เจ้าของร้านเด็กหญิงขอโทรศัพท์แลกเซ็กซ์ แจงเด็กหญิงขอพลีกาย แท้จริงเป็นเด็กมัธยมต้น เผยเคยมีสาวสวยเป๊ะมาถึงหน้าร้าน ขอมีเซ็กซ์แลกไอโฟน 6 ระเบียบรัตน์ จวกสังคมแฟชั่นทำวัยรุ่นบ้าวัตถุนิยม หมอวัยรุ่น ชี้ควรสอนเด็กไม่เสพแบรนด์ ไอดอลเด็ก แนะอยากได้ต้องอดออม...  

นายอุทัย บัวประเสริฐ เจ้าของร้านโทรศัพท์มือถือย่านตลาดเทพอุดร จ.ตราด ที่มีเด็กหญิงขอร่วมหลับนอน เพื่อแลกกับโทรศัพท์มือถือไอโฟน 6 เปิดเผยให้ทีมเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า เด็กหญิงที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับยอมพลีกาย เพื่อแลกเงินส่วนต่างทั้งหมด 3,900 บาทนั้น เป็นเด็กหญิงชั้นมัธยมต้น ไม่ใช่ชั้นประถมศึกษาตามที่ปรากฏในข่าวไปก่อนหน้าน้ี แต่ไม่ทราบว่าเป็นเด็กจากจังหวัดอะไร เนื่องจากตนมีร้านขายโทรศัพท์มือถือออนไลน์ ดังนั้น จึงมีลูกค้าหลากหลายเพศ หลากหลายวัยทั่วประเทศ เข้ามาติดต่อซื้อขายกันเป็นประจำ

“เหตุการณ์ไอโฟนแลกเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีสาววัยรุ่นหน้าตาดี คาดว่าอายุไม่เกินจาก 18-20 ปี เข้ามาที่หน้าร้าน แล้วพูดเชิงที่ว่า เขาจะให้ผมไปนอนกับเขาหนึ่งคืน เพื่อขอแลกไอโฟน 6 หนึ่งเครื่อง แต่ผมก็ปฏิเสธเธอไป เพราะว่าผมมีภรรยาแล้ว และวิธีลัดอย่างนี้ไม่ถูกต้องเลย” เจ้าของร้านโทรศัพท์มือถือ ย้อนเล่าไปถึงวินาทีมือถือแลกเซ็กซ์

...

นายอุทัย ยังฝากเตือนไปถึงผู้ปกครองที่มีบุตรหลานว่า ปัจจุบันมีเด็กๆจำนวนมากที่ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีราคาแพง ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่เห็นเพื่อนๆ มี จึงเกิดความรู้สึกอยากได้อยากมีเหมือนกับคนอื่นๆ บ้าง ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องสร้างอุปนิสัยให้ลูกหลานไม่เสพวัตถุนิยมจนเกินกว่าเหตุ

ด้าน นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข กล่าวว่า เรื่องวัยรุ่น เยาวชน เป็นผลที่สะท้อนออกมาจากปัญหาสังคม โดยมีพื้นฐานมาจากระบบครอบครัว หากครอบครัวไม่อบอุ่น ไม่ใกล้ชิด ก็จะมีปัญหาตอนเขาเป็นวัยรุ่น เรื่องที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะว่าด้อยประสบการณ์ อาจทำให้เขาหลงใหลใน "วัตถุนิยม" ส่งผลสะท้อนถึงความเสื่อมอย่างหนัก ให้ความสำคัญกับวัตถุ ไม่หวงเนื้อตัวร่างกาย ที่น่าเสียใจคือ กลับไม่ได้รู้สึกเสียดาย จะร่วมหลับนอนกับใครก็ได้ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ

"ส่วนตัวไม่เคยโทษเด็ก แต่อยากเน้นไปที่สถาบันครอบครัว ส่วนที่เด็กเป็นแบบนี้ คิดว่ามาจากเรื่องแฟชั่น เห็นเพื่อนมี เรามีจะรู้สึกดี สิ่งที่กลัวที่สุด คือ "การทำผิดแล้วไม่รู้ว่าผิด" เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ถือเป็นเรื่องน่ากลัวของสังคมไทย กลายเป็นเรื่องเห็นผิดเป็นชอบ"

นางระเบียบรัตน์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหา ถ้าแก้ตอนวัยรุ่นนั้นทำยาก ควรเริ่มปลูกฝังแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ สิ่งที่ต้องทำคือการต้องเร่งปฏิรูปสังคม ปล่อยให้ฟอนเฟะแบบนี้ไม่ได้ ต้องเน้นสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง แสดงให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามใคร พอใจในสิ่งที่มีอยู่ แต่ปัจจุบัน สังคมเราวิ่งตามคนอื่น สื่อเองก็มีส่วนในการกระตุ้นให้เด็กอยากได้ แต่ถ้าไม่ได้เอาตัวแลกเลยมันรู้สึกน่าเศร้ามาก สิ่งที่อยากจะฝากคืออยากให้คิดได้ เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนไม่เคยผิดพลาด แต่ถ้าผิดแล้วก็อยากให้กลับตัวกลับใจ คุณพ่อคุณแม่ใกล้ชิดลูกให้มากๆ อย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท

...

ขณะที่ น้องมายด์ พีรดา สาเพิ่มทรัพย์ เด็กหญิงวัย 9 ขวบ นักเต้นตัวจิ๋วและเป็นไอดอลของเด็กน้อยหลายๆ คน เล่าถึงเวลาที่ตนเองอยากได้สิ่งของสักชิ้นที่มีราคาสูงว่า ตนจะบอกคุณแม่ว่าอยากได้สิ่งของชิ้นนี้มาก และแม่จะซื้อให้ แต่ต้องดูว่ามีประโยชน์กับตนมากน้อยแค่ไหน ถ้าซื้อไปแล้วจะใช้คุ้มหรือไม่

สำหรับปัจจุบันนี้มีโทรศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เด็กๆ หลายคนอยากได้มาครอบครอง น้องมายด์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องดูราคาก่อนว่าแพงขนาดไหน ถ้าแพงมากๆ ก็จะไม่ซื้อ จะเลือกซื้อรุ่นที่ถูกลงมาหน่อย แต่ใช้งานได้ดีเหมือนกัน ส่วนโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งออกมาใหม่ล่าสุด จะไม่ค่อยอยากได้ เพราะว่าไม่ได้มีความจำเป็นจะใช้ขนาดนั้น

...

ส่วน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยกับ "เฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากสังคม กรณีนี้เป็น 1 ในภาพสะท้อนของสังคมในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะ "วัตถุนิยม" คนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากันและกันด้วยวัตถุ การใช้ของแบรนด์เนม หรือผู้ที่ฐานะดี ก็มักจะถูกยกย่อง และได้รับบริการที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า จะต้องเป็นแบบนั้น ขณะเดียวกัน เด็กอาจไม่ได้รับการเลี้ยงดูให้รู้จักคุณค่าของตัวเอง ให้คุณค่าต่อความสามารถที่มี นิสัยที่ดี หรือเด็กไม่ได้รู้สึกว่า ตนเองจะสามารถถูกรักได้แบบไม่มีเงื่อนไข เช่น ความรักของพ่อแม่ ทั้งนี้ ถือว่ารุนแรงหรือไม่นั้น เห็นว่าขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่ามองเรื่องเพศอย่างไร แต่สำหรับกรณีนี้เป็นเด็กอายุน้อย ยังไม่มีวุฒิภาวะ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะใช้วิธีการนี้อีก เพื่อให้ได้ของที่อยากได้ กลายเป็นว่า เสพติดวิธีการนี้ไป

"เราต้องสอนเด็กผ่านการกระทำของเราเอง เช่น ไม่ให้คุณค่ากับสิ่งภายนอกมากกว่าภายใน ไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้วัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม ทำให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเอง นอกจากนี้ ก็หาโอกาสในการสอนผ่านสื่อ ผ่านละครได้ด้วย" พญ.จิราภรณ์ กล่าว.