วงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทย ต้องสูญเสียปูชนียบุคคลไปอีกหนึ่ง ครู "ลพ บุรีรัตน์" สิ้นใจอย่างสงบที่ รพ.จุฬาภรณ์ ด้วยวัย 78 ปี เผยโลดแล่นอยู่ในวงการตั้งแต่หนุ่ม แต่งเพลงไว้กว่า 3 พันเพลง เป็นผู้ที่ทำให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ โด่งดังสุดขีด...
วันที่ 11 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิเชียร คำเจริญ หรือ "ลพ บุรีรัตน์" บรมครูนักแต่งเพลงชื่อดังที่ล้มป่วยด้วยอาการปอดอักเสบและเนื้องอกในตับ ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 78 ปี ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
สำหรับนายวิเชียร คำเจริญ หรือ ลพ บุรีรัตน์ เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนในวงการลูกทุ่ง เคยเป็นนักดนตรีในวงดนตรีจุฬารัตน์ ในชื่อ "กนก เกตุกาญจน์" ที่ผ่านมาชั่วชีวิตได้แต่งเพลงไว้ถึงกว่า 3,000 เพลง ทำเพลงให้นักร้องโด่งดังมามากมาย ถือเป็นปูชนียบุคคลและต้นแบบของนักแต่งเพลง ได้ชื่อว่า ขุนพลเพลงสนุก จนได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในปี 2548 เป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ราชินีลูกทุ่ง จากเพลง สาวนาสั่งแฟน, อื้อฮือ หล่อจัง, กระแซะเข้ามาซิ, ดาวเรืองดาวโรย, นัดพบหน้าอำเภอ
ลพ บุรีรัตน์ หรือวิเชียร คำเจริญ เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม 2482 ที่บ้านบางมะยม ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสิงหฤกษ์ประสิทธิ์ที่อำเภอท่าวุ้ง และจบสายวิชาชีพแผนกช่างตัดผมจากโรงเรียนการช่างลพบุรี ด้วยบุคลิกชื่นชอบการฟังและขับร้องเพลงมาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงมีความปรารถนาที่จะเป็นนักร้องและนักแต่งเพลง จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสมัครเข้าวงดนตรีต่างๆ แต่ด้วยความที่เป็นคนน้ำเสียงไม่ดี รูปร่างไม่หล่อ จึงไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องกลับมาบ้านอยู่หนึ่งปี
...
จนเมื่อปี พ.ศ. 2502 วงดนตรีกรุงเทพแมมโบของบังเละ วงศ์อาบูมาเปิดการแสดงที่ลพบุรี จึงได้มาฝากตัว ในที่สุดก็มีโอกาสได้พบกับครูไพบูลย์ บุตรขัน และสมัครเป็นลูกศิษย์เรียนการเขียนเพลง ภายหลังได้ทดลองแต่งเพลงในแนวเพลงหวานชื่อเพลง "กอดหมอนนอนเพ้อ" (ต่อมาทูล ทองใจเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้) ให้ครูไพบูลย์ดู ครูไพบูลย์ชื่นชมในลีลาการแต่งเพลงจึงได้เขียนจดหมายฝากตัวให้ถือไปให้ครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงดนตรีจุฬารัตน์ เนื้อความตามลายมือหมึกสีแดง ครูไพบูลย์เขียนว่า
"ฝากเข้าประจำในตำแหน่งแต่งเพลง ร้องเพลงพอใช้"
ครูมงคลรับเข้าวงดนตรีจุฬารัตน์ โดยใช้ชื่อในวงว่า กนก เกตุกาญจน์ แต่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหนังสือที่ระลึกและยืนคุมประตูเก็บค่าเข้าชม ภายหลังครูไพบูลย์จึงได้แต่งเพลง "ลิเกสมัครเล่น" ให้ร้องเมื่อปี พ.ศ. 2506 ก่อนจะตั้งชื่อให้ใหม่เป็น "ลพ บุรีรัตน์" เมื่อปี พ.ศ. 2514 จนเมื่อครูมงคลได้ยุบวงดนตรีจุฬารัตน์ในปี พ.ศ. 2516 ครูลพ บุรีรัตน์ จึงได้หันมาแต่งเพลงเอง อัดเสียงเองในแนวเพลงตลกอย่าง "โนราห์หาย" "เดี๋ยวหม่ำเสียหรอก" อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะหันไปเอาดีด้านแต่งเพลงเพียงอย่างเดียวในเวลาต่อมา
ครูลพ บุรีรัตน์ ถูกตรวจพบว่ามีเชื้อราในปอด และพบก้อนเนื้อที่ตับขนาดใหญ่ หลังเข้าตรวจรักษาที่ รพ.บางโพ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา แพทย์ตรวจเลือดพบสารบ่งชี้มะเร็ง หลังจากนั้นได้ล้มป่วย จนล่าสุดเข้ารักษาตัวที่ รพ.จุฬาภรณ์ และสิ้นใจจากไปอย่างสงบ ในช่วงสองทุ่มคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2559 ในวัย 78 ปี กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการลูกทุ่งไทย.