สวัสดีแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่าน ....คลิปที่ทุกท่านเพิ่งรับชมจบไป ก่อนจะเหวี่ยงสายตาลงมาที่บรรทัดนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ

No Sling - No Stand in

โดยเหตุการณ์สุดระทึกขวัญราวกับภาพยนตร์ Armageddon นี้ อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2013 ที่เมืองเชเลียบินสค์ (Chelyabinsk) ประเทศรัสเซีย

โดยเจ้าสิ่งที่ทำให้เกิดแสงไฟเสียดสีกับอากาศ ในคลิปนี้ ก็คือ

อุกกาบาต ขนาดใหญ่ประมาณ 18 เมตร! ย้ำอีกครั้ง อุกกาบาต ที่มีขนาดใหญ่ ประมาณ 18 เมตร

ซึ่งผลจากการที่มันระเบิดในอากาศ ทำให้สิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายกว่า 3,000 แห่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,500 คน ซึ่งนับว่ายังเป็นโชคดีที่มันระเบิดกลางอากาศ เพราะหากมันตกลงสู่พื้นโลก

จะเกิดความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

เพราะมันจะมีระดับความรุนแรง เท่ากับ ระเบิดนิวเคลียร์ ที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมา 30 ลูก!

...

หากแต่เพียงเท่านี้ มันยังไม่น่าตกตะลึงจนเสียวสันหลัง เท่ากับว่า.... ในวันที่พวกเราชาวโลกสีน้ำเงินมีเทคโนโลยีก้าวไกล ถึงขนาดส่งคนไปเดินบนดวงจันทร์ และล่าสุดมีแผนส่งคนไปดาวอังคาร หรือแม้กระทั่งส่งยานไปสำรวจ ดาวพลูโต ที่อยู่ไกลสุดขอบระบบสุริยะของเราเอง

รวมถึงสามารถสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง จนในปัจจุบัน มีมากพอจนล้างโลกได้ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ

แต่ในคราวนั้น คราวที่มี อุกกาบาต ขนาดใหญ่ยักษ์ถึง 18 เมตร ตกลงมาสู่โลก และเป็นครั้งแรกที่มีรายงานว่ามีมนุษยได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้

เชื่อหรือไม่? ...... ในวันนั้น เมื่อปี 2013 พวกเรา...สิ่งมีชีวิตที่ทรงสติปัญญามากที่สุดในโลกสีน้ำเงินใบนี้

ไม่รู้อะไรเลย ..... ไม่รู้ตัวล่วงหน้า.... ไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ....ไม่มีใครในโลก พบเห็นมหันตภัยจากนอกโลกนี้เลย

อย่านึกว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ....เพราะเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ดาวเคราะห์น้อย ขนาดใหญ่ประมาณ 10 กิโลเมตร ได้พุ่งเข้าชนโลก จนทำให้ ไดโนเสาร์ ที่เคยครองพื้นพิภพก่อนมนุษยชาติ ต้องสูญสิ้นเผ่าพันธ์ุมาแล้ว

ตราบมาจนทุกวันนี้ หลักฐานถึงการมาของ มหันตภัยร้ายจากนอกโลก ยังมีปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างเด่นชัด เป็นหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ อยู่ใต้เมืองชิคซูลับ (Chicxulub) ประเทศเม็กซิโก ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ใต้อ่าวเม็กซิโก โดยมีปากหลุมกว้างอย่างน่าตกตะลึงถึง 200 กิโลเมตร ปากหลุมอยู่ใต้ดินลึก 20 กิโลเมตร!

และแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ทราบหรือไม่? ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ อีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมี ดาวเคราะห์น้อย ขนาด 1 กิโลเมตร และ 68 เมตร พุ่งเข้าเฉียดโลกอย่างน่าชวนเสียวไส้

และ...ในวันที่ 1 ก.พ. ปี 2019 หรืออีก 2 ปี นับจากนี้...มนุษยชาติอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างสูงสุด เพราะมีดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ถึง 2 กิโลเมตร จะพุ่งเข้าเฉียดโลก และหากมันเกิดจับพลัดจับผลูเปลี่ยนเส้นทางมาชนโลกของเรา จะมีอานุภาพความรุนแรง เท่ากับ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา 100 ล้านลูก!

ทวีปทั้งทวีป อาจหายไปจากแผนที่โลกได้...

...


เอาล่ะใจเย็นๆ ก่อน แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่าน ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ควรจะได้มีการสอบทานกับกูรู ผู้เป็นขาประจำของ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในการมาตอบข้อสงสัยต่างๆ นานา ที่เกี่ยวข้องกับวงการวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ของประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

ไฉนปี 2016 อุกกาบาต หรือ ดาวเคราะห์น้อย พุ่งเฉียดโลกถี่ผิดปกติ ฤาจะเกิดเหตุการณ์วันดับโลก!

หลังจบคำถามนี้ อ.ชัยวัฒน์ หัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนคลี่ริมฝีปาก เลกเชอร์ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า

“จริงๆ แล้ว ธรรมชาติไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย!”

...เพียงแต่ จำนวนการค้นพบ อุกกาบาต หรือ ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ที่เข้าใกล้โลก หรือ เฉียดโลก มากขึ้นในปี 2016 ที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากการที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ และมีเครือข่ายสำหรับการเฝ้าระวังอันตรายจากนอกโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถตรวจจับและบันทึกอันตรายที่จะมาจากนอกโลก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยล้างเผ่าพันธ์ุไดโนเสาร์ให้หมดสิ้นไปจากดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้มาแล้ว... ได้มากขึ้นๆ

นอกจากนี้ ...ในข้อเท็จจริง โลกสีน้ำเงินใบงามของเรานี้ ในทุกๆ ขณะ “มันก็ถูกชนอยู่ตลอดเวลา”

แต่เหตุ...ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตกระดูกสันหลังตั้งฉาก 90 องศากับพื้นโลก เพียงสปีชีส์เดียวบนพื้นพิภพนี้ ไม่รู้สึกอะไรถึงการถูกพุ่งชน ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า “ตลอดเวลา” นั้น เป็นเพราะที่ผ่านมา วัตถุที่พุ่งเข้าชนส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เช่น อุกกาบาตขนาดเล็ก วัตถุเล็กๆ ในอวกาศ หรือแม้กระทั่ง ขยะอวกาศ

...

ซึ่งวัตถุที่มีขนาดเล็กแบบนี้ เมื่อเข้าสู่บรรยากาศของโลก ก็จะถูกเผาไหม้จนเป็นจุณไปหมด 

แต่หากเป็นพวกที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาอีกนิดนึง แต่มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 1 กิโลเมตร นั้น แม้จะพุ่งเข้ามาได้ แต่เมื่อเข้าถึงชั้นบรรยากาศ ก็จะเสียดสีกับบรรยากาศจนเกิดการลุกไหม้ มีแสงวาบขึ้นบนท้องฟ้า สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา หรือ ที่เรียกจนชินปากว่า “ดาวตก” นั้น ก็มิได้ก่อให้เกิดอันตราย หรือ สร้างความเสียหายได้แต่อย่างใด

ด้วยเหตุที่เมื่อมันเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ก็จะถูกเผาไหม้ไปในอากาศจนหมด ก่อนที่จะตกลงบนผืนโลก หรือ หากตกลงมาบนพื้นโลกได้ ก็จะเหลือขนาดที่เล็กมากๆ จนไม่ได้เป็นอันตรายนั่นเอง!

ขณะเดียวกันในปัจจุบันโลกของเรายังมี โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลก (Near earth object program) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายทางดาราศาสตร์หลายแห่งทั่วโลก โดยมีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) เป็นหัวเรือใหญ่ คอยรายงานสรุปถึงดาวเคราะห์น้อย หรือ อุกกาบาตต่างๆ ทั้งที่พุ่งเข้าใกล้ เฉียด หรือพุ่งชนโลก ซึ่งเครือข่ายทั่วโลกสามารถตรวจจับได้ รายงานขึ้นบนเว็บไซต์ http://neo.jpl.nasa.gov/ อยู่โดยตลอด

...

“ซึ่งเท่าที่ผมได้ติดตามอยู่ พบว่า มันมีรายงานถึงการมาของวัตถุเหล่านี้อยู่แทบทุกวัน” อ.ชัยวัฒน์ บรรยายด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

แต่อย่างไรก็ดี....ก็ใช่ว่า จะสามารถวางใจได้สักทีเดียวหรอก! ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ทิ้งน้ำเสียงให้ชวนติดตาม

2019 ปีสุดระทึก ดาวเคราะห์น้อย 2 กิโลเมตร เสี่ยงชนโลก อานุภาพทำลายทวีปได้ทั้งทวีป

เพราะหากใครจำได้ เมื่อปี 2002 มีการตรวจพบ ดาวเคราะห์น้อย ชื่อ “2002 NT7” ขนาดใหญ่ประมาณ 2 กิโลเมตร มีวงโคจรที่อาจพุ่งเข้าชนโลกในวันที่ 1 ก.พ. ปี 2019 ซึ่งหากมันพุ่งเข้าชนโลกขึ้นมาจริงๆ จะมีความรุนแรงเท่ากับ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา 100 ล้านลูก!

พูดง่ายๆ ว่า ความรุนแรงของการเข้าชน มีมากพอที่จะทำให้ทวีปทั้งทวีปหายไปจากแผนที่โลกได้เลย!

เสียวสันหลัง จนน่าจะเสียจริตเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดี มนุษย์โลกก็สามารถสูดหายใจคล่องคออย่างเป็นสุข เมื่อ NASA ออกมาประกาศแล้วว่า จากข้อมูลล่าสุดที่ได้รับ เมื่อนำไปคำนวณวิถีโคจรของมันใหม่อย่างละเอียดแล้ว พบว่า เจ้า “2002 NT7” ไม่ได้มีวิถีโคจรที่จะพุ่งเข้าโหม่งแล้ว

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อความไม่ประมาท นักดาราศาสตร์ยังคงมีการเฝ้าติดตามมันอยู่ เพื่อระแวดระวังภัยต่อไป

ดาวเคราะห์ยักษ์ 34 เมตร พุ่งเฉียดโลก ตะลึงรู้ตัวก่อนแค่ 2 วัน

เพราะเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ที่ถูกตั้งชื่อในเวลาต่อมาว่า “2017 AG 13” ซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่ระหว่าง 11-34 เมตร พุ่งเข้าเฉียดโลกในระยะห่างที่น่าชวนเสียวไส้

เพราะระยะเฉียดที่ว่านั้น (ระยะทาง) มันใกล้กว่าการเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ครึ่งทางเสียอีก

และที่น่าตกใจมากไปกว่านั้น คือ ผู้ครองโลกต่อจากไดโนเสาร์ เช่นเราๆ ท่านๆ ดัน เพิ่งตรวจพบ และรู้ตัวก่อนการมาถึงของมหันตภัยลูกใหญ่นี้ เพียงแค่ 2 วัน ก่อนที่มันจะพุ่งเข้าเฉียดโลกเท่านั้น!

เฝ้าจับตา 24 ม.ค. และ 26 ม.ค. มี 2 ดาวเคราะห์บิ๊กเบิ้ม พุ่งเฉียดโลก

อ.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในเดือนมกราคม ปี 2017 นี้ เฉพาะวันที่ 16 มกราคมเป็นต้นไป พบว่า จะมีดาวเคราะห์น้อยพุ่งเฉียดเข้าใกล้โลกประมาณถึง 20 ดวง

โดยในจำนวนนี้ มีที่น่าสนใจคือ เจ้าดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า “2002 LS32” มีขนาดใหญ่ประมาณ 610 เมตร ถึง 1.4 กิโลเมตร ที่จะเฉียดเข้าใกล้โลก โดยจะอยู่ห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์ประมาณ 54 เท่า ในวันที่ 24 มกราคมที่จะถึงนี้...

และต่อมา ในวันที่ 26 ม.ค. ดาวเคราะห์น้อย “2017 AK3” ที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 30 ถึง 68 เมตร จะเฉียดโลก โดยอยู่ห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์เพียง 11 เท่า

เจ้า 2 ดวงนี้ เรายังต้องเฝ้าจับตาดูมันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมันมีขนาดใหญ่เกินกว่า 10 เมตรขึ้นไป หากมันตกถึงพื้นโลกได้ จะทำให้มีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง!

หากมันเกิดเปลี่ยนทิศ พุ่งเข้าชนโลก จะเกิดอะไรขึ้น?

มันก็ขึ้นอยู่กับว่า มันพุ่งเข้าชนโลกในลักษณะอย่างไร?...จอมนักวิทยาศาสตร์ย้อนถาม...ก่อนเลกเชอร์ต่อไปว่า

หากมันพุ่งเข้าชนตรงๆ หรือ ทำมุม 45 องศา กับ เส้นทางโคจรของโลก แบบนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ เพราะมันจะสามารถตกลงมาบนพื้นโลกได้ หากมันเผาไหม้ไม่หมด!

พูดง่ายๆ....ก็คือ จะเป็นแบบนั้นได้ แน่นอน อุกกาบาต หรือ ดาวเคราะห์น้อย ต้องมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งพอมันพุ่งเข้าชนพื้นโลก จะเท่ากับความรุนแรงของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา 1 ล้านลูก!

แต่หากมันชนแบบเฉียดๆ เช่น แค่เฉียดบรรยากาศโลกแบบนี้ มันก็อาจจะแค่เผาไหม้ไป หรือ ไม่ตกลงมาบนพื้นโลกเลย และหากมันยังเผาไหม้ไม่หมด มันก็อาจจะเคลื่อนที่ของมันต่อไปได้

ตะลึง! เทคโนโลยีมนุษยชาติ ตรวจจับมหันตภัยนอกโลก ได้แค่ไม่ถึง 20%

ด้วยเทคโนโลยีและงบประมาณที่มีในปัจจุบัน มนุษย์เราสามารถตรวจจับ หรือพูดง่ายๆ ว่า สามารถล็อกเป้าหมายดาวเคราะห์น้อยต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อการพุ่งเข้าชนโลก ซึ่งแน่นอน มันจะต้องมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไปนั้น ปัจจุบันวงการดาราศาสตร์โลกคาดว่า มีดาวเคราะห์น้อยมฤตยูที่เข้าข่ายและมีวงโคจรเฉียดเข้าใกล้โลกถึงหลายพันดวง!

แต่....ถึงปัจจุบัน พบแล้วประมาณหนึ่งพันดวง 

อืม...มนุษยชาติเรามัวแต่เอางบประมาณไปสะสมอาวุธนิวเคลียร์ แทนที่จะเอามาทุ่มเทการระวังป้องกันเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือนี่?......

“....แต่ใจเย็นๆ กันก่อน....” อ.ชัยวัฒน์ หัวเราะอย่างอารมณ์ดี เมื่อเห็นสีหน้าทีมข่าวฯ​ เจื่อนลงๆ ก่อนเริ่มเลกเชอร์ให้ฟังต่อไปว่า

....คือต้องพูดแบบนี้ก่อน ดาวเคราะห์น้อยที่จะเป็นอันตรายหากมันพุ่งเข้าใส่โลกคือ ที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไป ถูกไหม? แต่ในปัจจุบัน นอกจากวงการดาราศาสตร์ทั่วโลกจะหันมาร่วมมือกันมากขึ้นแล้ว เทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจจับและรับมือหรือป้องกันโลก ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นส่วนตัวมั่นใจว่า หากมีมหันตภัยล้างเผ่าพันธุ์จากนอกโลก ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่า 1 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งหากมันชนโลก จะมีความรุนแรงเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมากว่า 1 ล้านลูก พุ่งเข้ามาจริงๆ

“มนุษยชาติจะต้องรู้ตัวก่อน และจะต้องมีวิธีการที่จะรับมือมันได้อย่างแน่นอน!” อ.ชัยวัฒน์ กล่าวอย่างมั่นใจ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2016 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้ วันที่ 30 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวัน Asteroid Day หรือ วันดาวเคราะห์น้อย อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ชาวโลกหันมาตระหนักถึงมหันตภัยร้ายที่มาจากนอกโลก ซึ่งอาจจะล้างเผ่าพันธ์ุสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่งบนโลกสีน้ำเงินใบนี้ เหมือนดั่งที่มันได้เคยทำกับสัตว์ขนาดมหึมาที่มีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์หลายร้อยเท่ามาแล้ว เมื่ออดีตกาล

ทำไมต้องวันที่ 30 มิถุนายน มีเหตุการณ์อะไรสำคัญ เกี่ยวกับ มหันตภัยจากนอกโลก?

“มันมีที่มาแบบนี้....” อ.ชัยวัฒน์ ขยับแว่นเล็กน้อย ก่อนเล่าประวัติของ วันดาวเคราะห์น้อย ว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.1908 หรือเมื่อ 100 ปีก่อน โลกของเราถูกชนโดยดาวหาง จนทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง เหนือทุ่งทังกัสกา ในไซบีเรีย

แต่ยังโชคดีที่การชนในครั้งนั้น เป็นการพุ่งเข้าชนแล้วเกิดการระเบิดกลางอากาศ ไม่ได้เป็นการระเบิดเมื่อสัมผัสกับพื้นโลก จึงทำให้ไม่มีหลุมอุกกาบาต แต่แรงระเบิดได้สร้างความเสียหายกินพื้นที่ป่า กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร และแสงสว่างจากแรงระเบิดเหนือไซบีเรียนั้น ว่ากันว่าแม้แต่คนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้ในเวลากลางคืน!

“คิดเล่นๆ ดูสิว่า มันมีอานุภาพมากน้อยแค่ไหน?”

ดาวเคราะห์น้อย เทียบ ดาวหาง แบบไหนน่ากลัวกว่ากัน?

อ.ชัยวัฒน์ ตอบทันทีแทบจะไม่ต้องคิด... ดาวเคราะห์น้อย น่ากลัวมากกว่า เพราะมีอยู่จำนวนมาก เมื่อมีจำนวนมาก ก็ย่อมมีบางส่วนรอดหูรอดตาการตรวจจับ ทำให้บางครั้ง เมื่อมันเฉียดเข้าใกล้โลก บางทีเราก็รู้ตัวก่อนล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน หรือบางทียังไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำไป ก็มีให้เห็นมาแล้ว! และบางครั้ง... แม้แต่ขนาดของมัน เราก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน เพราะเห็นเฉพาะแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์!

ดาวหาง