สถานการณ์คุณภาพน้ำ ในรอบ 10 ปีอยู่ในเกณ์พอใช้ ส่วนเกณฑ์ดีอยู่ที่ร้อยละ 31 อยู่ที่บริเวณภาคเหนือ รองลงมาคือ อีสาน ใต้ ตะวันออก ด้านน้ำทะเลชายฝั่งพบพื้นที่อ่าวไทยตอนใน เสื่อมโทรมหนัก จากการระบายน้ำเสีย-ชุมชนรุกล้ำชายฝั่ง...
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.59 สถานการณ์คุณภาพน้ำ จากการประเมินคุณภาพน้ำ โดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน (Water Quality Index: WQI) พบว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 รองลงมาอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 31 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 26 แหล่งน้ำในภาคเหนือมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมากกว่าภาคอื่น รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก แม่น้ำที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุดที่ตรวจวัดได้เมื่อเทียบกับแม่น้ำสายอื่น คือ แม่น้ำตาปีตอนบน
นอกจากนี้ ยังพบว่าแนวโน้มสถานการณ์คุณภาพน้ำในรอบ 10 ปี (2549 – 2558) ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์พอใช้ โดยมีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น แม่น้ำจาง เวฬุ ตรัง ตาปีตอนบน แควน้อย และมีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น แม่น้ำกวง ลำตะคองตอนล่าง ระยองตอนล่าง ป่าสัก ลพบุรี เจ้าพระยาตอนบน ท่าจีนตอนกลางและล่าง เพชรบุรีตอนล่าง ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการลงทุนระบบบำบัดน้ำเสีย
ส่วนน้ำทะเลชายฝั่ง จากการประเมินคุณภาพน้ำ โดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำทะเล (Marine Water Quality Index: MWQI) พบว่า คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 72 อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 16 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 9 และอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 3 และไม่พบคุณภาพน้ำเกณฑ์ดีมาก โดยบริเวณที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมยังคงเป็นพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเสียจากแม่น้ำสายหลักและชุมชนที่รุกล้ำชายฝั่งทะเล
...