(กรุณาเปิด Rap Beat เพื่ออรรถรสในการอ่านรายงานพิเศษ

โย่ว! Rap is Now...ศึกประลองฝีปาก เวทีกระชากอารมณ์แร็ปเปอร์ หากคุณเผลอโดนแย็บ แล้วคุณจะร้องไม่ออก ถ้าคุณบอกยอมแพ้ ที่แน่ๆ คุณยังมีเพื่อน เหมือนจะแร็ปก้าวร้าว ดีกว่าเม้าท์ไร้สาระ หากจะเข้าวงการ อย่าคิดมากแค่ใจรัก เพราะที่นี่ไม่มีพรรค มีแต่รักรันวงการ!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ตามติดเทรนด์วัยรุ่นไทยหัวใจแร็ป จากเวทีแบทเทิลสายพันธุ์ใหม่อย่าง “Rap is Now” เวทีที่จับแร็ปเปอร์หัวไว-ใจครีเอตมาสาดน้ำลายใส่กันยกต่อยก โดยมีผู้ชมเป็นสักขีพยาน และมีจุดประสงค์สำคัญ คือ รันวงการเพลงแร็ปให้กลับมาสั่นสะเทือนเมืองไทยได้อีกครั้ง...

...

กว่าแร็ปจะฮิต! ไล่เรียงไทม์ไลน์แร็ปไทย ก่อนกระหึ่มเป็น Rap is Now

ก่อนจะเข้าไปสัมผัสหัวใจของ “Rap is Now” ทีมข่าวขอเกริ่นถึงความเป็นมาเป็นไปของแร็ปไทยสักนิด ซึ่งเราได้รับเกียรติจากแร็ปเปอร์รุ่นใหญ่ เจ้าของเนื้อเพลงยอดฮิตตลอดกาล “ผมดาจิมแร็ปไทย คุณไม่ฟังได้ไง ถ้าไม่ฟังจะเสียใจจะบอกให้” ตั้ม-สุวิชชา สุภาวีระ หรือที่ใครๆ รู้จักกันในนาม ดาจิม แร็ปไทย

ตั้ม ดาจิม บอกเล่ากับทีมข่าวถึงจุดเริ่มต้นของแร็ปไทยในยุคต้นๆ ว่า ในปี 2536 ประเทศไทยได้ถือกำเนิดวงทีเคโอ ภายใต้สังกัดคีตา เรคคอร์ดส ซึ่งศิลปินวงดังกล่าวนับเป็น แร็ปเปอร์กลุ่มแรกของเมืองไทย แต่ ณ ขณะนั้น กระแสเพลงแร็ปยังไม่แพร่หลายเฉกเช่นทุกวันนี้ จึงทำให้วงทีเคโอไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต่อมาในปี 2538 โจอี้บอยได้แจ้งเกิดจากการออกอัลบั้มแรก ซึ่งเป็นแร็ปแท้ทั้งอัลบั้ม และส่งผลให้กระแสเพลงแร็ปในยุคนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก

ถัดมาเพียงไม่กี่ปี ขัน ไทยเทเนี่ยม ออกอัลบั้มแรกโดยใช้ชื่อว่า Khan-T จากนั้นขันได้เดินทางไปอเมริกา และกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง ภายใต้ชื่อวง Thaitanium พอเข้าสู่ปี 2543 ตั้ม ดาจิม ออกอัลบั้มใต้ดินครั้งแรก ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการเพลงใต้ดิน และเป็นแร็ปใต้ดินคนแรกของไทย ขณะที่ปีเดียวกัน ได้ถือกำเนิดวง Da Killerz ซึ่งหนึ่งในสมาชิกของ Da Killerz คือ เชาเชา-ชวลิต ศรีมั่นคงธรรม

“ในยุคที่กระแสเพลงแร็ปได้รับความนิยมอย่างมาก คือ ช่วงที่ไทยเทเนี่ยม และโจอี้บอยทำเพลงด้วยกัน ทั้งไทยเทฯ ทั้งโจ้ ทำให้เด็กวัยรุ่นในยุคนั้นหันมาชื่นชอบ และให้ความสนใจในเพลงแร็ปอย่างมาก แต่สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็ยุติการทำงานร่วมกัน ซึ่งน่าเสียดายมากๆ” ดาจิม แร็ปไทย ได้กล่าวไว้

“สำหรับ Rap is Now ผมเช่ือว่า เวทีนี้จะไม่เข้ามาและก็หายไปเหมือนกับเวทีต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต โดยส่วนตัว ผมชอบเวทีนี้มากเลยนะ เพราะที่นี่คือจุดสร้างแรงบันดาลใจ จุดปล่อยของให้กับเด็กรุ่นใหม่” ตัวพ่อแร็ปใต้ดิน กล่าวถึง Rap is Now ด้วยความชื่นชม

ดุเดือดสะท้านอารมณ์ ถามตรงๆ หลังเกม เลือดพล่านหรือไม่?

ทีมข่าวพูดคุยกับ ธชา คงคาเขตร หรือ หลุยส์ หนุ่มไฟแรงวัย 29 ปี หัวเรือใหญ่ของเวทีแร็ปแบทเทิลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ณ ขณะนี้ ซึ่งระหว่างทีมข่าวและหลุยส์ เราเริ่มต้นพูดคุยกันในประเด็นที่คนทั้งในและนอกวงการเพลงแร็ปอยากรู้ “แร็ปเปอร์ใช้คำดุเดือดเจ็บแสบต่อสู้กัน ภายหลังจากเกมจบ อารมณ์ของพวกเขาเป็นเช่นไร เขาโมโห ไม่พอใจกันหรือไม่?” ขาใหญ่ตัวจริงประจำเวที Rap is Now ตอบตามประสบการณ์ที่เคยพบเจอว่า “โดยส่วนตัวผมมองว่า เขาไม่โกรธกัน แต่ผมเชื่อว่าต้องมีอารมณ์ขุ่นๆ ซ่อนอยู่บ้าง เพราะแร็ปเปอร์ก็มีหัวใจ ไม่ใช่ว่าจะยืนทนให้คนอื่นมาด่าปาวๆ โดยที่ไม่รู้สึกอะไรได้ ถึงอย่างไร ศิลปินอาจจะมีอารมณ์บ้างเป็นธรรมดา เขาเจ็บเป็น เขาโกรธเป็น แต่สุดท้าย พวกเขาจะรู้ว่า สิ่งที่เขาทำอยู่คือกีฬา เพราะฉะนั้น เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น ทุกอย่างก็จะจบลงเช่นเดียวกับเกมกีฬา”

...

ในรายการ คุณเคยเจอศิลปินแสดงออกทางสีหน้า แววตา กำหมัดกำมือ หรือมือไม้สั่นเพราะโมโหบ้างหรือไม่? ทีมข่าวถามขยี้จากคำตอบข้างต้นอีกครั้ง “มีครับ โดยเฉพาะรอบชิง หรือรอบไฟนอล ซึ่งในปีที่แล้ว บนเวทีแร็ปแบทเทิล ศิลปินทั้งสองคนจ้องหน้ากันอย่างดุเดือด เขาเอาหน้าติดประชิดกันสุดๆ โดยก่อนหน้านี้ เราก็ได้ยินมาว่า เขาทั้งคู่ไม่ได้ชอบกันอยู่แล้วด้วย แต่สุดท้าย เมื่อเกมจบ เขาจับมือกัน เขากอดกัน แต่พอลงจากเวที เขาก็ไม่คุยกัน”

...

“สิ่งที่ผมกลัวไม่ใช่แร็ปเปอร์มีปัญหากัน แต่ผมกลัวแฟนคลับ หรือผู้ชมจะมีปัญหากัน เพราะไม่พอใจผลแพ้ชนะ เช่น คนที่พวกเขาเชียร์ทำไมถึงไม่ชนะ ทำไมต้องแพ้ด้วย อันนี้ค่อนข้างจะน่ากลัว ซึ่งในสถานที่จัดงานสดๆ ผู้ชมไม่เคยมีปัญหา หรือข้อขัดแย้งใดๆ แต่เราจะพบเห็นได้ในเฟซบุ๊ก ตามคอมเมนต์ต่างๆ ที่เขาจะเข้ามาข่มกันไปข่มกันมา” หลุยส์ ธชา aka LiskStryx พูดคุยอย่างเปิดอก

อย่างไรก็ตาม ทางทีมงาน Rap is Now ได้จัดระบบความปลอดภัยไว้อย่างรัดกุม โดยมีหน่วยพยาบาล, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, สารวัตรทหาร (สห.) ทำหน้าที่สแตนบายด์คอยคุ้มกันความปลอดภัยตลอดการแข่งขัน เพราะฉะนั้น หากผู้ใดในงานมีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหา เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถเชิญตัวออกจากงานได้ทันที

...

Rap is Now...เยาวชนควรดูหรือไม่ หัวเรือใหญ่สะท้อนจุดบวก!

หากมีผู้ใหญ่คนหนึ่งคอมเมนต์มาว่า Rap is Now เป็นรายการที่เยาวชนไม่ควรดู คุณจะบอกผู้ใหญ่ท่านนี้ไปว่าอย่างไร? ทีมข่าวถาม หลุยส์ ธชา อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเราก็ได้รับคำตอบชนิดตรงไปตรงมาจากหลุยส์เช่นกัน “ไม่ควรดูก็ถูกต้องแล้ว เพราะผมไม่ได้แคร์ว่าคุณจะต้องดูนะ หรือเธอจะต้องดูนะ เพราะรายการนี้อาจไม่ควรดู แต่ถ้าเขาอยากดูผมก็ไม่ได้ห้าม ดังนั้น ใครจะด่าก็ด่าไป ใครบอกไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ค้าน”

หนุ่มไฟแรงคนเดิม พูดชัดๆ ช้าๆ กับเราอีกว่า “ผมอยากให้ทุกคนลองเปิดใจกับ Rap is Now หรือถ้าใครสักคนไม่อยากเปิดใจ แบบนี้ก็ไม่เป็นไรครับ หรือถ้าบางคนลองเปิดใจแล้วรู้สึกว่าไม่ดี แบบนี้ก็ไม่เป็นไรครับ แต่ผมขอเพียงแค่อย่าเข้ามาทำลายมันเลย เพราะรสนิยมของคนเราแตกต่างกัน หากสิ่งที่ผมทำอยู่ไม่ตรงกับรสนิยมของใครสักคน คุณก็อย่าโยนความไม่ดีมาให้มันเลยครับ”

“กลัวไหม หากวันใดวันหนึ่ง Rap is Now ถูกผู้ใหญ่ในสังคมสั่งให้ปิด?” ชายหนุ่มไฟแรงหัวใจแร็ปเต็มขั้นที่นั่งอยู่ตรงหน้าผู้สื่อข่าว ก้มหน้าคิดเล็กน้อยก่อนจะตอบกับเราว่า “กลัวครับ ผมกลัวว่าจะโดนปิด ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผิดกฎหมายอะไรหรือไม่ แต่ถ้าวันหนึ่งโดนปิด ผมก็คงต้องปิด แต่ผมเชื่อว่า Rap is Now คือเรื่องราวดีๆ แต่อยู่ที่คนในสังคมจะมอง Rap is Now ในมุมไหนมากกว่า”

ถ้าคุณมีลูกที่ยังเป็นเยาวชน คุณจะให้ดู Rap is Now หรือไม่? หลุยส์ใจเด็ด ตอบเผ็ดเช่นเดิมว่า "ผมจะให้ลูกผมดู เพราะ Rap is Now คือกีฬา Rap is Now คือการแข่งขัน เพราะฉะนั้น ผมขอถามกลับว่า เด็กอายุ 15 ดูมวยได้ไหม คำตอบ คือได้ แม้แต่เด็กอายุแค่ 13 หรืออาจจะมีเด็กกว่านี้ด้วยซ้ำ พ่อแม่ยังพาไปเรียนมวยเลย สุดท้ายเด็กที่เรียนมวยก็อาจจะเอาวิชาที่ได้เรียนไปเก๋าใส่เพื่อน แต่ว่า Rap is Now ดูเสร็จก็แค่ด่ากัน และแร็ปมันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องเจ็บตัว”

“ผมว่า Rap is Now มันมีประโยชน์ในตัวของมันอยู่ ซึ่งประโยชน์ของมันก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะหยิบเอาอะไรออกไปใช้ หากคุณหยิบคำด่าไป ก็เท่ากับคุณได้สิ่งไร้ค่าไร้ประโยชน์กลับไป แต่ถ้าคุณหยิบเรื่องกีฬา หยิบคำคล้องจอง หยิบคำสวยงาม หรือหยิบการเปรียบเทียบมาใช้ ผมว่าคุณจะได้อะไรดีๆ กลับไปใช้อีกเยอะ” ธชา คงคาเขตร คนรุ่นใหม่แต่ความคิดเหมือนรุ่นใหญ่

ขณะที่ ครูภาษาไทยหลายต่อหลายโรงเรียน ได้นำคลิปของรายการไปเปิดให้เด็กนักเรียนดู พร้อมกับทำคลิปการเรียนการสอนเป็นท่วงทำนองเพลงแร็ป ซึ่งทำให้เด็กเกิดความสนใจใคร่รู้กับเรื่องราวที่ครูนำออกมาถ่ายทอดมากขึ้น โดย หลุยส์ ธชา พูดถึงเรื่องนี้ว่า “ขนาดครูภาษาไทยสามารถเอาไปสอนนักเรียนได้ แสดงให้เห็นว่า Rap is Now มันต้องมีของดี”

เมื่อน้ำเงินย่างกรายเข้ามา ตัวตน Rap is Now จะเปลี่ยนไปหรือไม่?

เมื่อมีสปอนเซอร์มากขึ้น สปอตไลต์ส่องเข้ามาที่เวทีนี้มากขึ้น หาก Rap is Now ได้รับคำขอจากสปอนเซอร์ให้ลดคำหยาบลงบ้าง คุณจะดำเนินการตามคำขอนั้นหรือไม่? “ไม่” หลุยส์ ธชา ตอบในทันทีก่อนสิ้นเสียงของผู้สื่อข่าวด้วยซ้ำ พร้อมให้เหตุผลว่า “แม้ผมจะต้องการเงินของเขา แต่ผมไม่ทำ เราอยากได้เงินสนับสนุน แต่ถึงขั้นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อคนอื่น ผมไม่ทำ เพราะจากประสบการณ์ของผม ผมเห็นมาเยอะแล้วสำหรับรายการที่ยอมเปลี่ยนตัวเองเพื่อเงิน จุดจบคือ พัง”

หลุยส์ ธชา บอกจุดประสงค์ลึกๆ ในใจของเขาแก่เราว่า “ผมอยากให้ศิลปินได้เรียนรู้กันไปทีละน้อย สักวันหนึ่งเขาจะเข้าใจเองว่า สิ่งไหนดี สิ่งไหนควร หรือสิ่งไหนไม่ควร เพราะการไปฝืนอะไรมากๆ จะทำให้ศิลปินเสียความเป็นตัวตน และผมคิดว่าคำหยาบเป็นเพียงหมัดแย็บ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้ชมไม่เคยเฮกับคำหยาบเลย ในทางกลับกัน พวกเขาจะเฮกับคำสุภาพที่สามารถเสียดแทงคู่ต่อสู้ได้ และการแร็ปแบบนี้ทำให้เราขนลุกทุกครั้ง”

“เอาจริงๆ ผมคาดหวังมากเลยนะ ให้ Rap is Now มีแชมป์ที่ไม่มีคำหยาบเลย แต่ผมจะไปบอกหรือไปสั่งเขาไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับตัวแร็ปเปอร์เอง ซึ่งตอนนี้เราก็จะเห็นว่า มีแร็ปเปอร์บางท่านที่เขาพยายามไม่ใช้คำหยาบ มิหนำซ้ำเขายังสามารถแร็ปได้เจ็บแสบเสียด้วย เพราะของอย่างนี้ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ ให้เป็นไปตามวิวัฒนาการของเขาเอง” หลุยส์ พูดถึงแร็ปเปอร์สายสุภาพ แต่ไม่สามารถระบุออกมาเป็นชื่อได้ในตอนนี้

Rap is Now...วันนี้ เบอร์ 1 เวทีแร็ปไทย!

Rap is Now ในวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จหรือยัง? หลุยส์ หัวเรือใหญ่แห่งเวทีแร็ปสดเบอร์ต้นของเมืองไทย ให้คำตอบแก่เราตามความเป็นไปว่า “ตอนนี้ Rap is Now ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทีมงานทุกคนก็ดีใจปนงงๆ เหมือนกัน ซึ่งศิลปินบางคนไปตลาดไม่ต้องเสียเงินแล้ว เพราะพ่อค้าแม่ค้ารู้จักช่ืนชอบ หรือศิลปินบางคนลดกระจกรถยนต์แล้วเผอิญมีเด็กหันมาเจอพอดี เด็กๆ ก็กรี๊ดกันทั้งโรงเรียน ผมเองก็ยังงง ศิลปินก็งง เพราะทำตัวไม่ถูก”

ธชา คงคาเขตร กล่าวถึงความสำเร็จแท้จริงที่เขาได้วาดหวังไว้อีกว่า “วินาทีนี้ ผมอยากให้แร็ปเปอร์ที่มีความสามารถจริงๆ เดินเข้ามาหยิบคำว่า แร็ป ไปใช้ แล้วนำไปสร้างเป็นอาชีพ โดยที่คุณไม่ต้องไปแบกน้ำ ไม่ต้องไปขับแท็กซี่ ไม่ต้องไปเป็น รปภ. เพียงแค่คุณทำแร็ป คุณก็จะมีรายได้ คุณหาเงินได้ และคุณจะต้องภูมิใจที่วันนี้คุณเป็นแร็ปเปอร์”

ฝีปากเผ็ด เด็ดสัมผัส! เปิดคุณสมบัติแร็ปเทพ

นอกจากนี้ ขันเงิน เนื้อนวล หรือที่เรารู้จักกันในนาม ขันเงิน Thaitanium แร็ปรุ่นใหญ่ขวัญใจคนไทยบอกเล่ากับทีมข่าวถึงการเป็นแร็ปเปอร์ที่ดี ว่า แร็ปเปอร์ที่มีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาหรือวาจาที่หยาบคาย เพราะหัวใจสำคัญของแร็ป คือ เนื้อหาของเพลงที่ซ่อนเร้นไว้ด้วยแนวความคิดสะท้อนสังคม

“แร็ปเปอร์ที่ดีมักกล้าพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าพูด แร็ปเปอร์ที่ดีมักกล้าพูดแบบตรงไปตรงมา แร็ปเปอร์ที่ดีสามารถกระตุกเตือนให้ผู้คนในสังคมหันมามองในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะถ่ายทอดออกไปได้ และสักวันหนึ่ง คนเหล่านี้จะมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ปัจจุบัน เด็กๆ หลายคนอาจโฟกัสไปที่คำหยาบมากจนเกินไป ซึ่งคำหยาบเป็นเพียงการแสดงออกหนึ่งที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของแร็ปเปอร์” ขันเงิน Thaitanium เจ้าพ่อวงการแร็ปเมืองไทยชี้ทาง

ดังนั้น การตัดสินแร็ปเปอร์ว่าผู้ใดมีฝีไม้ลายมือเก่งกาจ ฝีปากร้ายขั้นเทพ ขันเงิน Thaitanium บอกถึงวิธีพิจารณาเอาไว้ ดังต่อไปนี้ 1. เนื้อหาที่ศิลปินถ่ายทอดออกมามีความรอบด้าน และลึกซึ้งหรือไม่ 2. ศิลปินร้องตรงจังหวะหรือไม่ 3. การเล่นสัมผัสของคำคมคายเพียงใด

มาเฟีย วงการแร็ป แสดงทรรศนะอีกว่า “วิธีแร็ปสามารถพลิกแพลงได้หลากหลายแบบรูป เช่นเดียวกับการเขียนกลอนหรือบทกวีประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้น เราควรจะเขียนให้มีความไพเราะสวยงาม มีสัมผัสลงล็อก ซึ่งเนื้อหาที่เราบรรจงแต่งออกมานั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดของแต่ละบุคคล ซึ่งของแบบนี้ขึ้นอยู่กับกึ๋นของแต่ละคนแล้ว ว่าใครมีของดีมากกว่ากัน”

“เมื่อพูดถึง Rap is Now ผมคิดว่า เวทีนี้เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นสำหรับน้องๆ มาก เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะแทนที่เด็กวัยรุ่นจะไปสำมะเลเทเมาไม่เข้าท่า ก็เอาเวลามาใช้ประโยชน์ โดดมาโฟกัสด้านเสียงเพลง ซึ่งผมสนับสนุนเต็มที่ครับ และของแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะฉะนั้น Rap is Now เวทีนี้ คือ ปรากฏการณ์แร็ปไทย”.

ขอบคุณที่มาภาพจาก : Rap is Now

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ 
สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ