สภาวิชาชีพร่อนแถลงการณ์ เรียกร้องยุติบทบาทชั่วคราว โซเชียลว่อน-มาลีนนท์อุ้มต่อ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยจับมือสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่อนแถลงการณ์เรียกร้องช่อง 3 ยุติบทบาทหน้าจอของ “สรยุทธ” ชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด เพื่อสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้วงการสื่อ หลังผู้บริหารช่อง 3 มีมติอุ้มพิธีกรชื่อดังทำงานต่อ ย้ำตระกูลมาลีนนท์เข้าใจและยังเป็นกำลังใจให้ แต่ยังคอยจับตากระแสสังคม ขณะที่พิธีกรชื่อดังมาทำงานปกติ แถมอ่านข่าวตัวเองออกอากาศ ยันกลางรายการใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดีแน่ ด้าน “กสทช.” ชิ่งกลางอากาศ หลังทำขึงขังเรียกประชุมด่วน แต่กลับออกมาแจงไม่มีอำนาจสั่งเบรกการทำหน้าที่ โบ้ยให้ไปจัดการกันเอง
กรณีศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีบริษัทไร่ส้ม จำกัด ร่วมกับพนักงานช่อง 9 อสมท ทุจริตเงินค่า โฆษณากว่า 138 ล้านบาท สั่งจำคุกนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี ปรับบริษัทไร่ส้ม จำกัด โดยมี น.ส.อังคณา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ้ม เป็นตัวแทนรวม 1.2 แสนบาท จำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม จำกัด จำเลยที่ 3 จำนวน 13 ปี 4 เดือน และจำคุก น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จำเลยที่ 4 เป็น เวลา 13 ปี 4 เดือนเช่นกัน หลังฟังคำพิพากษาผู้ต้องหาทั้งหมดยื่นขอประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์คนละ 2 ล้านบาท จนเกิดกระแสสังคมตั้งคำถามว่า นายสรยุทธจะยังทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อยู่หรือไม่ ต่อมาผู้บริหารบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ประชุมเครียดหลายชั่วโมง ก่อนได้ข้อสรุปว่า จะให้นายสรยุทธทำหน้าที่ต่อไป เพราะคดีความยังไม่สิ้นสุด
...
ความคืบหน้าจากห้องส่งสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อาคารมาลีนนท์ 2 เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 1 มี.ค. นายสรยุทธพร้อมด้วยทีมงานเดินทางมาเตรียมจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ พร้อมทำหน้าที่พิธีกรรายการข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ พร้อมกับ น.ส.พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ หรือน้องไบรท์ ในเวลาออกอากาศ 06.00 น. ตามปกติ โดยมีสื่อมวลชนจากหลายสำนักจำนวนมาก มาเฝ้ารอทำข่าวบริเวณห้องโถงอาคารมาลีนนท์ 2 แต่นายสรยุทธไม่ได้ให้สัมภาษณ์อะไร จึงได้แต่บันทึกภาพและเสียงของนายสรยุทธผ่านโทรทัศน์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณห้องโถง
เมื่อถึงเวลาออกอากาศ นายสรยุทธและ น.ส.พิชญทัฬห์ได้อ่านข่าวคำพิพากษาคดีไร่ส้มเป็นข่าวสองของรายการ ต่อจากข่าวราชสำนัก ใช้เวลาประมาณ 3 นาที เริ่มจาก น.ส.พิชญทัฬห์อ่านข่าวบรรยากาศที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 ก.พ. และเนื้อหาในคำพิพากษาของศาล โดยฉายภาพเทปบันทึกรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ต้นเหตุแห่งคดีระหว่างบริษัทไร่ส้มกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สลับกับภาพบรรยากาศที่ศาลอาญาประกอบข่าว ขณะที่นายสรยุทธอ่านข่าวในท่อนการยื่นขอประกันตัวและศาลอนุญาตให้ประกันตัว และกล่าวช่วงท้ายข่าวว่า “ในฐานะที่ผมและบริษัทไร่ส้มเป็นจำเลย เมื่อศาลอาญามีคำพิพากษา ผมและบริษัทก็เคารพในคำพิพากษา ในขั้นตอนต่อไปผมและบริษัทจะใช้สิทธิ์อุทธรณ์คดีต่อไป”
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เปิดเผยว่า ในวันนี้ (1 มี.ค.) คงต้องจับตาดูต่อไปว่า สังคมจะคิดเห็นอย่างไร แต่ทางช่อง 3 คงไม่ต่อความยาวสาวความยืด หลังผู้บริหารมีมติไปเมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้วว่า ตัดสินให้นายสรยุทธ ดำเนินรายการทางช่อง 3 ต่อไป ทีมผู้บริหารรวมทั้งบอร์ด และคนในตระกูลมาลีนนท์ เข้าใจและร่วมเป็นกำลังใจให้กับนายสรยุทธ เนื่องจากผูกพันกันมานาน ถือเป็นครอบครัวเดียวกัน ตลอดเวลาที่ร่วมงานก็ไม่เคยเห็นนายสรยุทธทำผิดอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดก่อนการเข้ามาร่วมงานกับช่อง 3
“ในการประชุมผู้บริหารและคนในตระกูลมาลีนนท์เป็นการภายในเมื่อวันที่ 29 ก.พ. ถือว่ามีมติไปในทิศทางเดียวกัน และนายสรยุทธไม่ได้เข้าร่วมเพื่อชี้แจงใดๆ หากเมื่อผลการตัดสินสิ้นสุดถึงศาลฎีกาเมื่อไร เมื่อนั้นอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่ ณ วันนี้ เราจะเดินหน้าร่วมงานกันต่อ แต่ในมุมของผู้บริหารต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดูว่าสังคมจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ยอมรับว่า คนอาจมองว่าเราสุดโต่งก็ต้องน้อมรับ เพราะเราเชื่อมั่นในตัวเขา และเขาก็ยังมีเวลาพิสูจน์ความบริสุทธ์ จนกว่าการตัดสินจะเป็นที่สิ้นสุด” นายสุรินทร์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่นายสรยุทธ ยังมานั่งเป็นพิธีกรตามปกติแล้ว ในรายการเจาะข่าวเด่นช่วงเย็นนี้วันเดียวกัน นายสรยุทธยังเป็นผู้ดำเนินรายการอยู่เป็นปกติเช่นกัน
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อกฎหมายของ กสทช.ทุกข้อแล้วพบว่า ไม่มีอำนาจใดที่จะไปสั่งให้นายสรยุทธหยุดการจัดรายการได้ หรือแม้กระทั่งสั่งช่อง 3 ห้ามนำนายสรยุทธมาดำเนินรายการก็ไม่มีอำนาจ เรื่องนี้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ได้ตกลงร่วมกันเอง เป็นเรื่องของจริยธรรม หากจะห้ามใครดำเนินรายการต้องห้ามกันเอง เพราะ กสทช.ไม่มีอำนาจ
ส่วนการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ ที่มีนายไพศาล กุวลัยรัตน์ ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นการนัดประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดเรตติ้งละครกำไลมาศของช่อง 3 ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งได้เชิญผู้บริหารช่อง 3 มาชี้แจงเรื่องละครแล้ว โดยไม่เกี่ยวกับคดีของนายสรยุทธ ท่ามกลางความงุนงงของผู้สื่อข่าวและผู้ที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้กรรมการ กสทช.เองได้ทวีตข้อความว่า จะมีการพิจารณาดำเนินการกับกรณีของนายสรยุทธอย่างกว้างขวาง แต่เอาเข้าจริงกลับไม่มีการพูดถึง
...
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ประเด็นของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดานั้น ต้องมอง 2 มุม มุมแรกต้องให้ความเป็นธรรมต่อนายสรยุทธเพราะคดียังไม่สิ้นสุด มุมที่สองในฐานะผู้ประกอบการโทรทัศน์ต้องพิจารณาความเหมาะสม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะผู้ดำเนินรายการหรือผู้ประกาศข่าวถือเป็นตัวอย่างของสังคม เพราะฉะนั้นต้องคัดเลือกคนที่เหมาะสมและเป็นตัวอย่างของสังคมได้ ส่วนการตัดสินใจใดๆ
เป็นการตัดสินใจของผู้ประกอบการ เป็นดุลพินิจของผู้ประกอบการเอง เพราะ กสทช.ไม่มีอำนาจใดตามกฎหมายเข้าไปก้าวล่วงได้ กสทช.อาจทำได้เพียงทำหนังสือถึงช่อง 3 ว่าให้พิจารณากรณีอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ เมื่อช่อง 3 ตัดสินใจอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับช่องเอง
วันเดียวกัน สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรื่องการทบทวนการทำหน้าที่ของพิธีกรข่าว กรณีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา โดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมองว่าการที่ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยังให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ปฏิบัติหน้าที่เดิมอยู่ส่งผลกระทบต่อวงการสื่อมวลชนไทยในภาพรวม ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะที่ถูกสังคมตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบ และจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ จึงเรียกร้องให้ผู้บริหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทบทวนการทำหน้าที่ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้ยุติบทบาทอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับวงการสื่อมวลชนไทย
ขณะที่โซเชียลผุดแฮชแท็กใหม่ พร้อมแห่โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กรณีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการเล่าข่าวชื่อดัง ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก จนกลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมอันดับต้นๆของทวิตเตอร์ประเทศไทย ด้านกระแสในโลกโซเชียลพบว่าแฮชแท็กเรื่องเล่าเช้านี้วงแตก ติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์ มีการโพสต์ข้อความวิจารณ์ถึงกรณีผู้ประกาศข่าวชื่อดังถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก ข้อความจำนวนกว่า 7 หมื่น 3 พัน ครั้ง เป็นอันดับ 3 ของทวิตเตอร์ประเทศไทย รองจากกระแสการคว้ารางวัลออสการ์ของลีโอนาร์โด
ดิคาปริโอ เรียกว่าสังคมออนไลน์ให้ความสนใจค่อน ข้างมากเลยทีเดียว
...
นอกจากนี้ยังมีกระแสวิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ในรายการข่าวของนายสรยุทธ ส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยว่าเมื่อศาลตัดสินเช่นนี้แล้ว ผู้ประกาศข่าวรายนี้จะยุติบทบาทการทำงานหรือไม่ ขณะที่ล่าสุดมติบอร์ดช่อง 3 ยังยืนยันว่านายสรยุทธจัดรายการตามปกติ จนทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 1 มี.ค. หลังจากที่นายสรยุทธมานั่งจัดรายการ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล รวมถึงทำภาพล้อเลียนต่างๆ อาทิ อ.ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Time Chuastapanasiri วิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่นายสรยุทธกลับมานั่งอ่านข่าวตามปกติ เป็นการตบหน้าสังคมไทยแรงๆ ระบุว่า “ผมคิดว่าการที่คุณสรยุทธยังคงได้รับโอกาสมานั่งเล่าข่าวอ่านข่าวตามปกติเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น เป็นการตบหน้าสังคมไทยแรงๆอีกครั้งหนึ่ง มันเท่ากับเป็นการพิสูจน์ว่าจริยธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญอีกต่อไปในสังคมไทย กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าล่องลอยอยู่ในอากาศ และช่อง 3 ก็ลดระดับการเป็นองค์กรสื่อลงไปอยู่ในระดับเดียวกับนักเล่าข่าวคือ ขาดธรรมาภิบาลองค์กรอย่างรุนแรง พวกเขาดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนได้อย่างไร? ทั้งๆที่จิตวิญญาณของวิชาชีพนี้คือ จริยธรรมและความรับผิดรับชอบต่อสังคม”
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ผลจากการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ถ้าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรวมถึงนายกฯต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตามรัฐธรรมนูญ 2550 แม้คดียังไม่ถึงที่สุด หรือแม้แต่รอลงโทษก็ตาม นี่เป็นการวางคุณสมบัติไว้เข้มข้น ถ้าถูกกล่าวหาในฐานความผิดกลุ่มทุจริตต่อหน้าที่ เพียง ณ วันที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ไม่ต้องรอศาลวินิจฉัย แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทกำหนดการยุติการปฏิบัติหน้าที่ หรือการพ้นจากหน้าที่ของบุคคลในภาคเอกชนไม่ว่าสาขาใดๆไว้ รวมถึงสาขาสื่อมวลชน นั่นเป็นเรื่องมาตรฐาน รวมทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละบุคคลและแต่ละองค์กร รวมทั้งแต่ละองค์กรกำกับของแต่ละวิชาชีพ มาตรฐานดังว่าอาจเป็นระเบียบข้อบังคับเป็นลายลักษณ์อักษรหรือแม้แต่เป็นจิตสำนึก
...
นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สปช.กล่าวว่า กรณีช่อง 3 ยังอุ้มชูนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้ทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้ต่อไป นับเป็นความอัปยศครั้งใหญ่ของธุรกิจสื่อประเทศไทย ช่อง 3 กำลังท้าทายพลังจริยธรรมคนไทย เท่ากับดูถูกผู้ดูทีวีเห็นกำไรที่เป็นตัวเงินมีราคามากกว่าตราบาปที่จะติดตรึงองค์กรไปตราบนานเท่านาน จึงขอเชิญชวนและเรียกร้องให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน องค์กรและสมาคมสื่อทั้งมวล เอเจนซี่โฆษณา บริษัทธุรกิจที่มีโฆษณากับช่อง 3 วงการสื่อออนไลน์ รวมทั้งคนไทยที่รักความเป็นธรรม ปฏิบัติการแข็งข้อกับช่อง 3 ด้วยการคว่ำบาตร เช่น เลิกคบค้าสมาคม เลิกโฆษณา เลิกดู ส่งพวงหรีดไปให้ ประท้วงผ่านหน้าจอออนไลน์ เพื่อแสดงออกถึงพลังทางจริยธรรมร่วมกัน
ส่วนนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “สรยุทธจำเป็นต้องหยุดหรือไม่” ว่า ไม่รู้จักนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นการส่วนตัว เคยแต่ถูกนายสรยุทธวิพากษ์วิจารณ์แบบที่เรียกว่าด่าหลายครั้ง ระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีไม่เคยโกรธเพราะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะสื่อย่อมวิจารณ์ได้ ทันทีที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา นายสรยุทธถูกสหบาทา โดยเฉพาะจากสมาคมด้านสื่อทั้งหลาย ที่ออกมาเรียกร้องให้ทางสถานีพิจารณาการทำหน้าที่ แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด นายสรยุทธยังสามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ กฎหมายให้ความคุ้มครองว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ สื่อควรให้ความเคารพและอยู่ในกรอบของกฎหมายเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดนายสรยุทธก็เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองตามครรลองแล้ว ดีกว่าพวกที่อวดอ้างความเป็นคนดี แต่ลอยหน้าลอยตาใช้รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยหนีการตรวจสอบ กลับไม่เคยเห็นสมาคมสื่อออกมากดดันเรียกร้องให้คนพวกนี้ยอมรับการตรวจสอบเลย