วสท.ให้ตั้งองค์กรใหม่แทน รฟท.-แก้ ก.ม.ทางหลวง, เวนคืน
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่โรงแรมดับเบิลยู วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเสวนา เรื่อง “ยกเครื่องเรื่องระบบราง กับประเทศไทยสู่ยุคปฏิรูป” โดย นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ระบบรางเพียง 2% แต่ใช้ขนส่งทางถนนถึง 90% ขณะนี้ได้เวลายกเครื่ององค์กร ที่จะทำหน้าที่พัฒนาระบบขนส่งทางราง โดยเรื่องที่ต้องศึกษาเร่งด่วน คือการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา หรือขยายจากองค์กรเดิม คือ รฟท.ควรยกเครื่องแนวคิดการพัฒนาระบบราง ให้เป็นการพัฒนาเมืองแบบบูรณาการ ที่ดินแนวรถไฟฟ้าควรพัฒนาชุมชนเมืองควบคู่กับสาธารณูปโภคไปด้วย ควรพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนชั้นกลางและระดับล่างแบบในฮ่องกง อาจเป็นในรูปของการร่วมทุน ไม่เช่นนั้นจะมีแต่การทำกำไรจากที่ดินและขายคอนโดฯสำหรับผู้มีรายได้สูงเท่านั้น
นายก วสท.กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 1951 ระบบรางของไทยมีการขยายตัวน้อยมาก การยกเครื่องระบบรางครั้งนี้ ต้องคำนึงถึงองค์รวมของประโยชน์ต่อส่วนรวม คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน, การพัฒนาที่ดิน สาธารณูปโภค, สิ่งแวดล้อม, การใช้พลังงาน, การนำเข้าวัสดุต่างๆ ที่ต้องใช้กับระบบราง, ความปลอดภัยของการขนส่ง รถไฟในเมืองต้องเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า 12 สาย โดยเร่งแก้ปัญหาการก่อสร้างสายสีแดง เร่งเดินหน้าระบบรถไฟรางคู่ ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และทางคู่ ตามแผนแม่บท ทางรถไฟท่านาแล้ง-เวียงจันทน์, ทางรถไฟปอยเปต-ศรีโสภณ
นายสุชัชวีร์กล่าวว่า ประเทศไทยต้องวางแผน 10 ปี, 20 ปี และ 50 ปี ข้างหน้า ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ได้แก่ 1.การเตรียมพร้อมทางด้านบุคลากรและวิชาชีพวิศวกรรมขนส่งทางราง 2.ด้านมาตรฐานการออกแบบ ปัจจุบันมีทั้งระบบรางของจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป ควรกำหนดว่าเราจะใช้มาตรฐานใดหรือมีระบบจัดการอย่างไร 3.การเตรียมพร้อมด้านกฎหมาย ควรแก้กฎหมาย พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินที่ล้าหลังและเอื้อต่อนักเก็งกำไรที่ดิน 4.ด้านความปลอดภัย ควรปรับแก้ไข พ.ร.บ.ทางหลวง การข้ามทางรถไฟ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ 5.สนับสนุนงานวิจัยการขนส่งทางราง เช่น การก่อสร้างรถไฟบนชั้นดินอ่อน การก่อสร้างรถไฟให้สามารถรับแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เป็นต้น.
...