ศปถ. สรุปยอด 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ 29 ธ.ค. 58 - 4 ม.ค. 59 ตาย 380 คน เจ็บ 3,216 คน เมืองย่าโม เสียชีวิตสูงสุด 15 คน สาเหตุหลักเมาแล้วขับ ขณะปลัด มท. เผย ไม่ปิดศูนย์ ดำเนินมาตรการต่อ พร้อมสั่งอุปกรณ์เพิ่มรับสงกรานต์
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 59 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย แถลงสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หรือ ศปถ. ของวันที่ 7 ในช่วง 7 วันอันตราย 4 ม.ค. 59 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 287 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 289 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดมาจากขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.14 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 14.37 เมาสุรา ร้อยละ 13.19 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.22 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ขณะที่จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากสุดคือ จ.นครศรีธรรมราช 17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ จ.อุดรธานี 5 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ จ.นครราชสีมา 17 คน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน คือวันที่ 29 ธ.ค. 58 - 4 ม.ค. 59 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,379 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 380 คน ผู้บาดเจ็บรวม 3,505 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือ จ.นครราชสีมา 15 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดคือ จ.เชียงใหม่ 139 ครั้ง สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ เมาสุรา ร้อยละ 24.03 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 17.28 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.51 รถปิกอัพ ร้อยละ 7.4
นายกฤษฎา ยอมรับว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานอย่างแข็งขัน เห็นได้จากการตรวจจับ อีกทั้งสาเหตุการเสียชีวิต ก็ปรับเปลี่ยนจากที่เคยมีสาเหตุมาจากเมาสุรา แต่เป็นการขับรถโดยใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งคาดว่าอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับลดน้อยลงเกิดจาก 2 มาตรการ คือ 1. ทหารดูแลตามจุดตรวจและควบคุมและมีการยึดรถจากผู้ที่เมาสุราแล้วขับ 2. จากคำสั่ง คสช. ที่ 46 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อให้การระงับยับยั้งและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรำคาญ อันตรายและความเสียหายอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและจัดระเบียบสังคม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 รวมทั้งการบังคับใช้กฎจราจรอย่างแข็งขัน
...
ทั้งนี้ จะไม่มีการปิด ศปถ. และจะดำเนินมาตรการ 2 มาตรการต่อไปคือ มาตรการจากคำสั่ง คสช. และมาตรการทางสังคม โดยให้เจ้าหน้าที่ทางปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำประชาคมและวางกฎกติกาในชุมชนกรณีจัดงานรื่นเริงเพื่อให้เกิดจิตสำนึกร่วมกัน ส่วนการตั้งด่านจะเป็นข้อพิจารณา โดยจะมีการตั้งด่านตรวจให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อุบัติเหตุจะเกิดจากถนนสายรอง สำหรับด่านชุมชนจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ต้องให้ชุมชนทำประชาคมสร้างกฎกติกาขึ้นมา เช่น หากเมาสุราแล้วขับรถ ก็อาจลงโทษด้วยการทำความสะอาดวัด หรือหากจัดงานรื่นเริง อาจทำจุดจอดรถเพื่อรวมกุญแจ ป้องกันไม่ให้คนที่ดื่มสุราแล้วขับรถ ซึ่งจะเป็นการสร้างจิตสำนึก เป็นต้น
นอกจากนี้ จะจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจจับความเร็วและเครื่องวัดแอลกอฮอล์โดยใช้งบประมาณปี 2559 เพื่อให้ทันใช้ในเทศกาลสงกรานต์ ที่กำลังจะมาถึง.