ขนส่งฯเจอเอกสารเท็จ! แจ้งประมูลขาย1,136คัน สั่งถอนทะเบียน605คัน

“ขนส่งทางบกจับมือทหาร-ดีเอสไอ” เปิดโปงแก๊งปลอมเอกสารประมูลรถขายทอดตลาดและสั่งเพิกถอนรถ ขส.ทบ. 605 คัน หลังตรวจสอบพบยื่นเอกสารขายทอดตลาด เท็จ โดยฝีมือทหารยศ “พันเอก” เจ้ากรมขนส่งทหารบกเสนอปลดออกจากราชการ ดีเอสไอประเมินมูลค่าความเสียหายจากการซื้อรถประมูลเท็จ รวมแล้วหลายร้อยล้านบาท

การกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพเกี่ยวกับรถประมูลขายทอดตลาดครั้งนี้ เป็นที่เปิดเผยที่กรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โดยนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, พล.ต.สมศักดิ์ ทรัพย์อนันต์ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมแถลงข่าวการกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพที่แอบอ้างยื่นเอกสารเท็จรถประมูลขายทอดตลาดของ ขส.ทบ.

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ขส.ทบ.ได้ตรวจสอบพบพิรุธเรื่องการยื่นเอกสารการประมูลรถขายทอดตลาดของ ขส.ทบ. จึงได้ประสานกรมการขนส่งทางบกขอตรวจสอบรายละเอียด การยื่นเอกสารบัญชีรถประมูลขายทอดตลาดของ ขส.ทบ.ทุกฉบับอย่างละเอียด พบว่า มีขบวนการยื่นเอกสารส่งบัญชีรถแจ้งการประมูลขายทอดตลาดลงนามโดยพันเอกภพกฤต พันธ์ยศ รวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ เป็นรถจำนวนทั้งสิ้น 1,136 คัน ขส.ทบ.ตรวจสอบรายละเอียดและยืนยันว่า เป็นการยื่นเอกสารเท็จ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ขส.ทบ.ไม่มีการประมูลรถขายทอดตลาดแต่อย่างใด แต่เป็นการจัดทำเอกสารปลอมขึ้น โดยกลุ่มบุคคลที่มีการจัดเตรียมเป็นขั้นตอน

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมได้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถของ ขส.ทบ. จำนวน 605 คัน จากทั้งหมด 1,136 คัน หลัง ขส.ทบ.ตรวจสอบแล้วพบว่ามีกระบวนการยื่นเอกสารส่งบัญชีรถแจ้งการประมูลขายทอดตลาดเป็นเอกสารปลอม โดยมีกลุ่มบุคคลจัดทำขึ้นมา ทั้งที่ไม่มีการประมูลรถเพื่อขายทอดตลาดแต่อย่างใด ในจำนวนรถทั้งหมดได้กระจายการจดทะเบียนไปยังจังหวัดต่างๆ 15 จังหวัด แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 289 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน จำนวน 22 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล จำนวน 265 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคลขนาดใหญ่ จำนวน 19 คัน รถโดยสารประจำทาง จำนวน 2 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 7 คัน รถโดยสารส่วนบุคคล จำนวน 1 คัน เบื้องต้นได้แจ้งไปยังผู้ที่ครอบครองรถทุกคันให้ทราบ เกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนแล้ว พร้อมให้สำนักงานขนส่งจังหวัดอำนวยความสะดวกและแนะนำเจ้าของรถที่ซื้อรถโดยสุจริตฟ้องร้องกับผู้ที่นำรถมาจำหน่ายในข้อหาฉ้อโกง

...

นายสนิทกล่าวด้วยว่า กรมการขนส่งทางบก ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตามขยายผลไปยังเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วย หากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้ จะถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง อาญา รวมถึงสอบวินัย และมีโทษสูงสุดถึงขั้นไล่ออกอย่างแน่นอน ส่วนรถที่เหลืออีก 531 คัน ยังไม่มีการยื่นเอกสารขอจดทะเบียนมายังกรมการขนส่งทางบก ดังนั้นก็จะมีการสืบสวนแหล่งที่มาว่า เป็นรถที่ขโมยมา หรือ รถเลี่ยงภาษี รวมทั้งสอบสวนกลุ่มมิจฉาชีพที่ร่วมกระบวนการดังกล่าวต่อไป

“เรื่องนี้ทางกรมการขนส่งทางบก ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ยื่นเอกสารเท็จด้วย โดยพบว่ารถที่ถูกเพิกถอนทะเบียนทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดตาก รองลงมาเป็นชลบุรี อ่างทอง กรุงเทพฯ และนครปฐม เป็นต้น ซึ่งจะมีการขยายผลไปยังเครือข่ายต่อไป” อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าว

ด้าน พล.ต.สมศักดิ์ ทรัพย์อนันต์ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2559 ขส.ทบ. ตรวจสอบพบพิรุธการยื่นเอกสารการประมูลรถขายทอดตลาดของ ขส.ทบ.ในช่วงปลายปี 58 เป็นจำนวนมาก โดยเป็นการยื่นเอกสารส่งบัญชีรถแจ้งการประมูลขายทอดตลอด ที่ลงนามโดยเจ้าหน้าที่ ขส.ทบ. ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเพียงคนเดียวทั้ง 9 ฉบับ คือพันเอกภพกฤต พันธ์ยศ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองและจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทะเบียน หรือหมายเลขรถต่างๆ ดังนั้น ขส.ทบ.จึงได้แจ้งให้กรมการขนส่งทางบกทราบ และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้นี้ โดยปัจจุบันได้เสนอ รมว.กลาโหมปลดออกจากราชการ

“รถยนต์ที่ใช้งานแล้วของ ขส.ทบ. จะมีทั้งการขายทอดตลาด แลกเปลี่ยน และทำลาย แต่ภายหลังได้มีการแลกเปลี่ยนและขายมากกว่า โดยผู้ที่มีอำนาจ ลงนามคือ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ไม่มีอำนาจลงนาม และทำเอกสารปลอมขึ้นมาดำเนินการเอง การตรวจสอบพบในครั้งนี้ เพราะมีการดำเนินการหลายครั้ง มีตัวเลขรถที่ขายทอดตลาดจำนวนมาก เนื่องจากปกติจะมีการขายทอดตลาดอยู่ที่ประมาณ 100 คัน/ปี และจะดำเนินการปีละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ ขส.ทบ. ได้ตรวจสอบจนพบความผิดปกติดังกล่าว” พล.ต.สมศักดิ์กล่าว

ขณะที่ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการใช้เอกสารปลอม โดยหลักการยังไม่ถือเป็นคดีพิเศษ เพราะเข้าข่ายเป็นคดีอาญาทั่วไป แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่าจะมีการเชื่อมโยงอย่างไรบ้าง เบื้องต้นพบว่าเป็นกลุ่มไม่ใหญ่ คือ 1.มีเจ้าหน้าที่ของ ขส.ทบ. 1 คน และ 2.คนนอกและข้าราชการภายนอก ขส.ทบ.ส่วนมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าที่ทราบจะเป็นรถที่ราคาเฉลี่ย 500,000 บาท -1,000,000 บาท/คัน ดังนั้นน่าจะมีผู้เสียหายประมาณ 300 ล้านบาท-600 ล้านบาท แล้วแต่ราคารถที่ซื้อไป แต่รถกลุ่มนี้จะถูกกว่าราคาตลาดเป็นต้น

ส่วนนายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า บุคคลที่ร่วมกระบวนการเกี่ยวข้องการดำเนินการครั้งนี้ ไม่น่าเกิน 10 คน ส่วนข้อซักถามที่ว่า กรมการขนส่งทางบกทำไมถึงให้มิจฉาชีพจดทะเบียนรถได้ง่ายนั้น เรื่องนี้มองว่า ขนส่งทางบกจะเน้นหลักฐานเอกสารที่ผู้ที่มาขอจดทะเบียนเป็นหลัก ตอนนั้น ขส.ทบ.มีเอกสารต้นทางมาครบ ขนส่งทางบกจึงให้จดทะเบียน แต่เมื่อมีการตรวจสอบพบการกระทำความผิดทางขนส่งทางบก ก็ไม่นิ่งเฉยดำเนินการอายัดทะเบียนทันที พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง