“ปี 2556 ศูนย์ข้าวชุมชนของเรา ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งขายให้ชาวนา ธุรกิจไปได้ดีมีเมล็ดพันธุ์ไม่พอขาย เพราะมีโครงการรับจำนำ ปี 2557 จึงปรับแผนการผลิตจากเดิมทำแค่ในเพชรบุรี ขยายไปอีก 5 จังหวัดใกล้เคียง แต่ปรากฏเกิดการเปลี่ยน แปลงรัฐบาล โครงการจำนำข้าวถูกยกเลิก ข้าวราคาตก แถมยังมีโครงการลดพื้นที่เพาะปลูกเข้ามาอีก ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ทำไว้ 2,000–3,000 ตัน ค้างสต๊อก ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นหนี้มากถึง 25 ล้านบาท”

นายบรรพจ มามาก เลขาศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี เล่าถึงที่มาของหนี้ก้อนใหญ่ อันเป็นภาระที่จะต้องหาทางออกให้กับสมาชิก...ด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวหากเก็บไว้เกิน 1 ปี คุณภาพจะเสื่อม เอาไปทำพันธุ์ไม่ได้ เพราะเปอร์เซ็นต์การงอกจะต่ำ ไม่ได้มาตรฐานตามที่กรมการข้าวกำหนด

หากแก้ปัญหาแบบง่ายๆ เอาเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ขายเป็นข้าวเปลือกให้โรงสี ได้ราคาแค่ตันละ 6,000–7,000 บาท...ขาดทุนมีหนี้สินก้อนโตแน่

ครั้นจะเอาเมล็ดพันธุ์มาสีขายเป็นข้าวสารบรรจุถุง ก็ยังขาดทุนอยู่ดี เพราะได้ราคาเดียวกับข้าวทั่วไป ทั้งที่ต้นทุนผลิตต่างกันเท่าตัว เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์มีต้นทุนอยู่ที่ตันละ 8,000-9,000 บาท ในขณะที่ข้าวเปลือกทั่วไปต้นทุนอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท

...

เมื่อคิดหาทางออกไม่ได้ จึงเรียกสมาชิกประชุมช่วยกันระดมสมองหาทางแก้ปัญหา

“เราได้ความคิดจากเด็ก 8-9 ขวบ ซึ่งเป็นลูกของสมาชิก พูดขึ้นมาว่า ทำไมไม่ขายเป็นข้าวไก่ เลยจุดประกายให้พวกเราพบทางออก เพราะกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชน จะใช้ข้าวที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ปลูกด้วยระบบ GAP ปลอดสารเคมี ที่จะได้ราคาสูงกว่าขายเป็นข้าวเปลือกหรือสีขายเป็นข้าวถุง เพราะกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนให้ราคารับซื้อตันละ 10,000-12,000 บาท นอกจากนั้นยังส่งขายเป็นวัตถุดิบโรงงานทำสุราหมัก ได้เพิ่มขึ้นมาอีกตันละ 18,000 บาท”

นายบรรพจ บอกว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เราได้บทเรียน อย่าปลูกข้าวหวังแค่ขายเป็นข้าวเปลือก เพราะการตลาดไม่มั่นคง ต้องแปรรูปควบคู่ หากต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์-บรรจุภัณฑ์ต้องได้มาตรฐาน กลุ่มจึงไปขอคำแนะนำจากกรมการข้าว ม.ราชภัฏเพชรบุรี และ ม.ศิลปากร ให้ช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงเรื่องการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง ขนมขบเคี้ยวจากข้าว ชาข้าว หากเป็นข้าวขาว ทาง ธ.ก.ส. และ สกต. จะเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงด้านการตลาด กับอีกส่วนชาวบ้านช่วยกันเปิดตลาดและขายกันเองตามงานต่างๆ โดยใช้แบรนด์ รอยยิ้มชาวนา

...

หลังจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดไม่ง้อรัฐ ยึดหลักพึ่งตัวเอง แปรรูป ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า นำผลพลอยได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

ในช่วงระยะเวลา 2 ปี หนี้สิน 25 ล้านบาท...วันนี้เหลือแค่หลักแสน.

เพ็ญพิชญา เตียว