ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาคไทยรัฐ รายงานความคืบหน้ากรณีผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกฝูงเถาวัลย์คุกคาม...
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 ก.ย. ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาคไทยรัฐรายงานความคืบหน้ากรณีผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกฝูงเถาวัลย์คุกคาม มาจากการเปิดเผยของ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.เพชรบุรี รองโฆษกคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา รองประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าวุฒิสภา ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบุรี ว่า จากการที่ได้เข้าไปในแก่งกระจานได้ไปเห็นว่าผืนป่าปกคลุมไปด้วยสีเขียวหมดเลย แต่พอได้ดูชัดๆมันกลับไม่ใช่ความเขียวชอุ่มของต้นไม้ยืนต้น มันเป็นความเขียวของเถาวัลย์และวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมอยู่ ซึ่งถูกเรียกในภาษาทางพฤกษศาสตร์ว่าป่าถล่ม คนไม่เข้าใจก็คิดว่าป่าก็เขียวชอุ่มดีแล้ว มีต้นไม้เยอะแล้วซึ่งมันไม่ใช่ เพราะสภาพที่ว่าต้นไม้ยืนต้นถูกเถาวัลย์คลุมแล้วกระชากจนต้นไม้ยืนต้นย่ำแย่ถึงกับแยกฉีกออกจากกัน บางต้นก็กำลังจะหักไปด้วยซ้ำ
ส.ว.คนดัง เผยต่อไปว่า จากการที่ได้ไปเห็นมากับตาถึงสภาพดังกล่าวทำให้เกิดความสงสารป่าและต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาจับใจ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ในบ้านเกิดของตัวเองระหว่างที่กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร เพื่อหาทางพลิกฟื้นผืนป่านี้ให้คืนกลับสู่ความเป็นธรรมชาติของป่าที่สมบูรณ์แบบ ก็ได้พบนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และมีการพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนที่ผ่านมาตนจึงชวนนายสุรพล นาคนคร อนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของวุฒิสภา ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูสภาพป่าพบว่ามีเถาวัลย์ปกคลุมเยอะมาก ได้เห็นสภาพป่าเหมือนอย่างที่ นสพ.ไทยรัฐนำออกมาตีแผ่
ในส่วนนี้ตน และชาวเพชรบุรีทั้งมวลต้องขอบคุณไทยรัฐที่นำเสนอข่าวเรื่องนี้ ถือเป็นการกระตุ้นผู้รับผิดชอบให้ออกมาเร่งแก้ปัญหาให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ อาจจะยังไม่คิดในเรื่องนี้ อาจไปคิดในแง่อิงหลักวิชาการ ต้องมาดูของจริง ต้องแก้ไขตามสภาพความเป็นจริง หากปล่อยให้ฝูงเถาวัลย์ลุกลามต่อไปอนาคตยากมากที่จะแก้ไขได้สำเร็จ ตนไม่เถียงว่าธรรมชาติมันจะจัดการมันเอง แต่ตรงนี้มันเริ่มผิดธรรมชาติ เปรียบเสมือนสัตว์ทุกชนิดในทางวิชาการมันก็สามารถจัดการกับตัวมันเองได้เช่นการคลอดลูก แต่หากมีมนุษย์เข้าไปช่วยเหลืออันตรายมันก็น้อยลง
นอกจากนี้ น.ส.สุมล ยังได้ระบายความในใจด้วยว่า ตนเป็นคณะกรรมการคนหนึ่งในโครงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ หรือ 84 พรรษา ซึ่งมีโครงการทั้งระยะยาวและระยะสั้น ระยะยาวจะเริ่มตั้งแต่ปี 2553-2554 โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา แต่งตั้งให้ตนเป็นคณะกรรมาธิการในส่วนของ ส.ว.ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 คน ตนได้นำเสนอเรื่องที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ด้วยการจัดการสางเถาวัลย์ในป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปรากฏว่า ส.ส.เจริญ คันธวงศ์ ออกมาสนับสนุน ให้เป็นโครงการนำร่องให้ผืนป่าอื่นที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับผืนป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ทำตามแบบ
ส.ว.เพชรบุรี ยังเผยด้วยว่า แต่การนำเสนอในครั้งนั้นมีกรรมการซึ่งเป็นภาคเอกชนทักท้วงว่าจะสางยังไงเพราะเขานึกภาพไม่ออก เนื่องจากไม่เคยเห็นพื้นที่จริง ตนก็เลยนำเอาภาพไปเสนอให้ดูว่าป่าถล่มเป็นยังไง เมื่อเห็นภาพในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย แต่ก็ยังถูกคัดค้านอีกจากสมาชิกชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบุรี ที่ตนนั่งเป็นประธานอยู่ เขาคัดค้านโดยอ้างว่าธรรมชาติจัดการตัวมันเองได้ไม่ควรที่จะเข้าไปยุ่งกับธรรมชาติ เมื่อเชิญเจ้าหน้าที่จากป่าไม้และอุทยานมาประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า วุฒิสภาเพื่อขอความคิดเห็นก็ถูกคัดค้านอีก ตนเครียดกับปัญหานี้เพราะว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปสัมผัสพื้นที่ ไม่ได้เข้าไปเห็นกับตาก็จะนึกภาพไม่ออกว่าป่าที่ถูกเถาวัลย์ปกคลุมจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ยืนยันแต่เพียงว่าธรรมชาติจะจัดการของมันเองได้เท่านั้น
น.ส.สุมล ยังเผยอีกว่า พอถูกคัดค้านแรกๆ ก็รู้สึกกังวล เพราะว่าตนทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด ตนเคยค้านคนอื่นในการที่จะทำให้กระทบกับธรรมชาติ พอมาถูกค้านเรื่องนี้ ช่วงนั้นยอมรับว่าทำให้ค่อยไม่มั่นใจในการแก้ไขปัญหานี้เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับเถาวัลย์ เพราะมีเถาวัลย์บางอย่างเป็นเรื่องดีของธรรมชาติ ไปทำลายมันหมดก็อาจจะมีผลกับระบบนิเวศน์อย่างที่ถูกท้วงมาได้ ก็เลยหยุดความคิดเอาไว้ก่อน แต่มาถึงตรงนี้ตนเริ่มเห็นว่าเถาวัลย์ชักมากเกินไป ประกอบกับสภาพป่าที่เคยถูกทำสัมปทานป่าไม้ไปแล้ว มันไม่เหมือนกับป่าเดิมๆที่ต้นไม้ใหญ่มีสภาพแข็งแรง ธรรมชาติสามารถจัดการกันเองได้ แต่ปัญหาแก่งกระจานนี้ ยังไงเสียก็ต้องให้มนุษย์เข้าไปช่วยด้วย ในลักษณะที่เกิดความพอดีมีความสมดุลไม่กระทบกับระบบนิเวศน์
อย่างไรก็ตาม น.ส.สุมล เผยว่า ขณะนี้ตนได้เปลี่ยนแผนใหม่ เนื่องจากตนดำรงตำแหน่งประธานโครงการแก้ไขปัญหาวิกฤติช้างไทย ก็เลยนำเอาโครงการ "ปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้สัตว์ป่า" เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้ว เพราะการที่จะปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้ป่านั้นต้องสางเถาวัลย์ออกโดยอัตโนมัติ การปลูกพืชสร้างพื้นที่ก็ต้องเอาวัชพืชออก วัชพืชอะไรที่ไม่มีประโยชน์กับป่าให้เอาออกให้หมดแล้วปลูกหญ้าทดแทน เช่น ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีการปลูกหญ้าไข่เหา ซึ่งเป็นหญ้าพื้นเมืองของเขาเอง ที่สำคัญต้องให้เหมาะสม ไม่ใช่ปลูกหญ้าอย่างเดียวต้องปลูกไม้ยืนต้นด้วยและต้องเป็นไม้ยืนต้นที่มีลูกผล เพื่อให้ช้างให้สัตว์ป่ากินได้ เช่น ลูกตะขบ ต้นเหนียง โครงการนี้ตนจึงไม่ใช้คำว่าสางเถาวัลย์ เพราะจะไปกระทบกับนักวนศาสตร์เข้า
ล่าสุดทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาครายงานว่า เหตุการณ์เถาวัลย์บุกเข้าคุกคามผืนป่าไม่ได้มีเฉพาะในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเท่านั้น จากการตระเวนตรวจสอบผืนป่าภาคตะวันตกในเขต จ.กาญจนบุรี ปรากฏว่าเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของ อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละ อ.ศรีสวัสดิ์ อีกด้วย ซึ่งไทยรัฐจะนำมาเปิดเผยต่อไป.
...