'ปฏิรูปตำรวจ เวิร์กมั้ย?' เริ่มแล้วเดือนนี้ หักเกลี้ยงบัญชี! เงินค่าตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ตำรวจเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า วอนผู้บังคับบัญชาพิจารณาใหม่ "งานหนักเท่าเดิม ตำแหน่งไม่เพิ่ม เงินถูกตัด" เสียงร้องขอจากชั้นผู้น้อย
เป็นผลแล้ว! ปฏิรูปตำรวจ คำสั่งมาตรา 44 ที่ 6/2559 ยกเลิกตำแหน่งและเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวน ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ (26 เมษายน 2559) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ถูกตัดเงินค่าตำแหน่งจนเกลี้ยงบัญชี แต่ยังทำงานเหมือนเดิม สถานที่เดิม หน้าที่เดิม โต๊ะทำงานเดิม แค่เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง และถูกตัดเงินประจำตำแหน่งทั้งหมด
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2559 หลังมีเสียงฮือฮาไม่รู้สึกเห็นด้วยจาก เหล่าพนักงานสอบสวนประทั่วประเทศ ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คำสั่งนี้ไม่ใช่เป็นการปรับโครงสร้างตำรวจ ไม่ได้มีตำแหน่งใหม่ใดๆ เพียงยุบชื่อ สัญญาบัตร 2 (สบ 2) สัญญาบัตร (สบ 3) สัญญาบัตร 4 (สบ 4) สัญญาบัตร 5 (สบ 5) เพื่อให้งานลื่นไหล โดยสายงานอื่นสามารถเข้าร่วมทำงานได้ เพราะที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนทำงานเป็นเอกเทศ ตำรวจฝ่ายอื่นจะเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้
กระทั่งต่อมา พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล ในฐานะเลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ทบทวนคำสั่งนี้ โดยเนื้อหาในหนังสือร้องเรียนสรุปเนื้อหาได้ว่า คำสั่งตามมาตรา 44 นี้ สร้างความยากลำบากให้แก่พนักงานสอบสวน เพราะไม่แน่ชัดเรื่องตำแหน่งหน้าที่รวมถึงถูกตัดเงินประจำตำแหน่ง กระทั่งเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ หายออกจากบ้านไป 2 วัน กระทั่งกลับมาตัดสินใจผูกคอตายในบ้านพักของตัวเอง สร้างความฮือฮาให้กับวงการสีกากีอีกครั้ง จนท้ายสุดหลังการตาย ตัวแทนสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติออกมาขอยุติบทบาท
...
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ประธานคณะทำงาน ยืนยันการยุบเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 เป็นขั้นตอนแรกของการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการเกลี่ยตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั้งหมดที่มีอยู่ราว 1 หมื่นคน ไปทำหน้าที่ในตำแหน่ง รองสารวัตร สารวัตร รองผู้กำกับการ ผู้กำกับการ รองผู้บังคับการ และผู้บังคับการ ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับตำแหน่งเดิม และจะนำหลักเกณฑ์นี้มาปรับใช้ให้เป็นแนวทางเดียวกันกับการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีในตำแหน่งรองผู้บังคับการลงไปจนถึงระดับสารวัตร ที่เลื่อนกันมาแล้วหลายครั้ง
ขั้นตอนการปฏิรูปตำรวจจากรัฐบาลชุดนี้ อาจจะด้วยความหวังดีของผู้บังคับบัญชาที่มองเห็นว่า น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน รู้สึกไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้ปฏิบัติงานโดยตรงไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเป็นไปในแนวทางยัดเยียดให้พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติตามอย่างเสียมิได้ ขณะเดียวกัน เมื่อยกเลิกทุบแทงพนักงานสอบสวนทั่วประเทศออกทั้งหมด นอกจากจะมีผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ปฏิบัติงานแล้ว เงินค่าตำแหน่งที่มีอยู่น้อยนิดก็ถูกหักออกไปทั้งหมด ส่งผลลบทางด้านความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ ตร.อีก 1 ประเด็น
ณ วันนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ประธานคณะทำงาน ยืนยันการยุบเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันจะพิจารณาตามขั้นตอนอย่างบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น รวมไปถึง สิทธิที่เคยได้ยังได้รับเหมือนเดิม อีกทั้งจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ด้วยซ้ำ โดยต้องประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์สายงานอื่นๆ ด้วย
ล่าสุดวันนี้ 26 เมษายน 2559 เป็นวันที่เงินเดือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศเข้าบัญชี ปรากฏว่า เงินค่าตำแหน่งถูกตัดออกไปหมดทุกบาท เช่น พนง.สบ 1 ถูกตัดไป 12,000 บาท พนง.สบ 2 ถูกตัดออกไป 15,000 บาท ส่งผลให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศเดือดร้อนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลหลายนายยืนยันว่า เห็นค่าตำแหน่งถูกตัดออกไปหมดแล้วจริงๆ
'กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์' ได้รับเรื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเดือดร้อนจากการถูกตัดเงินค่าตำแหน่งหลายราย ในเขตพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทวงถามการให้สัมภาษณ์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ประธานคณะทำงาน ที่เคยพูดไว้เมื่อต้นปีว่า "สิทธิที่เคยได้ยังได้รับเหมือนเดิม อีกทั้งจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ด้วยซ้ำ" เหตุใดวันนี้เงินค่าตำแหน่งจึงถูกตัดออกไป
...
พนักงานสอบสวน ยศ ร.ต.ท. รายหนึ่ง เปิดเผยกับทางไทยรัฐออนไลน์ ว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้รอความหวังจากผู้บังคับบัญชา เรื่องการปฏิรูปพนักงานสอบสวน และเชื่อว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น กระทั่งวันนี้เงินค่าตำแหน่งรายเดือนถูกตัดออกไปจากบัญชีเงินเดือนแล้ว จากที่เคยคิดว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะนำพาไปในทิศทางที่ดีขึ้น กลับกลายเป็นต้องมาคิดใหม่อีกครั้ง อยากจะถามจากปากผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะทำอย่างนั้น
"ผมมีภาระหลายอย่างครับ ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ งานพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนคดีมากมาย เวลาพักผ่อนก็ไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน ต้องหมกอยู่กับการทำสำนวนคดี ยอดเงินเดือนในบัญชีผมเข้ามาวันนี้เหลือเพียง 23 บาท เพราะเงินที่เหลือถูกตัดจากบัญชี ทั้งค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ซ้ำยังมาโดนหักเงินค่าตำแหน่งอีกหมื่นกว่าบาท ผมยังไม่รู้เลยว่าเดือนนี้ทั้งเดือนผมจะเอาอะไรกิน" ผู้หมวด กล่าว
ร.ต.ท.คนเดียวกัน ยังกล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่เพียงตนเองที่เดือดร้อน พนักงานสอบสวนทั่วประเทศเดือดร้อนหมด แต่ไม่มีใครกล้าพูด ทุกคนมีภาระ "เป็นตำรวจที่มีอาชีพตำรวจ" ไม่ได้ไปรีดไถ ขอเงินชาวบ้าน ทำผิดกฎนอกรีต พนักงานสอบสวนกินเงินเดือน เงินค่าตำแหน่ง ซึ่งถ้าเงินจำนวนนี้หายไป อยากให้รู้ว่าพวกเราเดือดร้อนจริงๆ อยากให้ผู้บังคับบัญชาช่วยพิจารณาเห็นใจลูกน้องตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ
...
ขณะที่พนักงานสอบสวน ยศ ร.ต.อ.รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ไม่ค่อยเข้าใจการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้สักเท่าไหร่ และยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่จะตามมาในภายภาคหน้า ตอนนี้รู้เพียงแค่ว่าตนเอง "ทำหน้าที่เหมือนเดิม ตำแหน่งเดิม นั่งอยู่โต๊ะเดิม เพียงแค่เปลี่ยนจากคำว่า "สบ" ไปใช้คำว่า "รองสารวัตร" และตัดเงินค่าตำแหน่งที่มีอยู่เดิมออกทั้งหมด ตำรวจทุกนายมีภาระทางบ้านที่ต้องรับผิดชอบ เงินที่เคยได้รับประจำก็ไม่ได้เยอะอะไรเลย ซ้ำตอนนี้ยังมาถูกตัดออกไปอีก "บอกตรงๆ ว่าจุกพูดไม่ออก"
"อยากจะขอความเห็นใจแทนเพื่อนๆ พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ถึงเรื่องการตัดเงินค่าตำแหน่ง ขอให้ผู้บังคับบัญชาช่วยทบทวนอีกที เพราะผมเชื่อว่าถึงแม้จะเป็นเงินค่าตำแหน่งเพียงเล็กน้อย แต่มันคือขวัญกำลังใจของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ มันเป็นเงินเพียงไม่กี่บาทที่ตำรวจสามรถ เอาไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก ผมคงไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ผมจึงอยากขอเพียงแค่ความเห็นใจให้ช่วยพิจารณาด้วยครับ" ผู้กอง กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนเป็นตำแหน่งที่จะต้องอยู่กับสำนวนคดี รับผิดชอบคดีหนักกว่าตำแหน่งอื่นๆ ทำให้ก่อนปี 2547 จึงมีพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ อยากจะวิ่งย้ายไปอยู่ในฝ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสืบสวน ฝ่ายปราบปราม ฝ่ายจราจร ฯลฯ ทำให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนค่อนข้างขาดแคลน จึงเรียกชื่อกันว่า 'ปรากฏการณ์สมองไหล'
...
กระทั่งต่อมาปี 2547 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนจะสามารถมีการปรับเลื่อนชั้นขึ้นเมื่อครบหลักเกณฑ์ เมื่อทำสำนวนคดีครบตามกำหนด สามารถลื่นไหลขึ้นไปโดยอัตโนมัติ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้าราชการตำรวจที่เต็มใจจะอยู่ในตำแหน่งพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้นเพื่อรอปรับเลื่อนตามวาระ ถือเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน
การทำงานของพนักงานสอบสวน ณ ขณะนี้ เหมือนย้อนกลับไปเป็นเหมือน 10 กว่าปีที่แล้ว พนักงานสอบสวนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ทั้งหมดเป็นการตัดตอนและลดอำนาจพนักงานสอบสวน ต่อจากนี้อาจทำให้พนักงานสอบสวนเหนื่อยขึ้น ซ้ำยังไม่มีการแต่งตั้งมาทดแทน ถือว่าไม่แฟร์ ทั้งที่ปัจจุบันยิ่งแทบจะไม่มีใครอยากมาทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ปรากฏการณ์ 'สมองไหล' กำลังจะย้อนกลับมาทำลายระบบพนักงานสอบสวนอีกหรือไม่? ทั้งนี้ก็ต้องขอความเห็นใจขากท่านผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยกันแก้ปัญหาให้สำเร็จไปด้วยดี เพื่อที่พี่น้องตำรวจจะได้มีขวัญกำลังใจในการงานต่อไป