เริ่มช่วงแรกธันวา57 จี้ต้องดูแลคุณภาพ
แท็กซี่เฮ คมนาคมไฟเขียวขึ้นราคาแท็กซี่เฉลี่ย 13% ปรับขึ้นมิเตอร์ช่วงรถติดเป็น กม.ละ 2 บาท ระยะแรกให้ปรับแค่ 8% รอประเมินผลบริการช่วง 6 เดือนแรก หากผ่านเกณฑ์ให้ปรับเต็มเพดาน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขบริการดี คันไหนปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารหรือแสดงความถ่อยเถื่อนด้านการพูดจา มีสิทธิ์ถูกลงโทษด้วยมาตรการเฉียบ
ผู้โดยสารที่ใช้บริการแท็กซี่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มอีก ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ว่า ได้สรุปเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ เบื้องต้นเตรียมอนุมัติให้แท็กซี่ปรับขึ้นค่าโดยสารเฉลี่ย 13% คำนวณจากการนำอัตราการเงินเฟ้อในปีที่อนุมัติให้แท็กซี่ปรับราคาครั้งสุดท้ายเมื่อ 6 ปีก่อนมาเปรียบ เทียบกับอัตราเงินเฟ้อปีปัจจุบัน พบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้น 13% อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในช่วงที่รถติดและจอดนิ่งเพิ่มขึ้นอีกจากกิโลเมตรละ 1.50 บาท เป็นกิโลเมตรละ 2 บาท รวมทั้งมีการปรับลด ช่วงระยะทางในการนำมาคำนวณอัตราค่าโดยสาร ที่เปลี่ยนแปลงไปให้สั้นลงเป็นทุกๆ 10 กิโลเมตร จากเดิมที่กำหนดให้มีการคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ทุกๆ 12 กิโลเมตร เพื่อให้อัตราค่าโดยสารสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น ส่วนอัตราค่าโดยสารระยะเริ่มต้นระหว่าง กม.ที่ 0-2 กิโลเมตร ให้คงไว้ที่อัตราเดิมคือ 35 บาท
“เพื่อให้การปรับขึ้นค่าโดยสารมีประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสาร โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยระยะที่ 1 ในช่วง 6 เดือนแรก จะอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารเพียง 8% เพื่อรอดูประสิทธิภาพของการให้บริการ โดยจะมีการประเมินผลคุณภาพหลังให้บริการไปแล้ว 6 เดือน หากมีบริการที่น่าพอใจ กระทรวงจึงจะอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในระยะที่ 2 โดยจะให้ปรับขึ้นค่าโดยสารเต็มเพดานที่อัตรา 13% คาดว่าจะอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารระยะที่ 1 ได้ในเดือน ธ.ค.2557 ก่อนการปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ทุกคัน จะต้องปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานและเงื่อนไขของกรมการขนส่งทางบก เช่น รถต้องมีสภาพความปลอดภัย สะอาดทั้งภายในและภายนอก เครื่องปรับอากาศต้องเย็นเพียงพอ ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ แต่งกายและมีกิริยาที่สุภาพ เป็นต้น” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
...
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า หลังจากอนุมัติให้แท็กซี่ปรับราคา จะเข้มงวดกับรถแท็กซี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มขึ้น โดยจะนำมาตรการพักใช้ เพิกถอน ใบอนุญาตมาใช้ หากพบแท็กซี่กระทำผิดซ้ำซาก โดยแบ่งฐานความผิดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มความผิดทั่วไป เช่น ไม่ใช้มิเตอร์ค่าโดยสาร กิริยาวาจาไม่สุภาพ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกัน หากพบการกระทำผิด ครั้งที่ 1 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับรถ 7 วัน หากกระทำผิดข้อหาเดียวกันเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงระยะเวลา 1 เดือน จะถูกปรับ 1,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที สำหรับกลุ่มความผิดร้ายแรงได้แก่ ผู้ขับรถยนต์สาธารณะเสพหรือเมาสุรา หรือเสพยาเสพติดให้โทษ เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมทั้งขับรถในขณะหย่อนความสามารถ หรือกระทำความผิดทางอาญา หากพบการกระทำผิดมีโทษตั้งแต่พักใช้จนถึงยกเลิกเพิกถอนใบอนุญาตทันที
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถแท็กซี่ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมานานแล้ว ช่วงแรกจะให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ มีกรมการขนส่งทางบกประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเรียกรถแบบเหมาจ่ายเดิมขึ้นกับรถแท็กซี่ตกลงกันกับผู้โดยสาร แต่ต่อไปกระทรวงจะปรับให้เป็นการกดมิเตอร์ ซึ่งจะได้ค่าโดยสารเท่ากับหรือใกล้เคียงกับที่เหมาจ่าย จูงใจให้คนขับไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ต่อไปเมื่อผู้โดยสารเรียกแท็กซี่แล้ว คนขับจะต้องไปทุกที่ ไม่มีการปฏิเสธ เพราะการดำเนินการครั้งนี้ จะวางกรอบครอบคลุมทั้งการให้บริการ การใช้บริการ ทุกอย่างจะเป็นธรรมมากขึ้น ผู้ประกอบการจะมีเงินเหลือเพียงพอกับรายจ่าย ไม่ใช่ขับแท็กซี่แล้วได้เงินไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำหรือ 300 บาท
ในส่วน รฟท.ก็จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารเช่นกัน โดยนายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ภายใน 3 ปี (2559-2561) รฟท. มีแผนที่จะปรับขึ้นค่าโดยสาร 15% สำหรับการให้บริการรถไฟตู้นอนชั้น 1 และชั้น 2 เพื่อให้สะท้อนกับต้นทุนการให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นจากกรณีที่ รฟท.ได้จัดซื้อรถโดยสารเชิงพาณิชย์รุ่นใหม่จำนวน 115 คันเข้ามาให้บริการ โดยอาจจะเริ่มปรับราคาครั้งแรกช่วงเดือน ส.ค.2559 ซึ่งเป็นช่วงที่รับมอบรถโดยสารครบทั้ง 115 คันแล้ว โดยจะเป็นการปรับเพิ่มในส่วนของค่าธรรมเนียม ซึ่งสามารถปรับขึ้นได้โดยใช้อำนาจของผู้ว่าการ รฟท. โดยไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงและคณะรัฐมนตรี