บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทยเสียชีวิต...มีประเด็นสงสัยกันว่าจะใช้คำไหนจึงจะถูกต้องเหมาะควร ระหว่างคำว่า “อสัญกรรม” หรือ “อนิจกรรม”

เปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หน้าที่ 1369

คำว่า “อนิจกรรม”...หมายถึง ความตาย ใช้แก่ผู้ตายที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทยขึ้นไป หรือทุติยจุลจอมเกล้า หรือทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษว่า...ถึงแก่อนิจกรรม

พลิกต่อไปที่หน้า 1382 คำว่า “อสัญกรรม”...หมายถึง ความตาย ใช้แก่ผู้ตายที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภา หรือผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าว่า...ถึงแก่อสัญกรรม โฆษกสำนักงานราชบัณฑิตยสภา บันทึกข้อความบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก “ราชบัณฑิตยสภา” ไว้เมื่อวันที่ 23 เมษายน เวลา 14.56 น. อธิบายคำว่า “อสัญกรรม” และ “อนิจกรรม” เหมือนความหมายข้างต้น

พร้อมแจงว่า กรณี นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่มิได้ตายในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงให้พิจารณาจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานโดยใช้คำว่า “ถึงแก่อนิจกรรม” จึงขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน

มุมมองที่แตกต่างในบางประเด็น บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สะท้อนว่า อดีตนายกฯบรรหาร ถ้าท่านเสียชีวิตในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้คำว่า “อสัญกรรม” แต่เมื่อท่านเสียชีวิตหลังพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วกลับลดเกียรติการเรียกลงเป็น... “ถึงแก่อนิจกรรม” ผมไม่เห็นด้วย

...

“ขอให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภาในฐานะฝ่ายเลขาฯ นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมราชบัณฑิตยสภา แล้วพิจารณาวินิจฉัยออกมาอย่างเป็นทางการ”

บรรยงค์ บอกว่า หลักพิจารณากรณีอดีตนายกฯบรรหารเสียชีวิต ใช้คำไหนจึงจะถูกต้อง โดยปกติแล้วตามสามัญสำนึก ไม่ควรที่จะไปลดตำแหน่งในอดีตที่เคยได้รับประการหนึ่ง

“เมื่อเทียบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย้อนกลับไปในอดีต สูงกว่า เสนาบดีในรัชกาลที่ 5...เสนาบดีก็คือเจ้ากระทรวง แล้วพอมีการปฏิรูปราชการครั้งแรกก็ยังขยายเป็น 12 กระทรวง ก็ใช้เสนาบดีทั้ง 12 กระทรวง แต่บังเอิญยังไม่มีคำว่า...นายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง”

ที่มีอยู่ก็คือว่า “ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน” ซึ่งเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เป็นบรรดาศักดิ์เฉพาะตัวต้นตระกูล “บุนนาค” ก็ใช้คำว่าอสัญกรรม

ย้อนมาปัจจุบัน...กรณีคุณบรรหาร ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ สายสี่...มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) สายสาม...มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) สายสะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)

แต่ตระกูล “จุลจอมเกล้า” ที่ได้รับพระราชทานเทียบได้กับ “พระยา” ในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่โปรดเกล้าฯส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวเลย... ให้ใครก็ได้ คุณบรรหารได้ “ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)” เทียบเท่าชั้นพระยาอยู่แล้ว

“ก็หมายถึงว่า ถ้าคุณบรรหารไม่ได้รับตำแหน่งใดมาเลย ได้เครื่องราชฯดังที่กล่าวมา เมื่อเสียชีวิตก็จะใช้คำว่า...อนิจกรรม”

ปัญหามีว่า คุณบรรหารเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียงแต่มาเสียชีวิตตอนไม่ได้เป็นนายกฯ ทำไม? ต้องไปถอยหลังเขาล่ะ

นี่คือเหตุผลที่ว่า “ราชบัณฑิตยสภา” ควรต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม แล้วพิจารณาวินิจฉัยออกมาอย่างเป็นทางการ

“กรณีคุณบรรหารใช้คำว่า...อสัญกรรมได้เลย” บรรยงค์ ว่า “...ไม่ได้หมายความว่านายกฯทุกคนจะได้เครื่องราชจุลจอมเกล้าฯนะ”

อีกประการหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือ เครื่องยศประกอบบรรดาศักดิ์ คุณบรรหารได้ “พานทอง” เพียงแต่ไม่ได้ประดับลงยาเพิ่มขึ้นเท่านั้น เหลืออีกอันหนึ่งคือ...ปฐมจุลจอมเกล้า มีสำรับอยู่ไม่กี่สำรับ ต้องประทานองคมนตรี แล้วถ้าไม่มีใครตายสำรับนี้ก็ไม่สามารถให้ใครเพิ่มได้

“ครั้งนี้ทำให้สังคมสับสนอยู่พอสมควร แต่เนื่องมาจากว่า เราเลิก... บรรดาศักดิ์ไปแล้ว แต่ตระกูลจุลจอมเกล้ายังอยู่ พอยังอยู่เราจะอิงอะไร แต่ก็มีอันหนึ่งคือ...การเทียบบรรดาศักดิ์กับตำแหน่งเสนาบดี คุณบรรหารเป็นมหาเสนาบดี...นายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ”

“ขุนนาง”...ในอดีตที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น “เจ้าพระยา” (พระยาพานทอง) เมื่อเสียชีวิตใช้คำว่าถึงแก่อสัญกรรม ส่วนขุนนางชั้น “พระยา” เมื่อเสียชีวิตใช้คำว่าถึงแก่อนิจกรรม แต่ “บรรดาศักดิ์” ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2485 แล้ว...จะใช้อะไรมาเรียกข้าราชการชั้นสูงในปัจจุบันเมื่อเสียชีวิต

อย่าเพิ่งสับสนย้ำชัดๆอีกทีในประเด็นแรก...ถ้าผู้เสียชีวิตได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “จุลจอมเกล้า”...อันเป็นตระกูลที่แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า เทียบเท่ากับ “สมเด็จเจ้าพระยา”...ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์เฉพาะตัว หรือชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) เทียบเท่ากับ “เจ้าพระยา”...

ใช้คำว่า... “ถึงแก่อสัญกรรม”

ประเด็นต่อมา...ส่วนผู้เสียชีวิตที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) เทียบได้กับ “พระยา” ใช้คำว่า... “ถึงแก่อนิจกรรม”

...

ประเด็นที่สาม...ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า แต่เป็นข้าราชการระดับสูงที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายตระกูลช้างเผือก (มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก: ม.ป.ช.) และเป็นข้าราชการ (การเมือง) ฝ่ายปกครองระดับสูงสุดของประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรีเมื่อเสียชีวิต...

ใช้คำว่า... “ถึงแก่อสัญกรรม”

ประเด็นที่สี่...ส่วนรัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวง (ระดับ 11 ในอดีต) เมื่อเสียชีวิตจึงใช้คำว่า... “ถึงแก่อนิจกรรม”...ที่กล่าวมา ไม่มีการบัญญัติไว้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน จึงใช้เทียบเคียงเอา เพราะผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ท.จ.ว. ก็ใช้ถึงแก่อสัญกรรม เพราะเทียบเท่ากับเจ้าพระยา จึงควรพิจารณาทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน และตำแหน่งข้าราชการที่เป็นหรือเคยเป็นประกอบกัน

ทั้งหมดเหล่านี้คือประเด็นที่ตอบให้กับลูกศิษย์วารสารศาสตร์ที่จบมาหลายปี ถามมาว่า...ควรใช้คำใดจึงจะเหมาะสมกับนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสียชีวิตในเช้าวันที่ 23 เม.ย.2559 เพราะสื่อมวลชนรายงานข่าว มีทั้งที่ใช้ทั้งคำว่า “อนิจกรรม” และคำว่า “อสัญกรรม”

ใครล่ะจะเป็นที่พึ่ง ชี้ชัดคำตอบนี้ได้ นอกจาก “ราชบัณฑิตยสภา” ที่จะออกมาชี้แจ้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือ “ราชบัณฑิตยสถาน” ในอดีตนั่นเอง

แต่...บทสรุปในมุมมองบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรณีนายบรรหาร ศิลปอาชา เคยเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นตำแหน่งเทียบเท่า “เจ้าพระยา”...การใช้คำที่ให้เกียรติท่านจึงควรเป็น... “ถึงแก่อสัญกรรม”.