หลายครั้งหลายหนที่คนไทยต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการ ฉะนั้นเอกสารที่ใช้ในการดำเนินงานต่างๆ ถือว่าสำคัญเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งการเฝ้ารอฟังข่าวสำคัญจากทางหน่วยงานราชการต่าง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารหรือแถลงการณ์ สิ่งหนึ่งที่จะสามารถยืนยันความถูกต้องของเอกสารเหล่านั้นได้คือ "ตราครุฑ" บางคนถึงกับพูดว่า ไม่เห็นตราครุฑจะไม่เชื่อเด็ดขาด คนจำนวนไม่น้อยคงสงสัยว่า ทำไมตราครุฑ ถึงเข้ามามีบทบาทกับงานราชการ ที่มาที่ไปเกี่ยวกับเรื่องการใช้รูปครุฑเป็นมาอย่างไร ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ค้นคว้าความหมายและที่มาของตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมาให้ประชาชนได้ทราบกัน

...

ครุฑ เป็นสัตว์กึ่งเทพ มีบทบาทปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายต่อหลายเรื่อง นับตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณเล่ากันว่า ครุฑกับนาคเป็นพี่น้องต่างมารดา วันหนึ่งทั้งสองมีเหตุให้ผิดใจกัน จนกลายเป็นศัตรูต่อกันในเวลาต่อมา คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันในฐานะที่ ครุฑ เป็นพาหนะของพระนารายณ์ จากตำนานที่ว่า พระนารายณ์ได้สู้รบกับพญาครุฑ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระนารายณ์ให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และกลายเป็น ธงครุฑพ่าห์ สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า

ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงมีการสร้าง รูปครุฑพ่าห์ หรือ รูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้น ไทยได้รับลัทธิเทวราชาของอินเดีย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ คือ อวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น

พระราชลัญจกรครุฑพ่าห์ ถูกใช้เป็นตราประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และหนังสือราชการแผ่นดิน มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาจึงมีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือราชการทั่วไป เพื่อทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ส่วนครุฑที่เป็นธงแทนพระองค์พระมหากษัตริย์ เรียกว่า ธงมหาราช เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ธงนี้จะเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่า พระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น

สำหรับ ครุฑ ที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงมีอยู่ 3 ลำ คือ เรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน

...

นอกเหนือจากการที่ตราครุฑ จะปรากฏในส่วนราชการต่างๆ แล้ว ภาคเอกชนสามารถรับพระราชทานอนุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการด้วย โดยเริ่มมีตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นตราอาร์ม มีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราครุฑพ่าห์ ปัจจุบัน ต้องยื่นคำขอพระราชทานตราต่อสำนักพระราชวัง เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวังเรียกคืนเนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานตาย หรือเลิกประกอบกิจการ หรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ

ทั้งนี้ ครุฑ ยังเข้ามามีบทบาทกับราชการไทย เนื่องจากภาพลักษณ์ของครุฑ ทรงอำนาจมีความเป็นอมตะ และเชื่อกันว่าสามารถป้องกัน สิ่งชั่วร้ายต่างๆ นานาได้.