แม้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยจะเกิดไม่บ่อยครั้ง และยังไม่รุนแรงมากหากเทียบกับเหตุที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ที่ต้องรอให้เกิดเหตุก่อนแล้วค่อยหามาตรการรองรับเพื่อลดความสูญเสีย
เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดในพื้นที่ จ.เชียงราย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ เป็นสิ่งเตือนภัยได้เป็นอย่างดีว่าแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะธรรมชาติโลกเราเริ่มวิปริตไปแล้ว
ปัจจุบันมีความพยายามจากนักวิชาการต่างๆที่จะให้คนไทยตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเตรียมการป้องกัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มเมืองที่เรียกว่า Jelly City ที่หมายความว่าเมืองที่ตั้งอยู่บน Jelly
มีลักษณะเป็นเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ดินอ่อนเหมือนกับเม็กซิโกที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง เมืองเจลลี่เหล่านี้เป็นเมืองที่ควรต้องเฝ้าระวัง เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น เมืองเหล่านี้จะมีความรุนแรงสูงกว่าเมืองทั่วไปประมาณ 3-4 เท่า
ขณะเดียวกันในพื้นที่กรุงเทพฯมีอาคารขนาดใหญ่ ขนาดสูงอยู่ประมาณ 3,100 อาคาร ในส่วนนี้มีอาคารที่สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2550 คือก่อนมีกฎหมายบังคับเรื่องวิศวกรรมให้การสร้างอาคารสามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจำนวนประมาณ 2,600 อาคาร
...
ไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา(สนย.) เผยว่า เพื่อส่งเสริมให้เจ้าของอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ได้ปรับปรุงอาคารให้สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว กองควบคุมอาคารจึงประสานความร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีสิรินธร จัดทำศูนย์วิชาการบริหารการออกแบบอาคารต้านแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวขึ้น
เพื่อให้บริการออกแบบอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 โดยเฉพาะอาคารที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ของสาธารณชน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ ที่สร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550
ทำให้อาคารประเภทและขนาดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ รวมทั้งอาคารซึ่งได้รับใบอนุญาตก่อสร้างก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวบังคับใช้ ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับให้ต้องออกแบบโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ส่งผลให้การก่อสร้างอาคารบางแห่งไม่มีการออกแบบเพื่อรองรับการต้านแรงสั่นสะเทือน ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พ.ศ.2555
“ศูนย์ฯดังกล่าวจะเป็นศูนย์แรกในประเทศไทยที่ให้บริการออกแบบอาคารต้านแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว เฉพาะอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบ เพื่อความปลอดภัยและสนับสนุนให้เจ้าของอาคารปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ขณะนี้ศูนย์ฯได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ โดย อาคารแรกที่ศูนย์ฯจะออกแบบให้คืออาคารของธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ เมื่อออกแบบแล้วเสร็จทางธนาคารจะเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงเองทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจากนั้นเมื่ออาคารเริ่มมีการก่อสร้าง สนย.จะทำการประชาสัมพันธ์และเปิดศูนย์ฯอย่างเป็นทางการ” ผอ.ไทวุฒิระบุ.