มหาวิทยาลัยมหิดล เผยคำสั่งอนุมัติให้ 13 รองอธิการบดีลาออก พร้อมตั้ง 13 คนเดิมรักษาการ คาด เกี่ยวเนื่องกรณี ป.ป.ช. ให้ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน ยัน ไม่กลัวการตรวจสอบ แต่ไม่เป็นธรรม เพราะออกระเบียบบังคับกลางคัน

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระหว่างวันที่ 3 เม.ย. - 2 พ.ค. 2560 ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีฯ เพิ่มเติมอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ 2. สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ 3. องค์การบริหารส่วนจังหวัด 4. เทศบาลนคร 5. เทศบาลเมือง 6. เทศบาลตำบล และ 7. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่อยู่ในสังกัดรัฐและอยู่ในกำกับรัฐ(ออกนอกระบบ) ป.ป.ช. ได้กำหนดให้รองอธิการบดี ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย

ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) มีคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดลที่ 976/2560 เรื่อง ให้พนักงานมหาวิทยาลัยออกจากตำแหน่งประเภทผู้บริหาร โดย ระบุว่า ตามที่มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งแต่งตั้งรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 13 ราย บัดนี้ บุคคลดังกล่าวมีความประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นสมควรอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งประเภทผู้บริหารได้ตามความประสงค์ จำนวน 13 ราย สั่ง ณ วันที่ 31 มี.ค. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป โดยรองอธิการบดีที่ได้รับการอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งมีดังนี้

1. ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2. รศ.นพ.ประดิษฐ์ สมประกิจ รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและแผนงาน ภาควิชาวิสัญญีวิทยา มม.
3. รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา มม.
4. ศ.คลีนิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา มม.
5. รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
6. รศ.คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มม.
7. ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ มม.
8. ผศ.เชิญโชค ศรขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ภาคิวชาฟิสิกส์ มม.
9. รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มม.
10. รศ.ดร.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มม.
11. ดร.บุญนิตย์ มัธยมจันทร์ รองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มม.
12. นพ.หรรษา แต้ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ สำนักงานอธิการบดี โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มม.
และ 13. นพ.เกษตร อมันตกุล รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ สำนักงานอธิการบดี โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มม.

...

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยยังมีคำสั่งมหาวิทยาลัยมหดิล ที่ 977/2560 เรื่องแต่งแต่งผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี โดยระบุว่าเพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ถูกต้อง และเหมาะสม อธิการบดีจึงเห็นสมควรแต่งตั้งผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ จำนวน 13 ราย ซึ่งรายชื่อ 13 ราย ก็เป็นชื่อเดียวกับที่ลาออก ขณะเดียวกันยังแถลงการณ์เรื่องข้อเท็จจริง คาดว่าการลาออกน่าจะเกี่ยวข้องกับมติ ป.ป.ช. ที่ให้รองอธิการบดีต้องต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า เกิดความยุ่งยากและขัดข้องในด้านการบริหาร เนื่องจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี มิใช่การเติบโตทางสายบริหาร และวาระรองอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัยที่เหลือก็ไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับวาระอธิการบดี จึงมีผู้ยื่นความจำนงลาออก เนื่องจากการแจ้งทรัพย์สิน หนี้สิน เป็นความยุ่งยากและต่อเนื่องระยะยาว ที่สำคัญไม่ทราบเงื่อนไขก่อนมาช่วยงานบริหารว่าจะต้องยื่นรายการทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม การลาออกมิได้เพราะกลัวการตรวจสอบ แต่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ปฏิบัติงาน เพราะออกระเบียบบังคับกลางคัน ส่วนที่ต้องตั้งรักษาการแทน เนื่องจากมีการออกประกาศโดยให้ระยะเวลาตัดสินใจไม่กี่วัน ดังนั้น เมื่อรองอธิการบดีลาออกตำแหน่งจะว่าง และยากที่จะหาผู้มีประสบการณ์มาทำงาน อีกทั้ง การตั้งรักษาการแทนในตำแหน่งต่าง ๆ ทำให้เกิดการเพิ่มภาระงานโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างและการลงนามในสัญญา จนกว่าจะมีผู้ที่อธิการบดีสามารถหามาทดแทนได้.