"ประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย... ว่าจะมีความผิดอื่นอีกไหม ถ้ามีนะ ไม่ใช่ว่า 8 คน 9 คน หรือ 10 คน กี่คนก็ดำเนินคดีหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกใคร หลานใคร ผมยืนยันไว้ตรงนี้

สุดท้าย…ที่มีการพูดถึงว่า ทำไมไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไตร่ตรอง สักที... กำลังดำเนินการอยู่ ถ้าข้อเท็จจริงมันไปถึง ผมเรียนตรงๆ นะครับ ถ้าข้อเท็จจริงมันไปถึงเราดำเนินคดีแน่นอน ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่จริง ม.288 และ ม.289 อัตราโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต เหมือนกัน

แต่… ข้อเท็จจริงมันแตกต่างกัน คำว่า ไตร่ตรองไว้ก่อน หมายความว่า มีความคิด วางแผน เตรียมการมาก่อน

ผมยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ น้องคนใดคนหนึ่งมีเพื่อนโทรมาหา บอกว่ากำลังมีเหตุใช้มีดทำร้ายกัน ให้มาช่วยหน่อย สมมติข้อเท็จจริงฟังได้อย่างนั้น เวลาเพื่อนโทรมาหาน้อง ถ้ามีข้อเท็จจริงปรากฏว่า น้องโทรไปหาเค้าแล้วบอกว่า เดี๋ยวเตรียมอาวุธมาฆ่ามันเลยนะ! … อย่างนี้ชัดเจนว่า ไตร่ตรอง (เน้นคำ)

แต่ถ้าโทรมาบอกว่ามาช่วยกันหน่อย กำลังมีเรื่องทำร้ายร่างกาย หรือทะเลาะเบาะแว้งกันดังกล่าว ข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนว่า เป็นการเตรียมการเพื่อจะมาฆ่าผู้อื่นหรือยัง" คำแถลงของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

...

แน่นอน… หลังสิ้นสุดการแถลงของ รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้คนในสังคมเกิดความสนใจใคร่รู้ในข้อกฎหมายตามมาทันทีว่า ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และ ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน มีความแตกต่างกันอย่างไร เหตุไฉนจึงเกิดศึกวาทกรรมระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ทนายของผู้เสียชีวิต จนสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นสังคมได้มากมายถึงเพียงนี้

หากแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ อยากฟังความให้รอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ วันนี้ นายฮกหลง แห่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขันอาสาพาไปรับฟังความเห็นในหลากหลายมุมมองจาก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของประเทศไทย

นายฮกหลง ขอพาแฟนๆ ไปทำความเข้าใจแต่แรกเริ่มกันเลย ถึงคำว่า "ไตร่ตรอง" มีความหมายว่าอะไร

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน "ไตร่ตรอง" มีความหมายว่า คิดทบทวน ตริตรอง

"ไตร่ตรองไว้ก่อน" มีความหมายว่า คิดหรือวางแผนไว้ก่อนลงมือกระทำความผิด

เอาล่ะ เมื่อเข้าใจกันแล้ว... นายฮกหลง ขอเชิญแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่าน มานั่งล้อมวงฟังในทุกแง่มุมของกฎหมายแบบย่อยสลายง่าย ตามแบบฉบับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

โดยในวันนี้ นายฮกหลง ได้เชื้อเชิญทั้ง ท่านผู้พิพากษา อัยการ และ เนติบัณฑิตยสภา มาให้ความรู้แก่ทุกท่านแล้ว 

เริ่มแรก นายฮกหลง ขอกราบเรียนเชิญ ท่านชาลี ทัพภวิมล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ มาอธิบายความแตกต่างระหว่าง เจตนาฆ่า และ เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งท่านได้อธิบายโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ระบุไว้ว่า ผู้ใด

...

1. ฆ่าบุพการี

2. ฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่กระทำการตามหน้าที่

3. ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้น กระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วย หรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว (ฆ่าพลเมืองดีที่มาช่วยเจ้าพนักงาน)

4. ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

5. ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

6. ฆ่าผู้อื่น เพื่อตระเตรียมการเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น (เช่น ฆ่าเจ้าทรัพย์ก่อนลงมือปล้น)

7. ฆ่าผู้อื่น เพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ (เช่น ฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปาก)

ซึ่งโทษตามความผิดนี้ถือเป็นความผิดฉกรรจ์ มีโทษสถานเดียวคือ ประหารชีวิต

ง่ายๆ ชัดๆ จุดแตกต่าง มีเวลาคิดที่จะกระทำ กับ ไม่มีเวลาคิดที่จะกระทำ

เจตนาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ง่ายๆ เลยคือ มีเวลาคิดที่จะฆ่าผู้อื่น และมีการวางแผน ยกตัวอย่างให้ชัดๆ ก็เช่น เราไปมีเรื่องกับใครโดยบังเอิญแล้วเกิดมีการทะเลาะวิวาท จนทำให้เรามีความเจ็บแค้น จากนั้นได้กลับบ้านไปหาอาวุธมาสังหารคู่กรณี แบบนี้จะถือว่า เข้าข่ายเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือกรณีที่เด่นชัดมาก คือ กรณีจ้างมือปืนไปสังหารผู้อื่น แบบนี้ชัดเจนเลยว่า เป็นการเจตนาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

แต่หากเป็นกรณีมีเหตุทะเลาะวิวาทลงไม้ลงมือกัน แล้วเกิดมีการชักปืนมายิงคู่กรณีจนเสียชีวิตในระหว่างการลงไม้ลงมือทันทีทันใดเดี๋ยวนั้นเลย ลักษณะแบบนี้จะไม่เข้าข่าย เจตนาฆ่าโดยมีการไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งมีโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 15-20 ปี

...

แค่ 5-10 นาที กลับบ้านเอาอาวุธมาฆ่า ก็เข้าข่ายไตร่ตรอง 

ทั้งนี้ อยากขอขยายในประเด็น มีเวลาคิดและไตร่ตรอง เพื่อให้เกิดความชัดเจนเพิ่มเติมอีกนิดคือ การจะพิสูจน์ว่ามีการไตร่ตรองเอาไว้ก่อนหรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป แต่ตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ผ่านมานั้น เอาแค่ว่า ผู้ต้องหา มีพฤติการณ์ถูกคู่กรณีทำร้ายร่างกายจนเกิดความโมโห จากนั้นกลับบ้านไปหาอาวุธมาดักทำร้ายคู่กรณีจนเสียชีวิต ซึ่งระยะเวลาในการลงมือ อาจกินระยะเวลาเพียง 5 หรือ 10 นาที ลักษณะแบบนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า เข้าข่ายมีเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อนเหมือนกัน

มือเปล่า หรือมีอาวุธ หากมีเวลาคิดก็เข้าข่ายไตร่ตรองได้เช่นกัน

ส่วนอาวุธที่จำเลยใช้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณา เพราะคำว่า ไตร่ตรอง มันอยู่ที่ความคิด เพราะฉะนั้นการฆ่าผู้อื่น จะด้วยอาวุธหรือมือเปล่า หากมีเวลาคิดและวางแผนเตรียมการ ก็ถือว่าเข้าข่าย เจตนาฆ่าโดยมีการไตร่ตรองไว้ก่อน เช่นกัน

...

แยกชัดได้ อยู่ที่การนำสืบ สาเหตุอะไรนำไปสู่การลงมือสังหาร

ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า จำเลย มีพฤติการณ์เข้าข่ายว่า ได้มีการไตร่ตรองไว้ก่อน หรือไม่ อยู่ที่การนำสืบให้เห็นพฤติกรรมของ จำเลย ว่า ก่อนที่จะลงมือสังหารคู่กรณี มีสาเหตุอะไรหรือไม่ ที่ทำให้เกิดการผูกใจเจ็บ จนต้องลงมือสังหารเหยื่อ แต่หากการนำสืบ ไม่พบว่ามีการผูกใจเจ็บกันมาก่อน จู่ๆ ก็เกิดมีการฆ่ากันตาย แบบนี้ส่วนใหญ่ก็จะไปเข้าข่าย มาตรา 288 ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแต่ไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน

รับสารภาพ แต่จำนนต่อหลักฐาน อาจไม่ได้ลดโทษ

สำหรับ เหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จะประกอบด้วย 1. ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา 2. เป็นผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส เช่น กรณีผู้ที่ไปตกอยู่ในที่ที่ไม่มีอาหารกิน จนต้องไปขโมยของคนอื่นกิน 3. มีคุณงามความดี เช่น เป็นข้าราชการที่มีประวัติการทำงานดีมาโดยตลอด 4. รู้สึกถึงความผิด และพยายามบรรเทาผลร้าย 5. ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน หรือให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เช่น ยอมเข้ามอบตัว รับสารภาพ พาเจ้าพนักงานไปดูที่เกิดเหตุ

อย่างไรก็ดี หากมีจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ไม่มีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี เพราะความผิดชัดแจ้ง พูดง่ายๆ คือ จำนนต่อหลักฐาน ศาลก็อาจมีดุลยพินิจ ไม่ลดโทษได้ เช่นกัน

จุดเริ่มต้น หากพยานและหลักฐานครบ คดีไหนผู้ต้องหาก็ไม่รอด 

นอกจากนี้ ตามลำดับของกระบวนการยุติธรรม จะเริ่มต้นจาก ผู้เสียหายไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้น ตำรวจจะทำการสอบสวนแล้วส่งต่อให้อัยการ เพื่อพิจารณาส่งฟ้อต่อศาล ฉะนั้น หากตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไม่สามารถรวบรวมพยานและหลักฐานได้มากเพียงพอ สำหรับการนำไปใช้เอาผิดผู้ต้องหา ศาล ซึ่งอยู่ปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม จะไปตัดสินนอกเหนือจากพยานและหลักฐาน ตามสำนวนที่ถูกส่งฟ้องมาได้อย่างไร

"ศาล ของเราไม่ได้เหมือน เปาบุ้นจิ้น เพราะ เปาบุ้นจิ้น จะมีลักษณะเป็นทั้งตำรวจและศาลในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อ เปาบุ้นจิ้น เห็นว่าพยานและหลักฐานไม่เพียงพอ ก็จะสั่งจั่นเจาให้ไปหาหลักฐานและพยานมาเพิ่มได้ แต่ ศาล ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้" ท่านชาลี ทัพภวิมล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย 

ทีนี้ นายฮกหลง ขอพาแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ไปฟังทัศนะของ ฝ่ายอัยการ กันบ้าง ในประเด็นความต่างระหว่าง เจตนาฆ่า และ เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน.. 

คิด ตัดสินใจ วางแผน ลงมือฆ่า = ไตร่ตรองไว้ก่อน

โดย นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นกับ นายฮกหลง ในประเด็นนี้ โดยอธิบายสั้นๆ กระชับและได้ใจความว่า เจตนาฆ่า นั้น เป็นการฆ่าคนโดยผู้ลงมือกระทำผิดคิดตัดสินใจลงมือฆ่าโดยฉับพลันทันใด ไม่มีการวางแผน หรือเตรียมการใดๆ เพื่อจะไปฆ่า ในขณะที่ เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ผู้กระทำผิดมีการคิด ตัดสินใจลงมือฆ่าเช่นเดียวกันกับเจตนาฆ่าดังกล่าวข้างต้น แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ การฆ่าโดยไตร่ตรอง จะมีการวางแผนฆ่าก่อนลงมือฆ่า ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดก็คือ พวกจ้างวานและมือปืนรับจ้างทั้งหลาย ความเหมือนกันของสองข้อหานี้ก็คือ มีเจตนาชั่ว ที่จะลงมือฆ่าผู้อื่นให้ตายเหมือนกัน

ส่วนความแตกต่างกันก็คือ ข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรอง จะมีกระบวนการวางแผนก่อนไปลงมือฆ่า ความชั่วหรือความอำมหิตจึงมีมากกว่า เจตนาฆ่าธรรมดา ดังนั้น ห้วงเวลาก็เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญ เช่น หากมีการทะเลาะวิวาทกัน จากนั้นมีการท้าทายกันว่าเดี๋ยวกลับมา เมื่อกลับไปบ้านตระเตรียมอาวุธมา ระยะเวลาห่างกันสองสามชั่วโมง แล้วมาสังหารคู่กรณี แบบนี้ชัดเจนว่ามีการไตร่ตรองที่จะฆ่า เพราะมีกระบวนการคิดวางแผน แต่กลับกัน หากมีเหตุวิวาทในฉับพลันทันใด แล้วมีการลงไม้ลงมือกันจนถึงขั้นเสียชีวิต ณ เวลานั้นเลย ก็เข้าข่ายข้อหา เจตนาฆ่า หรือ ฆ่าคนตายโดยเจตนา

สำคัญที่สุดคือ ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ต้องครบ

โดยสรุปก็คือ คดีไหนเป็นฆ่าโดยเจตนา คดีไหนเป็นฆ่าโดยเจตนาไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป โดยขึ้นอยู่กับ ข้อเท็จจริง พยาน และหลักฐานทางคดีเป็นสำคัญ

อัยการเห็นแย้งตำรวจได้ ฟ้องเพิ่มได้

การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหา ผู้ต้องหา ในชั้นสอบสวน เมื่อสำนวนมาถึงพนักงานอัยการ ตามข้อกฎหมายนั้น อัยการเห็นแย้งตำรวจได้ ซึ่งเป็นไปตาม ป.วิอาญา ยกตัวอย่างเช่น หากตำรวจส่งสำนวนฟ้องคดีโดยแจ้งข้อหาผู้ต้องหาว่าเจตนาฆ่า ในชั้นอัยการ เมื่อตรวจสำนวนแล้ว หากอัยการเห็นว่าคดีนี้มีข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ก็สามารถสั่งให้มีการสอบเพิ่มเพื่อให้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มได้ หรือหากตำรวจส่งสำนวนมาโดยแจ้งข้อหาว่าฆ่าโดยไตร่ตรอง แต่อัยการตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานทางคดีเป็นเพียง เจตนาฆ่า ก็สามารถสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาเจตนาฆ่า โดยสั่งไม่ฟ้องข้อหา เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองได้ เป็นต้น

เอาล่ะ มาจนถึงบรรทัดนี้ นายฮกหลง ขอเชิญไปฟังทัศนะจาก เนติบัณฑิตยสภา กันบ้าง... ซึ่งท่านนอกจากจะให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ นายฮกหลง แล้ว ยังได้ยกแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เพื่อให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ทุกท่าน ได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย....

ท่านผู้นี้คือ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งได้เล่าให้ นายฮกหลง ฟังว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 และ มาตรา 288 มีความแตกต่างกัน คือ มาตรา 288 เป็นการฆ่าคนตายทั่วไปโดยไม่มีเหตุฉกรรจ์ แต่ มาตรา 289 เป็นการฆ่าโดยเหตุฉกรรจ์ ซึ่งมีโทษหนักคือ ประหารชีวิตสถานเดียว ส่วนเหตุลักษณะใดที่เข้าข่าย การเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ชัดๆ เลยก็คือ มีการคิดล่วงหน้า ไตร่ตรองรอบคอบแล้ว มีการเตรียมการวางแผนมาเพื่อจะสังหารผู้อื่น อย่างไรก็ดี หากจะมีการพิจารณาว่า คดีในลักษณะใดจะเข้าข่าย เจตนาฆ่า หรือ เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พนักงานสอบสวนจะต้องพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้มีความชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ทั้งนี้ ส่วนตัว จึงอยากขอยกแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยตัดสินคดีไว้ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนกันดีกว่า เพราะเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว

กรณีแรก มาตรา 289 ฆ่าผู้อื่น เหตุฉกรรจ์

มีเรื่องกับอริ กลับบ้านบอกพ่อ เอาปืนออกไล่ยิงล้างแค้น

2217/2556 หลังจากจำเลยส่ง ว. แล้ว และกำลังขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน จำเลยพบผู้ตายกับโจทย์ร่วม โจทย์ร่วมขับรถจักรยานยนต์วนไปมาโดยถือเหล็กแป๊ปมาด้วย ย่อมทำให้จำเลยเชื่อว่าผู้ตายและโจทย์ร่วม จะตามมาเอาเรื่องจำเลย กับ ว.

จึงกลับบ้านไปบอกบิดาของจำเลย แล้วนำอาวุธปืนออกมา แสดงว่า จำเลยและบิดาจำเลยเกิดความโกรธผู้ตายและโจทย์ร่วม ตามมาเอาเรื่องจำเลย โดยมีอาวุธมาเพื่อใช้ทำร้าย จำเลยและบิดาจำเลยได้ตอบโต้โดยตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อมายิงต่อสู้กับผู้ตายและโจทย์ร่วม

เมื่อผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยและบิดาของจำเลยขับรถจักรยานยนต์ตามไปประมาณ 200 เมตร แล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและโจทย์ร่วมที่ด้านหลัง โดยที่ผู้ตายและโจทย์ร่วมมิได้ต่อสู้ด้วย