ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัว แม้แต่น้ำประปาในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวง (กปน.) ที่มีจุดรับน้ำดิบตั้งอยู่ไกลจากปากแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 96 กิโลเมตร ที่ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปัญหาน้ำทะเลหนุน แต่ปัจจุบันไม่สามารถไว้วางใจได้แล้ว เพราะ กปน.ประสบปัญหามาสองปีซ้อน และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกปี ยิ่งปีนี้ยิ่งรุนแรงมาก ส่งผลให้น้ำประปาอาจมีรส “กร่อย” โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. ของทุกปี
ถามว่า กปน.มีแนวคิดเปลี่ยนจุดรับน้ำดิบหรือไม่ ขอตอบเลยว่าคิด และอยากจะทำอย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ทันที ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ การลงทุน และการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชาติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอควร
เมื่อพูดถึงคำว่า “น้ำกร่อย” หลายๆคนจะรับรู้ได้เลยว่ามีรสชาติเค็ม แต่หากถามว่า ระดับไหนจึงเรียกว่ากร่อย คงไม่มีใครตอบได้ เพราะ ประสาทการรับรู้รสของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม หลักการทาง วิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาพิสูจน์ทราบได้ โดย กปน.จะอ้างอิงจาก ค่าความนำไฟฟ้าและค่าความเค็มของน้ำประปาในพื้นที่บริการ ดังนี้
ระดับความกร่อย ไม่กร่อย ค่าความนำไฟฟ้า (ไมโครซีเมนส์/ ซม.) น้อยกว่า 700 ค่าความเค็ม (กรัม/ลิตร) น้อยกว่า 0.34 เริ่มกร่อย ค่าความนำไฟฟ้า 700 ค่าความเค็ม 0.34 กร่อยเล็กน้อย ค่าความนำไฟฟ้า 1,200 ค่าความเค็ม 0.5 กร่อยปานกลาง ค่าความนำไฟฟ้า 2,000 ค่าความเค็ม 1 กร่อยมาก ค่าความนำไฟฟ้า 2,300 ค่าความเค็ม 1.20
ความนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) เป็นการวัดความสามารถของน้ำที่ให้กระแส ไฟฟ้าไหลผ่าน ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณสารละลายที่ แตกตัวเป็นอิออนและอุณหภูมิของน้ำ จึงใช้ค่าความ นำไฟฟ้าในการประเมินคุณภาพน้ำเบื้องต้นน้ำที่มีแร่ธาตุที่แตกตัวเป็นอิออนได้มากจะนำไฟฟ้าได้สูง น้ำกลั่นมีค่าความ นำไฟฟ้าใกล้ศูนย์ น้ำดื่มทั่วไปมีค่าความนำไฟฟ้า 50-1,500ไมโครซีเมนส์/เซนติเมตร ภาวะปกติ น้ำประปามีค่าความนำไฟฟ้าประมาณ 200-350 ไมโครซีเมนส์/เซนติเมตร ทั้งนี้ หากค่าความนำไฟฟ้า 400 ไมโครซีเมนส์/เซนติเมตรขึ้นไป จะเริ่มแจ้ง ข้อมูลโดยตรงให้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ฟอกย้อม กระจกสี เลนส์ ฯลฯ เพื่อจัดเตรียมระบบ RO เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ
...
ความเค็ม (Salinity) ความเค็มเป็นตัวบ่งบอกถึงปริมาณโซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร) ที่ละลายอยู่ในน้ำ ความเค็มในน้ำจืด มีค่าน้อยกว่า 0.5 กรัม/ลิตร น้ำกร่อย 0.5-30 กรัม/ลิตร น้ำเค็ม หรือน้ำทะเล มีค่ามากกว่า 30 กรัม/ลิตร
ความเค็มในแหล่งน้ำจืดส่วนใหญ่เกิดจากการรุกล้ำของน้ำทะเล ซึ่งมีความเค็มมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะห่างจากปากทะเลและฤดูกาล ในช่วงฤดูแล้งเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม น้ำจืดมีปริมาณจำกัดมักถูกใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค จึงมีปริมาณไม่เพียงพอผลักดันน้ำเค็ม
อย่างไรก็ตาม กปน.จะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เมื่อค่าความนำไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการแตะที่ระดับ 700 หน่วยขึ้นไป เพื่อให้สำรองน้ำสำหรับดื่มกิน ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ด้วยตนเองผ่าน แอพพลิเคชั่น MWA on Mobile โดยดาวน์โหลดได้แล้วทั้งระบบ Android และ iOS แอพพลิเคชั่นนี้ นอกจากจะติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำออนไลน์แล้ว ยังแจ้งยอดค่าน้ำประปา พื้นที่หยุดจ่ายน้ำ และช่วยกันแจ้งเหตุท่อแตกรั่วได้อีกด้วย
รู้เช่นนี้แล้วคงทำให้หลายคนเบาใจ และไม่ตื่นตระหนก พร้อมติดตาม ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจาก กปน.อย่างต่อเนื่อง ผ่านเว็บไซต์ www.mwa.co.th และ MWA on Mobile “แอพของคนเมือง ครบทุกเรื่องน้ำประปา”.