถูกนำมากองทิ้งไว้หน้าศาลเจ้าแม่ ส่วนใหญ่เป็นชุดที่มีขนาดเล็กหรือเป็นชุดของเด็ก

นางอ้วน (นามสมมติ) อ้างเป็นคนดูแลศาลให้ข้อมูลผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้ในตู้กระจกมีชุดสตรีไทยโบราณหลากหลายประเภทที่ชาวบ้านนำมาแก้บนกับเจ้าแม่ตะเคียนทอง 2 พี่น้อง แขวนเรียงรายอยู่ไม่ต่ำกว่า 100 ชุด แต่ละชุดมีราคาแตกต่างกัน ถูกสุดอยู่ที่ราว 400 บาท แพงสุดอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทเศษ เป็นชุดสตรีไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ พร้อมเครื่องประดับสร้อยคอและกำไรข้อมือ เมื่อ 2-3 คืนก่อนมีคนร้ายแอบลอบ
เข้ามาขโมยชุดแก้บนในตู้กระจกหายไปไม่ต่ำกว่า 30 ชุด เลือกเฉพาะชุดราคาแพงประมาณ 700-1,000 บาท และมีขนาดที่ผู้ใหญ่สวมใส่ได้ ทิ้งชุดขนาดเล็กและราคาถูกกองไว้หน้าศาล คาดว่าคนร้ายน่าจะเป็นคนในพื้นที่และรู้ทิศทางของกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ เนื่องจากคนร้ายเข้ามาทางด้านหลังศาลที่รัศมีกล้องวงจรปิดส่องไปไม่ถึง อีกทั้งลอบเข้ามาช่วงดึกที่ไม่มีใครเฝ้า คาดว่าหัวขโมยสุดแสบจะนำไปขายตามตลาดนัด หรือตามร้านชุดเช่า เนื่องจากกระแสชุดไทยมาแรง

ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ตะเคียนกล่าวอีกว่า จะไม่เข้าแจ้งความเพราะเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของเจ้าแม่สร้อยทิพย์และเจ้าแม่สร้อยศรีสุวรรณ คนร้ายจะอยู่ไม่เป็นสุขและจะต้องนำชุดไทยที่ขโมยไปมาคืนที่ศาลเจ้าแม่อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอเตือนชาวบ้านที่เลือกซื้อชุดไทยสวมใส่ตามกระแส โปรดระมัดระวังและพิจารณาให้ดี อาจจะไปซื้อหรือเช่าของที่หัวขโมยไปลักตามศาลเจ้าแม่มาขายต่อ เมื่อเก็บไว้ที่บ้านหรือสวมใส่อาจจะถูกสิ่งลี้ลับหลอกหลอนได้ อย่างไรก็ตามปกติชุดไทยโบราณที่มีคนนำมาถวายแก้บนทั้งหมดจะทิ้งไว้ระยะหนึ่ง จากนั้นจะจุดธูปขออนุญาตเจ้าแม่แล้วรวบรวมนำไปบริจาคให้กับเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ ไว้สำหรับแต่งแสดงรำไทยและทำ กิจกรรมในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาหากขออนุญาตเจ้าแม่อย่างถูกต้อง ไม่เคยพบว่ามีปัญหาใดๆเกิดขึ้น

นางบังอร บุรีรักษ์ รองประธานสภาเทศบาลตำบลศาลาแดง เปิดเผยว่า หลังกระแสแต่งกายด้วยชุดไทยมาแรง ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศให้หน่วยงานราชการสวมใส่ชุดไทยในวันอังคาร ตามแนวทางไทยนิยมภายใต้โครงการ “Thailand 4.0 แต่งไทยแบบไหนก็เก๋” สอดรับกับแนวทางของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่นชมและสนับสนุนให้ข้าราชการและคนไทยแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคในชีวิตประจำวันไปยังสถานที่ต่างๆอย่างไม่เขินอาย ทำให้มีหัวขโมยที่ไม่กลัวสิ่งลี้ลับ เข้ามาขโมยชุดไทยพร้อมเครื่องประดับที่ชาวบ้านนำมาแก้บนไว้ที่ศาลเจ้าแม่หายไปกว่า 30 ชุด และทิ้งชุดที่ไม่ได้ขนาดกองไว้บนพื้นหน้าศาล เบื้องต้นทางเทศบาลผู้ดูแลศาลจะไม่แจ้งความ เพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ จะดลบันดาลให้คนร้ายเปลี่ยนใจนำชุดกลับมาคืนเอง เนื่องจากศาลแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในพื้นที่ อีกทั้งเงินบริจาคและชุดไทยแก้บนจะนำไปมอบให้โรงเรียนไว้ใช้ทำกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่สร้อยทิพย์-เจ้าแม่สร้อยศรีสุวรรณ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านอ้างว่า ย้อนกลับไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อน มีเถ้าแก่เจ้าของร้านค้าในเขตเทศบาลตำบลศาลาแดงไปซื้อท่อนไม้ลักษณะสวยงามท่อนหนึ่งมาเก็บไว้ในบ้าน กระทั่งมีพระรูปหนึ่งไปเห็นและทักว่าเป็นท่อนไม้ตะเคียนทอง ไม่เหมาะจะเก็บไว้ในบ้าน อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยมีอันเป็นไป แต่เจ้าของบ้านไม่เชื่อ ต่อมาเจ้าของบ้านเกิดเจ็บป่วยถึงขั้นอาเจียนเป็นเลือดและเสียชีวิตอย่างปริศนา หลังเสร็จการจัดงานศพ ภรรยาได้นำท่อนตะเคียนทองมาทิ้งไว้ที่ศาลาข้างสำนักงานเทศบาลฯ ชาวบ้านทราบข่าวได้มาบนบานขอเลขเด็ด ปรากฏว่าสัมฤทธิผลให้โชคให้ลาภถูกหวยกันจำนวนมาก จึงร่วมกันสร้างศาลให้เจ้าแม่อย่างสวยงาม พร้อมนำเครื่องเซ่น รวมทั้งชุดไทยหลายร้อยชุด มาถวายอย่างต่อเนื่อง

...

วันเดียวกัน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 เป็นวันที่ 3 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชน เด็ก และเยาวชน มาชมงานและเลือกซื้อหนังสือแน่นขนัด โดยเฉพาะร้านจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์ บริษัท แฮปปี้ บานานา จำกัด ผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายนวนิยาย “บุพเพสันนิวาส” และนวนิยายเรื่องอื่นๆ ที่เขียนโดย น.ส.จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของนามปากกา “รอมแพง” คลาคล่ำไปด้วยแฟนคลับละครบุพเพสันนิวาส และแฟนคลับนวนิยายของรอมแพง ต่างเข้าคิวรอพบนักเขียนคนโปรดที่จะมาพูดคุยและแจกลายเซ็น

“รอมแพง” น.ส.จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ผู้เขียนนวนิยายบุพเพสันนิวาส เผยว่า รู้สึกดีใจที่นวนิยายบุพเพสันนิวาสได้รับความสนใจจากคนอ่านเป็นจำนวนมาก ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ นำนวนิยายบุพเพสันนิวาส มาจำหน่าย 15,000 เล่ม บรรณาธิการสำนักพิมพ์บอกว่าหนังสือขายดีมาก ตั้งแต่เปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมาตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. มียอดขายไปแล้ว 3,000 เล่ม เฉลี่ยวันละ 1,000 เล่ม คาดว่าอาจต้องพิมพ์หนังสือเพิ่มอีก ยอมรับว่ากระแสละครบุพเพสันนิวาสแรงจริงๆ ทำให้หนังสือขายดี และทำให้ตนยังไม่มีเวลาเขียนนวนิยายเรื่อง “พรหมลิขิต” ภาคต่อของบุพเพสันนิวาส เพราะต้องเดินสายพบปะแฟนคลับเกือบทุกวัน

ด้านบรรยากาศที่ร้านกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดทั้งวันยังคงมีประชาชนที่สนใจมาถามหาและสั่งซื้อหนังสือ จินดามณี เล่ม 1 และจินดามณี ฉบับบริบูรณ์ หรือฉบับพระโหราธิบดี เป็นจำนวนมาก แต่ต้องผิดหวังเพราะไม่มีหนังสือจำหน่าย โดยติดป้ายประกาศหนังสือหมด และให้ผู้สนใจมาซื้อใหม่ในวันที่ 4 เม.ย.นี้ จะนำหนังสือจำนวน 2,000 เล่ม มาจำหน่ายอีกครั้ง รวมทั้งงดรับสั่งจองหนังสือล่วงหน้า

...

นายคูณ เกษรแย้ม เจ้าพนักงานธุรการชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ผู้รับผิดชอบดูแลร้านกรมศิลปากร กล่าวว่า จำเป็นต้องปิดประกาศ เนื่องจากโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือจินดามณีส่งมอบให้ไม่ทัน เพียงแค่ 2 วัน จำหน่ายหนังสือหมดไปแล้ว 1,500 เล่ม และมีประชาชนมาสั่งจองอีก 1,000 เล่ม ทำให้จำเป็นต้องหยุดจำหน่ายหนังสือจินดามณีชั่วคราว และงดรับสั่งจองหนังสือตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 3 เม.ย.นี้

ขณะที่นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อนุญาตให้ผู้ต้องขังดูละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ตนอนุญาตให้ผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯได้รับชม เนื่องจากเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ไม่ได้เปิดให้ชมสดตามเวลาที่ออกอากาศ แต่เปิดให้รับชมย้อนหลัง ทั้งนี้ ผู้ต้องขังจะได้รับชมรายการโทรทัศน์หลังจากขึ้นเรือนนอนและสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้ว คือเวลา 16.00-21.00 น. สำหรับกระแสละครบุพเพสันนิวาส ผู้ต้องขังได้รับทราบจากญาติที่เดินทางมาเยี่ยมและมีการทักทายผู้ต้องขังว่า “ออเจ้า” รวมถึงพูดคำศัพท์ที่ตัวละครใช้พูดในการแสดง

“เมื่อผู้ต้องขังได้ยินก็อยากรู้ว่ามันคืออะไร ญาติก็ได้เล่าให้ฟัง ทำให้ผู้ต้องขังอยากดูละครเรื่องนี้เป็นอย่างมาก การที่ผู้ต้องขังได้ดูละครถือเป็นเรื่องจรรโลงใจและทำให้ผู้ต้องขังมีความสุขขึ้น เรือนจำมีกฎระเบียบเรื่องการเปิดรายการโทรทัศน์ให้ผู้ต้องขังได้รับชมอยู่แล้ว โดยจะไม่ให้ผู้ต้องขังดูข่าวหรือละครที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หรืออาชญากรรม ปกติจะเปิดให้ผู้ต้องขังชมแต่สารคดี รายการทั้งหมดจะต้องผ่านการคัดกรองจากผู้คุมก่อน” นายกฤชกล่าว