หลายคนยังคงพอจำกันได้ เมื่อต้นปี 2543 มีเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความตื่นตระหนก เสียขวัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก นั่นคือ อุบัติเหตุทางรังสีที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารรังสีและอันตรายของสารรังสี นำมาซึ่งความสูญเสียเป็นอย่างมาก...
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เมื่อส่วนหัวของเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ หรือ เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา และบางส่วนถูกนำออกมาจากสถานที่เก็บที่ไม่มีการควบคุมดูแล นำไปเก็บไว้ในที่จอดรถร้างในซอยอ่อนนุช ตั้งแต่ปี 2542
ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนเก็บของเก่า จัดการแยกชิ้นส่วนเพื่อจะนำไปขายเป็นเศษโลหะ ที่ร้านรับซื้อของเก่า ทำให้รังสีแพร่ออกมา ผู้ที่โดนรังสีเข้าไปต่างมีอาการเจ็บป่วยไปตามๆ กัน เมื่อแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วย 2 -3 ราย และสงสัยว่าเป็นการได้รับรังสีจากต้นกำเนิดรังสีจึงได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบจนกลายเป็นข่าวครึกโครม
ในจำนวนผู้ป่วย 10 ราย ที่ได้รับปริมาณรังสีสูงจากต้นกำเนิดรังสี ในจำนวนนี้มี 3 ราย ที่ทำงานร้านรับซื้อของเก่า เสียชีวิตในระยะเวลา 2 เดือน หลังจากได้รับรังสี
กระทรวงสาธารณสุขแม้จะไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการถึงจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งหมดและมาตรการรองรับผู้ป่วย แต่มีข้อมูลบางส่วนที่สามารถสรุปได้ว่ามีประชาชนเข้ารับการตรวจร่างกายทั้งสิ้น 948 คนจากประชากร 1,882 คน!!!!!
ชิ้นส่วนกัมมันตภาพรังสี โคบอลต์-60 ดังกล่าว ถูกนำเข้าโดย บริษัทกมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด และบริษัท กมลสุโกศล จำกัด เมื่อปี 2538 จำนวนหลายเครื่อง
...
ท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่มีหน้าที่ควบคุมการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ หรือสารกัมมันตรังสีให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย พิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ใช้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีการผลิต ครอบครอง หรือนำเข้าสารรังสี และดูแลตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้สารรังสีทั้งในด้านการใช้ การจัดเก็บ และสถานที่จัดเก็บ
ทั้งที่ทราบมาโดยตลอด ทว่า พปส.กลับไม่ยอมดำเนินการตรวจสอบบริษัทกมลสุโกศลฯ ว่าได้จัดเก็บสารรังสีอย่างปลอดภัยถูกต้องตามหลักปฏิบัติหรือไม่ และไม่เคยแจ้งให้บริษัทฯ ทำรายงานสภาพสารรังสีแจ้งต่อ พปส. ทุกๆ 60 วันตามกฎหมาย ผลจากความหย่อนยานก็คือ พปส.ไม่ทราบว่าผู้ใช้สารรังสีประเภทต่างๆ ที่มีอยู่มากมายกว่า 600 รายทั่วประเทศนั้น มีการจัดการความปลอดภัยดีพอหรือไม่ และไม่มีข้อมูลว่า กากรังสีที่เลิกใช้งานแล้วตกไปอยู่ในที่ใดบ้างและมีการดูแลอย่างไร
อย่างไรก็ตาม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผลออกมาว่า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ พปส. 3 คน ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่จนถึงขณะนี้ พปส.ก็ยังไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อผู้เสียหาย
ส่วนบริษัทกมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด ทางบริษัทฯ อ้างว่ากลุ่มซาเล้งเป็นต้นเหตุเพราะไปขโมยสารรังสีออกมาจากที่จัดเก็บ บริษัทฯ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มซาเล้งในข้อหาลักทรัพย์ แต่ตำรวจสรุปสำนวนแล้ว ไม่ส่งฟ้องเพราะจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด ส่วนการจ่ายค่าชดเชยผู้เสียหายบริษัทฯ ให้สัมภาษณ์ว่าจะแยกช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยเป็น 2 กลุ่มคือ ประชาชนทั่วไปจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดและค่าเสียโอกาสอื่นๆ ด้วย ส่วนผู้เข้าไปขโมยทรัพย์สินและผู้รับซื้อของโจรจะจ่ายเพียงค่ารักษาที่จำเป็น
ในที่สุด บริษัทฯ ก็ไม่รับผิดชอบตามที่พูด กรณีนางพัฒนา ธรรมนิยม ที่ทำแท้ง บริษัทฯ จ่ายค่าเสียหายให้ 30,000 บาท ทั้งยังบอกว่าถ้าไม่พอใจให้ไปฟ้องร้องเอาเอง
สรุป แล้ว ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่น่าพอใจเลยสำหรับการปรับปรุงกลไกต่างๆ ที่บกพร่องโดยเฉพาะในด้านกฎหมาย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกก็จะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้เช่นเดิม และผู้เคราะห์ร้ายก็ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย
รศ.นเรศ จันทร์ขาว หัวหน้าภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่าในระยะยาวผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็ง ต้องใช้เวลาติดตามผู้ป่วยยาวนานถึง 20 ปี ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะผู้ได้รับรังสีบางรายอาจไม่มีอาการปรากฏให้เห็น แต่จะแสดงผลออกมาในอนาคต ซึ่งแพทย์ควรมีการขึ้นทะเบียนชาวบ้านเพื่อติดตามผล ซึ่งดูเหมือนว่าทางคณะแพทย์ที่รับผิดชอบไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก
"มีผู้ป่วยรังสีเพียง 10 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ที่ได้รับการดูแลจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้ป่วยอื่นๆ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ขณะนี้ผู้ป่วยทั้งหลายไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลพวกเขาไปอีกนานแค่ไหน แล้วหากในอนาคตมีผู้ป่วยแสดงอาการเพิ่มขึ้นใครจะรับผิดชอบ"รศ.นเรศ กล่าว
ขณะที่นายสนธยา สระปทุม หนึ่งในเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ผู้เจ็บป่วยทุกคนยังมีอาการเรื้อรัง และผลการตรวจยังพบโครโมโซมในร่างกายผิดปกติ ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐบาลจ่ายค่าชดใช้ผู้เสียหายเพื่อเป็นการเยียวยาในเบื้องต้น 5 ล้านบาทเศษ แต่กลับไม่เรียกคืนจากบริษัท ฯ พวกตน จึงนำคดีมาฟ้องจนถึงศาลอุทธรณ์ ส่วนจะฎีกาคำพิพากษาหรือไม่จะขอกลับไปปรึกษากันก่อน
"สำหรับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นมากกว่าความสูญเสียเพราะมีหลายครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ นอกจากนี้ ยังต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากเนื่องจากมีบางคนได้รับผลกระทบจากสารอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายมาตลอดจึงไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป"เหยื่อโคบอลต์ กล่าว
...
ด้านนายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ จากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลของนิวเคลียร์กับการนำมาใช้ประโยชน์เพียงด้านเดียวโดยไม่มีการพูดถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งข้อมูลพื้นฐาน เช่นสัญลักษณ์ใบพัดคน ก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ซึ่งไม่ต้องนึกเลยว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่มีความรู้นั่นเอง
นายสันติ กล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของพปส.อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการปฏิบัติการกู้ซากกัมมันตรังสีแถมการเข้าไปกู้ซากเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แต่งตัวป้องกันรังสี และระดับรองเลขาธิการ พป.ยังออกมาพูดอีกว่า ไม่มีงบประมาณจัดซื้อ และไม่จำเป็นต้องใช้ชุด ในจุดนี้ข้อเท็จจริงคืออะไร เป็นความไม่พร้อมของ พปส.
"การควบคุมการใช้กัมมันตภาพรังสีในประเทศ ทาง พปส.มีข้อมูลอยู่ในมือ แต่ยังปล่อยให้มีการหลุดรอดออกมาเป็นอันตรายกับชาวบ้าน และไม่ควรจะโยนความผิดให้บริษัท กมลสุโกศลเท่านั้น แต่ต้องโทษ พปส.ด้วย จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เอาจริงในเรื่องนี้เสียที โดยเฉพาะโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์แห่งใหม่ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่ จ.นครนายก มีการผลักดันโครงการท่ามกลางเสียงต่อต้าน ในแง่ของการขอให้มีใบรับรองความปลอดภัยมาเป็นแรมปี แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่จะล้มเลิกโครงการ ได้ หากไม่รีบดำเนินการคนที่จะถูกมองว่าหละหลวมก็คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์นั่นเอง" นายสันติ กล่าว
แม้ล่าสุดวันที่ 20 ต.ค. 2552 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินคดีให้ บ.กมลฯ จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับเหยื่อโคบอลต์ 60 แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่า เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ การไม่เคารพไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง ของบุคคลหลายๆ กลุ่ม และการขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี จึงก่อให้เกิดการสูญเสียสมควรเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้และจดจำอย่างยิ่ง
...