ในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ที่ฝนฟ้าทำท่าจะตก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นัดสัมภาษณ์กับสุภาพสตรีสูงวัยคนหนึ่ง ณ ย่านที่เป็นแหล่งรวมวัยรุ่นใจกลางกรุงเทพฯ สถานที่นั้นก็คือ ‘สยามสแควร์’
ท่ามกลางวัยรุ่นหญิงชายที่เดินสวนกัน ท่ามกลางแหล่งช็อปปิ้งสุดฮิต ท่ามกลางสิ่งรายล้อมที่ดูทันสมัย แต่สถานที่หนึ่งที่ทีมข่าวฯ กำลังจะมุ่งหน้าเดินตรงเข้าไป กลับเป็นสถานที่สุดคลาสสิกในยุคสมัยที่ผู้เขียนยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ แต่แปลก! แปลกตรงที่ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกถึงความเชยของสถานที่นี้แม้แต่นิดเดียว ตรงกันข้ามกลับรู้สึกว่า เฮ้ย! เจ๋งอ่ะ! รู้สึกเหมือนได้ย้อนยุคไปในสมัย 60’ 70’ ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวถูกอนุรักษ์ทะนุถนอมไว้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นตัวตนของเจ้าของสถานที่ว่าเป็นคนอย่างไร
ทีนี้รู้กันแล้วหรือยังว่า ทีมข่าวฯ เดินทางมาที่ไหน? ... เฉลยเลยแล้วกันว่า ที่แห่งนี้ คือ ‘โรงหนังสกาลา’ โรงหนังที่มีนิตยสารต่างประเทศยกให้เป็นโรงหนังที่สวยที่สุดในโลก และเพิ่งจะได้รับรางวัล สถาปัตยกรรมดีเด่น 2555 จาก สมาคมสถาปนิกสยาม อีกด้วย
...
เริ่มพลิกเศษดินเป็นแผ่นทอง สร้างโรงหนังกลางสวนฝรั่ง ชุมชนแออัด
จนในที่สุดเราก็ได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เรานัดไว้ เธอคือ คุณนันทา ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ ผู้ที่เกิดและโตในโรงหนัง มีโรงหนังเป็นเหมือนบ้าน มีพนักงานขายตั๋ว พนักงานเดินตั๋ว คนขายข้าวโพดคั่ว เป็นเหมือนคนในครอบครัว เธอบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโรงหนังสยาม ลิโด และสกาลา ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า “ช่วงนั้น บริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ของคุณกอบชัย ซอโสตถิกุล ได้ติดต่อมายังคุณพ่อ พิสิฐ ตันสัจจา เพื่อให้สร้างโรงหนังบริเวณนี้ เนื่องจากประสงค์อยากจะพัฒนาที่ดินถนนพระราม 1 ซึ่งก่อนหน้านั้น คุณพ่อได้ทำโรงหนังศาลาเฉลิมไทย จนประสบความสำเร็จมาแล้ว
ที่ตรงนี้ ณ เวลานั้นไม่มีอะไรเลย ฝั่งตรงข้ามที่เป็นสยามเซ็นเตอร์เมื่อก่อนเป็นสวนฝรั่ง ส่วนฝั่งเดียวกันมีบ้านเรือนหลังเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นชุมชนแออัด ตอนที่คิดจะสร้างโรงหนังที่นี่ มีแต่คนถามว่าอยู่ได้ยังไง เพราะมันไม่มีอะไรเลย ทำให้พนักงานที่นี่เวลาจะกินอาหาร จะต้องไปถึงประตูน้ำ หรือไม่ก็สามย่าน และด้วยความที่มีรถเมล์ผ่านสายเดียว คงกลับมาไม่ทันแน่ๆ สุดท้ายเราเลยต้องผูกปิ่นโตให้พนักงานกินแทน (หัวเราะ)”
44 ปี โรงหนังสยาม เฝ้ามองตั้งแต่เกิด รุ่งเรือง จนวันที่สูญสิ้น
จนในที่สุด โรงหนังสยาม โรงหนังแห่งแรกในย่านสยามสแควร์ก็เปิดฉายในวันที่ 15 ธ.ค. 2509 ด้วยความจุ 800 ที่นั่ง ซึ่งเดิมทีจะใช้ชื่อว่า โรงหนังจุฬา แต่เนื่องจากไปพ้องกับพระนามในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ จุฬาลงกรณ์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นโรงหนังสยามแทน โดยได้เปิดฉายหนังเรื่องแรกคือ รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge) ปรากฏว่า ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย มีการทุ่มทุนสร้างรถถังคันใหญ่ไว้บนโรงหนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากในสมัยนั้น ส่วนค่าตั๋วหนัง ราคา 10, 15 และ 20 บาท
...
แต่น่าเสียดายที่เด็กๆ รุ่นหลังจากนี้ไม่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศของโรงหนังสยาม เพราะสิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้เกิดขึ้นมาหลังจากนั้น 44 ปี …
ปี 2553 เกิดเหตุจลาจลจากการชุมนุมทางการเมือง มีกลุ่มบุคคลลอบวางเพลิงโรงหนังสยามจนมอดไหม้ คุณนันทา ถ่ายทอดความรู้สึกวันนั้นด้วยสายตาแห่งความเจ็บปวดว่า “โรงหนังเป็นเหมือนบ้าน เราเห็นตั้งแต่ลงเสาเข็มต้นแรก เห็นเขาค่อยๆ เกิดมา เห็นความสวยงาม เห็นความรุ่งเรืองของเขา และผลสุดท้ายก็เห็นวันที่เขาตายลงต่อหน้าต่อตา เมื่อไฟไหม้จนหมด ทาง จุฬาฯ ได้มีจดหมายมายกเลิกสัญญา และขอให้ชำระเงินทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ ตอนนั้นรู้สึกหมดใจ เราจะเอาเงินที่ไหนมาให้ แม้แต่เงินในเซฟยังกรอบไปด้วยเลย แล้วจะให้เราทำยังไง ถ้าจะเอาจริงๆ คงต้องเอาตัวเราไปแล้วกัน เพราะไม่มีอะไรให้ โรงหนังก็เพิ่งจะรีโนเวตรับปีใหม่ แต่ก็ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 5 แสนบาท และจาก กทม. อีก 1 แสนบาท เทียบกับมูลค่าความเสียหายหลักร้อยล้านบาทไม่ได้เลย”
...
คนคอเดียวกันต้อง ‘ลิโด’ เปิดโอกาสฉายหนังของเด็กหน้าใหม่
หลังจากก่อตั้งโรงหนังสยามได้ปีกว่า โรงหนังลิโดก็ถือกำเนิดขึ้นมาในวันที่ 27 มิ.ย. 2511 ซึ่งชื่อของโรงหนังลิโด คุณพิสิฐ ตั้งจากชื่อสถานที่หนึ่งที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำหรับด้วยความจุนั้น สามารถจุได้มากถึง 1,000 ที่นั่ง และมีการเปิดฉายหนังเรื่องแรก คือ ศึกเซบาสเตียน (Games For San Sebastian) ก็ประสบความสำเร็จไปอีกแห่งเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่า คนรุ่นนั้นไม่มีใครไม่รู้จักสยามสแควร์ หากใครสนใจ หรืออยากได้อะไรใหม่ๆ ต้องมาที่นี่
คุณนันทา เล่าถึงโรงหนังแห่งที่สองในย่านสยามสแควร์ว่า “ลิโด เป็นโรงหนังขนาดเล็ก และเป็นโรงที่มักจะฉายหนังทางเลือกอยู่มาก คนที่มาดูที่ลิโดเราจะรู้จักกัน คุ้นหน้ากัน เหมือนกับเป็นคนคอเดียวกัน เดินสวนกันไปมาอยู่บ่อยครั้ง บางคนแนะนำเราด้วยซ้ำว่า อยากดูหนังเรื่องนั้นจัง หรือถ้าไม่ดีเขาก็จะมาบอกว่าไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลย มีหนังเรื่องอื่นบ้างไหม โรงหนังเรามีความเป็นกันเองมาก อยากดูอะไรก็มาบอก เดี๋ยวเราจะหามาให้
...
ส่วนเหตุผลที่คนทำหนังหน้าใหม่อยากจะเอาหนังมาฉายกับเรา เพราะว่าเรามีความรู้สึกว่า ควรจะให้โอกาสคนรุ่นใหม่ เผื่อในอนาคตเขาอาจจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้กำกับ หรือคนที่มีชื่อต่อไปก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่มีโอกาสแสดงผลงานของเขา เมื่อไหร่เขาจะเติบโต อันนี้เป็นความรู้สึกที่อยากสนับสนุนพวกเขา อะไรที่เราทำให้ได้เราจะทำ ขณะที่ ค่าเช่า เราพยายามเก็บไม่แพงให้เขาอยู่ได้ เพียงแค่มาช่วยต้นทุนของเราก็พอ พวกเขาถึงไม่ไปที่อื่น ซึ่งในแต่ละเดือนก็มีมาไม่เยอะมาก อย่างหนังสั้นจะมีปีละหน”
กระทั่งเมื่อปี 2536 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงหนังลิโด จึงต้องปิดปรับปรุงใหม่จากที่มีเพียง 1 โรง ได้ปรับให้เล็กลงเป็น 3 โรง โรงที่ 1 ความจุ 147 ที่นั่ง โรงที่ 2 ความจุ 243 ที่นั่ง และโรงที่ 3 ความจุ 243 ที่นั่ง ขณะที่ พื้นที่ด้านล่างโรงหนังยังได้เปิดให้ร้านค้าเล็กๆ เช่าที่ขายของ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าเช่าที่ของโรงหนังอีกด้วย
ระบบเสียงชั้นยอด ให้ความรู้สึกร่วม ต้อง ‘สกาลา’ โรงหนังที่สวยที่สุด
โรงหนังสกาลาใช้เวลาการสร้างปีกว่า เปิดปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2512 ความจุ 1,000 ที่นั่ง (ปัจจุบันเหลือ 876 ที่นั่ง) เปิดฉายหนังเรื่องแรก คือ สองสิงห์ตะลุยสิบทิศ (The Undefeated) เนื่องด้วย คุณพิสิฐ มีความคิดอยากจะสร้างโรงหนังที่สวยที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ จึงได้สร้างโรงหนังสกาลาขึ้นมา โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก เอามารวมกันไว้ให้อยู่ในที่เดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีปูนปั้นลอยตัวที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ซึ่งมีทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย รวมอยู่บนผนัง และเมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะมีโคมไฟแชงกาเรียจากอิตาลี คอยทำหน้าที่ต้อนรับผู้ชมที่กำลังเดินขึ้นบันไดด้านหน้า ความอลังการ ความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นที่มาของชื่อโรงหนังสกาลา ที่หมายถึง บันได นั่นเอง
“โรงหนังสกาลา ต้องบอกว่าเป็นโรงหนังที่สวยที่สุด ระบบเสียงไม่เคยแพ้ใคร เราตามปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่ามีอะไรก็ใส่เข้าไปในโรงของเรา ถึงได้บอกว่าถ้าเป็นหนังที่ใช้เทคนิคมากๆ ให้มาดูที่สกาลา ไม่ต้องไปดูที่อื่น เพราะว่าที่นี่จะได้บรรยากาศ ได้ความรู้สึกดีกว่าที่อื่น เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในนั้นเลย”
คอลัมน์ ‘สยามสแควร์’ สู่นามเรียกขานแหล่งวัยรุ่น
เพราะการโปรโมตโรงหนังของคุณพิสิฐ นั่นก็คือการทำสูจิบัตรข่าวภาพยนตร์แจก เพื่อจะแจ้งว่า ทั้ง 3 โรงนี้ มีหนังอะไรฉายบ้าง โดยมีนักเขียนที่โด่งดังในยุคนั้น เช่น วิลาศ มณีวัต, พอใจ ชัยเวฬุ มีการเขียนวิจารณ์ด้านบันเทิงต่างๆ และมีคอลัมน์ซุบซิบคอลัมน์หนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า ‘สยามสแควร์’ จึงเป็นที่มาของนามเรียกขานย่านนี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สายเลือดผู้ฉายหนัง เผย สิ่งสำคัญที่สุดของโรงหนัง คือ การดูหนัง!
เรียกได้ว่า เป็นสายเลือดแห่งการสร้างโรงหนังก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ยุคของ คุณพิสิฐ ผู้เป็นพ่อ เรื่อยมาจนกระทั่งยุคของลูกสาวอย่าง คุณนันทา ในวัย 71 ปี สืบทอดเจตนารมณ์อันดีมาโดยตลอด ด้วยความที่โตในโรงหนัง ภาพความทรงจำของเธอจะเห็นแม่หอบหมอน ผ้าห่ม มาให้เธอนอนอยู่บนเก้าอี้โรงหนัง ดูไปหลับไปตามประสาเด็ก ส่วนพ่อกับแม่จะนั่งคัดเลือกหนังต่างๆ เพื่อที่จะมาฉายในโรงของตระกูล และแน่นอนว่าจะคัดเลือกหนังก็ต้องดูหนังในโรงหนัง โดยจะต้องรอผู้ชมออกไปจนหมดแล้ว ซึ่งก็คือ หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป กระทั่งช่วงหลังมีห้องฉายหนังเป็นลิตเติลเธียเตอร์ เลือกดูตอนไหนก็ได้เพราะมีคนฉายให้ดูตลอด ขณะที่ ปัจจุบันเป็นแผ่นเล็กๆ ทำให้สะดวกกว่าสมัยก่อนมาก แต่ก็ไม่ได้อรรถรสเท่าเมื่อครั้งที่ต้องคัดเลือกในโรง
“ครอบครัวของเราเกิดมาจากโรงหนัง ทำมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อจนมายุคเรา ตั้งแต่เด็กๆ จนแก่ก็ทำแต่โรงหนัง เหมือนว่ามันอยู่ในเลือดของเราไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พยายามหาของใหม่ๆ หนีจากคนอื่น เช่น มีหนังทางเลือก อาร์ตมูฟวี่เข้ามาปะปนอยู่ เพราะยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อนที่หนังเรื่องหนึ่งฉายนานหลายเดือน อย่างเรื่อง ขุมทองแม็คเคนน่า (Mackenna's Gold) เชื่อไหมว่าเราฉายหนังเรื่องนี้ 9 เดือน จนกระทั่งเจ้าของโรงเบื่อ ก็เลยเอาออกไปก่อน ก็มีเสียงเรียกร้องให้เอากลับมาอีก 3 เดือน พอมาถึงยุคนี้อาทิตย์เดียวหนังก็ออกไปแล้ว และมีโรงมากขึ้น ไปดูที่ไหนก็ได้
แต่สำหรับที่นี่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ดูหนัง ไม่ใช่อย่างอื่น’ แม้แต่หนังที่คัดเลือกมาใส่โรง ต้องคัดเลือกหนังดีๆ ที่มีคุณภาพ มีอะไรที่สอนใจ หรือแอบอยู่ในนั้นที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่เป็นแฟนโรงหนังเรา หนังบางเรื่องเรารู้ว่าฉายไปเราต้องได้เงิน เรายังไม่เอาด้วยซ้ำ ถ้ามันไม่มีคุณธรรม ไร้ศีลธรรม เราไม่เอา เพราะเราไม่อยากให้แฟนเราจะต้องซึมซับรับสิ่งเหล่านี้เข้าไป หนังยังมีให้เลือกเยอะแยะไปหมด ดูกันจนตาแฉะ แต่เวลาเราเลือกเราก็จะเลือกสิ่งที่ดี”
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกหนังที่จะมาฉายในโรงมี 2 คน คือ คุณนันทา ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ และคุณสุชาติ วุฒิวิชัย ครีเอทีฟผู้มากประสบการณ์วัย 80 ปี
โรงหนังย้อนยุค พนักงานย้อนวัย เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
เมื่อไปถึงโรงหนังทั้งสองแห่ง คุณจะไม่มีทางได้พบกับสาวน้อยวัยใสหน้าขาวลิปสีแดงสดคอยให้บริการขายตั๋ว และคุณก็จะไม่มีทางเห็นวัยรุ่นขายป๊อบคอร์นในราคาเฉียดร้อย รวมไปถึงไม่มีทางเห็นชายวัยรุ่นใส่เสื้อกั๊กคอยเดินตั๋ว เพราะที่นี่คือโรงหนังของคนรักหนังโดยแท้...
คุณนันทา พูดถึงคนกลุ่มนี้ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า “พนักงานพวกนี้เราไม่ได้รับเขามาตอนแก่เลยนะ แต่พวกเขามาทำงานที่นี่ตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ อยู่กับเรามานาน เขารักที่นี่ด้วยใจหมดใจ พอเขามีอายุขึ้นมาหน่อยคุณจะไล่เขาไปเลยหรอ คนพวกนี้เขาอยู่เหมือนกับเป็นบ้านของเขา วันที่โรงหนังสยามไฟไหม้ พวกเขามีความรู้สึกมากกว่าเราที่เป็นเจ้าของโรงหนังเสียอีก บางคนไม่ยอมเดินไปที่ตรงนั้นเลย เขาบอกไม่อยากเห็นสภาพที่เป็นแบบนั้น เขาอยู่เพราะเขารักที่นี่แล้วเราจะไล่เขาไปหรอ ทุกคนอยู่ด้วยใจ ซึ่งตอนนี้มีพนักงานทั้งหมดในเครือเอเพ็กซ์ 100 กว่าคนที่เราต้องดูแลกันต่อไป”
ค่าที่ดินสูงลิบ รายได้ไม่พอ อาศัยจัดอีเวนต์สู้
ย่านสยามสแควร์เป็นแหล่งรวมห้างหรู สินค้าแบรนด์ดัง จึงไม่แปลกที่ราคาที่ดินแถบนี้จะพุ่งสูงลิบ โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2559 พบว่า ณ สิ้นปี 2558 แปลงที่ดินที่มีราคาตลาดสูงสุด คือ บริเวณสยามพารากอน บริเวณสยามสแควร์ บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าชิดลม และบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ราคาที่ดินที่ประเมินได้เป็นเงิน 1.9 ล้านบาทต่อตารางวา หรือ ไร่ละ 760 ล้านบาท
ด้วยความที่ราคาที่ดินแพงขนาดนี้ จึงเกิดข้อสงสัยว่า โรงหนังสกาลาและลิโด อยู่กันได้อย่างไร ค่าใช้จ่ายเพียงพอหรือไม่ ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น คุณนันทา เจ้าของโรงหนังทั้งสองโรง “ยอมรับว่ารายได้ไม่ค่อยพอที่จะอยู่ได้ สำหรับ สกาลา เราไม่มีตัวช่วยอื่น นอกจากการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งการกุศลและเก็บค่าใช้จ่าย ขณะที่ ลิโด ยังมีร้านค้าต่างๆ เช่าพื้นที่ขายของ และเราก็ไม่ได้คิดราคาค่าตั๋วแพง เรามีเจตนาอยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้ดูหนัง แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาอยากดูหรือเปล่าเพราะเห็นราคาถูกกลายเป็นของไม่ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ (หัวเราะ) แต่สำหรับเรามีความรู้สึกว่า ในเดือนหนึ่งคุณมีเงินพอที่จะดูหนัง เราอยากให้คุณได้มีโอกาสดูได้หลายๆ เรื่อง แทนที่คุณจะดูได้แค่เรื่องเดียว เราพยายามทำให้โรงหนังอยู่ได้ และให้เด็กๆ มีโอกาสได้ดูหนังด้วย ถือว่ามันเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ที่ถูกที่สุดแล้ว”