นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจของการประยุกต์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากราย จ.ชัยนาท เลี้ยงปลากรายผสมกับปลานิล และปลากดคัง โดยให้ปลาทุกชนิดอยู่แบบเกื้อกูลกัน ทำให้ประหยัดค่าอาหารได้ถึง 50%

“เดิมทีคนแถบนี้เลี้ยงปลากรายเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว จนเมื่อปีที่แล้วปลากรายราคาตก ถูกพ่อค้ากดราคาเหลือแค่ กก.ละ 60 บาท จากที่เคยได้สูงสุดเกือบ 100 บาท ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน รับซื้อและแปรรูปเป็นเนื้อปลากรายขูด ต่อมาเริ่มเห็นว่าต้นทุนส่วนใหญ่ไปตกที่ค่าอาหารเม็ด เลยนำเรื่องความพอเพียงในเรื่องการทำให้อาหารที่เรามีไม่พอ มาทำให้พอเพียง โดยนำอาหารธรรมชาติมาใช้เลี้ยง เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารเม็ด เอาปลานิลคละเพศมาเลี้ยงให้ออก
ลูกหลานเป็นอาหารปลากราย และเลี้ยงปลากดไว้คอยกินเศษอาหารเหลือจากปลากรายอีกที ทำให้ประหยัดค่าอาหาร จากเคยจ่ายกันปีละเกือบ 400,000 บาท ลดลงเหลือแค่ 200,000 บาท”

สิทธิชัย ลิ้มตระกูล รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากราย จ.ชัยนาท เผยถึงวิธีการเลี้ยงปลากรายในแบบประหยัดค่าอาหาร ...หลังจากสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าบ่อ ขนาด 1 ไร่ ลึก 4 เมตร ใช้เกลือฆ่าเชื้อเล็กน้อย ประมาณ 20 กก. จากนั้นปล่อยลูกปลานิลขนาด 1 นิ้ว 1,000 ตัว ให้อาหารไม่ต้องมาก

...

เมื่อปล่อยไปได้ 2-3 เดือน ปลานิลจะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ จากนั้นอีก 1 เดือน จะฟักออกมาเป็นตัว ได้เวลาปล่อยลูกปลากรายขนาด 3 นิ้ว 10,000 ตัว และปลากดขนาดเท่ากันอีก 1,000 ตัว ให้อาหารเม็ดวันละมื้อ มื้อละ 5 กก. เฉพาะในตอนเช้าเท่านั้น เพราะในบ่อมีลูกปลานิลให้ปลากรายจับกินได้ทั้งวัน

“ส่วนปลานิลเราไม่ต้องให้อาหารเลย เพราะมีแพลงก์ตอน ต้นไม้น้ำ หญ้าริมบ่อ ให้ปลากินเป็นอาหารอยู่แล้ว ส่วนปลากดแม้เป็นปลากินเนื้อ แต่นิสัยตามธรรมชาติไม่ชอบกินของเป็น จึงคอยกินเศษซากปลานิลและอาหารเม็ดที่เหลือตามพื้นบ่อ ช่วยทำหน้าที่ทำความสะอาดบำบัดพื้นบ่อไปในตัว เลี้ยงไปอย่างนี้จนครบ 1 ปี จึงจับปลาทั้งหมดไปขายได้”

จะได้ปลานิล 1 ตัน ปลากราย 6 ตัน ปลากด 1.5 ตัน...นี่ยังไม่รวมปลาธรรมชาติ เช่น ตะเพียน ปลาช่อน สวาย ที่ไข่ติดมาตอนสูบน้ำเข้าบ่อรวมแล้วอีก 400–500 กก.

ทางกลุ่มวิสาหกิจฯจะรับซื้อปลากรายใน กก.ละ 70 บาท สูงกว่าพ่อค้ารับซื้อ กก.ละ 10 บาท แล้วนำมาแปรรูปเป็นเนื้อปลากรายขูดจำหน่าย กก.ละ 240 บาท เพิ่มมูลค่าได้กว่า 3 เท่าตัว ใช้แรงงานแม่บ้านในกลุ่ม เป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง...ส่วนปลาอื่นที่ได้ จะมีพ่อค้ามารับถึงปากบ่อ

สิทธิชัย บอกว่า การเลี้ยงปลา 3 ชนิดแบบเกื้อกูลกันเช่นนี้ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับสมาชิกกลุ่ม 30 ราย บ่อเลี้ยง 35 บ่อ เนื้อที่รวมกว่า 50 ไร่...นอกจากทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากปลากรายอย่างเดียวปีละกว่า 420,000 บาท ยังมีปลาชนิดอื่นช่วยเพิ่มรายได้ รวมกันแล้วก็หลักแสนบาท

และวิสาหกิจชุมชนยังมีรายได้จากขายเนื้อปลากรายขูดให้มาแบ่งปันกันได้อีก เฉลี่ยวันละ 24,000 บาท...สนใจเรียนรู้วิธีเลี้ยงปลากรายแบบพอเพียง สอบถามได้ที่ 08–9745–0399.

กรวัฒน์ วีนิล