ก.แรงงาน แจง พ.ร.ก.บริหารจัดการทำงานต่างด้าว หลังผู้ประกอบการคัดค้าน เผย ส่งผลดีต่อนายจ้างและลูกจ้าง อุดช่อง จนท.ขูดรีดเงิน ล่าสุดอยู่ระหว่างยกร่างอนุบัญญัติ

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกอบการคัดค้าน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่า มีการเพิ่มโทษปรับสำหรับนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย สูงถึง 800,000 บาทต่อคน ว่า กรมการจัดหางาน ได้นำข้อมูลและความคิดเห็นหลายๆ ส่วนมาประกอบการพิจารณาตั้งแต่ก่อนเสนอร่าง พ.ร.ก.ต่อ ครม. และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.ก.แล้วเสร็จ ก็มีการสัมมนา รวมทั้งใช้แบบสอบถาม และเว็บไซต์ของกรมฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ 3P คือ การประชาสัมพันธ์ (Public Relations) เผยแพร่และสร้างความเข้าใจกับนายจ้าง แรงงาน และประชาชน เน้นการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยถูกกฎหมาย รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของแรงงานที่จะได้รับ รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุน (Promotion) โดยเปิดโอกาสให้รับแรงงานไทยเข้าทำงานเป็นลำดับแรก ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงระเบียบ ให้เกิดความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย และสุดท้ายคือการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นการตรวจกลุ่มเสี่ยงเป็นลำดับแรก และกำหนดแผนการตรวจสอบสถานประกอบการอย่างเป็นระบบอีกด้วย

ทั้งนี้ ในการยกร่างกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.ก.นั้น ได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาหอการค้า ภาคประชาสังคมต่างๆ มาร่วมให้ความเห็นในการจัดทำร่างด้วย โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ที่ครอบคลุมการบริหารจัดการทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น กำหนดให้นายจ้างรับผิดชอบในการส่งคนต่างด้าวกลับประเทศ ในกรณีเลิกจ้างงานแล้ว กำหนดให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานของคนต่างด้าว เพื่อให้ภาครัฐทราบข้อมูลการจ้างงานที่แท้จริง รวมทั้งกำหนดขอบเขตการทำงาน โดยอนุญาตให้ทำงานได้อย่างถูกกฎหมายในท้องที่นั้นๆ ไม่ยึดติดกับสถานที่ทำงานตามกฎหมายฉบับเดิม ซึ่งจะช่วยลดภาระของนายจ้างได้ รวมทั้งกำหนดให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถจัดการแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...

สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้รัฐบาลเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในกระบวนการยกร่างกฎหมาย เพื่อเพิ่มมุมมองให้เกิดความรอบคอบ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ข่มขู่รีดไถเงินจากนายจ้างและลูกจ้างนั้น ขณะนี้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 อยู่ระหว่างยกร่างอนุบัญญัติ โดยตนเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ที่ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม.