3 หน่วยงานรัฐเร่งประสานงานตรวจพิสูจน์ สัญชาติแรงงานไทยบนเกาะอัมบน ก่อนช่วยกลับบ้านเพิ่มเติมอีก หลัง ตม.อินโดนีเซีย พบมีคนถือซีแมนบุ๊กไทยมากถึง 1,772 คน...

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. กำลังบูรณาการทำงานร่วมกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และกรมการจัดการงาน กระทรวงแรงงาน ในการดำเนินการติดตามและช่วยเหลือแรงงานไทยที่ยังตกค้าง ตกทุกข์ได้อยากอยู่บนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ในเบื้องต้นตอนนี้มีคนไทย 4 คน ที่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเพื่อส่งตัวกลับประเทศไทย ภายใต้การดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอัมบน

ส่วนคนไทยอีก 12 คนที่ยังหลบซ่อนตัวอยู่ในชุมชนบนเกาะดังกล่าว ตอนนี้ไม่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ต้องการเดินทางกลับประเทศไทยทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งทางกรมการกงสุล กำลังดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอยู่ ถ้าหากประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยก็ต้องมาเข้าสู่กระบวนการตรวจพิสูจน์ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อัมบน อินโดนีเซีย จากนั้น กรมการกงสุลจึงจะสามารถรับตัวมาส่งต่อให้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. และกรมการจัดหางาน ทำการเยียวยา คุ้มครอง และให้การช่วยเหลือจัดหางานใหม่ตามกฎหมายไทยต่อไปได้

ด้านนายสิงหเดช ชูอำนาจ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า แรงงานไทยที่ตกค้างอยู่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่ตกค้างมานานแล้ว บางคนมีครอบครัวอยู่บนเกาะมานานหลายปี จากการลงพื้นที่ ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของอินโดนีเซียให้ข้อมูลว่า มีลูกเรือไทยถือหนังสือคนประจำเรือสำหรับเรือประมง (ซีแมนบุ๊ก) ที่ออกโดยกรมเจ้าท่า จำนวน 1,772 คน แต่คาดว่าในจำนวนนี้เป็นคนไทยจริงๆ ประมาณ 30% เท่านั้น ที่เหลือเป็นต่างด้าวที่ใช้เอกสารปลอมจากฝั่งไทย สวมเป็นคนไทยลงไปทำงานในเรือประมง ในการแก้ปัญหานี้ทางกระทรวงต่างประเทศ จึงได้แนะนำให้ใช้พาสปอร์ต หรือหนังสือเกินทางควบคู่กับซีแมนบุ๊กในการยืนยันตัวตน เพื่อให้การปลอมแปลงเป็นไปได้ยากขึ้น

...

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงแรงงาน ต้องบูรณาการร่วมกันจะมีการปราบปรามนายหน้าเถื่อนที่หลอกชักชวนคนหางานตามสถานีขนส่ง อาทิ หัวลำโพง หมอชิต หากพบการชักชวนลงเรือ ให้ตั้งข้อสงสัยและนำตัวไปสอบสวน ต่อไปอาจต้องมีสัญญาจ้างสำหรับคนทำงานบนเรือ ในส่วนของความช่วยเหลือคนไทยชุดแรก 6 คน ที่เดินทางกลับมาแล้วพบว่ายังไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ หลังจากนี้จะมีกลับมาอีก 4 คน ส่วนที่ยังเหลือได้ให้ทาง ตม.พื้นที่ประสานกับสถานทูตไทยอย่างใกล้ชิด หากพบคนไทยขอความช่วยเหลือจะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประจำตัวให้ชัดเจนเพื่อช่วยกลับบ้าน.