เปิดตำราคชลักษณ์ช้างเผือกหลังกรณีพบช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีลักษณะเข้าข่ายเป็นช้างเผือก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ตระกูล และไม่จำเป็นจะต้องมีสีผิวกายเป็นสีขาวเพียงอย่างเดียว...
เกิดกระแสความสนใจจากสังคมอย่างต่อเนื่อง กรณีพบช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีลักษณะคชลักษณ์ที่น่าจะเป็นช้างมงคล หรือ ช้างเผือก หลังจากมีผู้บันทึกภาพไว้ได้ ซึ่งในส่วนการตามหาช้างตัวดังกล่าวนั้นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการต่อไป แต่ถ้าจะว่ากันถึงรายละเอียดเกี่ยวกับคชลักษณ์แล้ว มีดังต่อไปนี้
เปิดตำราคชลักษณ์
ช้างเป็นสัตว์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยมาช้านานและมีลักษณะโดดเด่นเป็นสง่ามากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับช้างในแต่ละยุคละสมัยมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะยามศึกสงคราม ใช้ช้างศึกในการต่อสู้ปกป้องอธิปไตยกับอริราชศัตรู หรือยามแผ่นดินสงบสุขก็ใช้ช้าง ชักลากสิ่งของแทนแรงงานมนุษย์ เพราะรูปร่างอันใหญ่โตทรงพลังมหาศาล
ที่สำคัญช้างเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและบารมีของพระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองไพร่ฟ้าประชาชน และขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นราชพาหนะสำคัญ ที่สมัยโบราณขาดเสียมิได้ ดังนั้น จึงเป็นเครื่องชี้บอกอีกอย่างหนึ่งว่า กษัตริย์พระองค์ใดจะมีพระบารมีกว้างใหญ่ไพศาลแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ต้องนำขึ้นมาพิจารณา คือ จำนวนของ ช้างสำคัญที่กำเนิดในสมัยพระมหากษัตริย์องค์นั้นๆ ปกครองบ้านเมือง
ช้างสำคัญ
ในที่นี้หมายถึงช้างที่มีลักษณะครบถ้วนถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ที่สืบสานกันมายาวนาน อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ช้างมงคล ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้คุณต่อบ้านเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะช้างที่มีลักษณะพิเศษเป็นมงคล หรือที่เรียกว่า ช้างเผือกหากใครได้เป็นเจ้าของ ก็จะส่งให้ผู้เป็นเจ้าของพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง
...
ช้างเผือกจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อองค์พระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงได้ไว้ก็จะหวงแหน และประกอบราชพิธีขึ้นระวางสมโภชเป็นพระยาช้างต้น มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือพระยา แต่ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับตระกูล (ลักษณะ) ของช้างเผือกนั้นๆ ด้วย
ถึงกระนั้น ช้างเผือกก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีสีผิวกายเป็นสีขาวเพียงอย่างเดียวและไม่ได้หมายถึงว่า ช้างเผือกจะต้องเกิดมาจากท้องที่มีพ่อแม่เป็นช้างเผือกเท่านั้น ซึ่งตามคัมภีร์ พระคชศาสตร์ หรือตำรา คชลักษณ์ เชื่อว่า ช้างเผือก เป็นช้างที่เทพชั้นสูงหรือมหาเทพประทานมาให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรม หากพระองค์ใดมีช้างเผือกมาก จะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงมีพระบารมีแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ และเป็นที่ยำเกรงต่ออริราชศัตรู รวมไปถึงมิตรประเทศ
ตำราคชศาสตร์ ที่ปรากฏในคัมภีร์ของพราหมณ์จารึกถึงตำนาน พระพรหมธาดา หรือพระเจ้าผู้สร้างโลก สรุปพอสังเขป ได้ว่า พระนารายณ์เสด็จลงมายังพิภพ แต่ไม่มีที่ประทับ เพราะไม่มีแผ่นดิน มีแต่มหาสมุทร จึงประทับบนหลังพระยาอนันตนาคราชในอีกพิภพหนึ่งแทน และต่อมาก็ทรงเนรมิตดอกบัวผุดตรงพระนาภี(สะดือ) ตำนานของผู้สร้างโลกว่าไว้ ดอกบัวนั้น ก็คือ โลกมนุษย์ของเรานั้นเอง
หลังจากที่เนรมิตดอกบัวเป็นโลกแล้ว พระนารายณ์ทรงแบ่งกลีบและเกสรดอกบัวเป็น 4 ส่วน นำไปถวายพระพรหม พระอิศวร พระวิศนุ และพระอัคนี ต่อมา พระมหาเทพทั้ง 4 ก็ทรงเนรมิตให้เป็นช้างจากกลีบและเกสรบัวนั้นๆ จึงเป็นที่มาของช้างมงคล แบ่งออกเป็น 4 ตระกูล คือ
1. พรหมพงศ์ หมายถึงช้างเผือกตระกูลที่พระพรหมเนรมิต มักเนื้อหนังอ่อนนุ่ม หน้าใหญ่ ท้ายต่ำ ขนอ่อนละเอียด เส้นเรียบ ขึ้นขุมละ 2 เส้น สีขาว โขมดสูง คิ้วสูง น้ำเต้าแฝด มีกระเต็มตัว ขนที่หลังหู ปาก ขอบตามีสีขาว อกใหญ่ งาสีเหลือง เรียวรัดงดงาม มีทั้งหมด 10 หมู่ ที่โดดเด่นที่สุดคือ ฉัททันต์ ผิวกายขาวดั่งเงินยวง งาสีเงินยวง อุโบสถ ขนและงาสีทองเป็นช้างแห่งอายุยืนยง สูงส่งด้วยวิทยาการ ในชาดกกล่าวถึง พระพุทธเจ้าครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ในชาติภพที่เป็นช้างเผือกจะถือกำเนิดเป็น พระยาฉัททันต์ หรือพระอุโบสถแค่ 2 ประเภทนี้เท่านั้น
2. อิศวรพงศ์ หมายถึง ช้างเผือกตระกูลที่พระอิศวรเนรมิต ผิวกายดำสนิท งาอวบ งอนเสมอกันทั้งสองข้าง เท้าใหญ่ น้ำเต้ากลม คอย่น ขณะเยื้องย่าง อกใหญ่ หน้าเชิด แยกเป็น 8 หมู่ ที่โดดเด่นที่สุด คือ อ้อมจักรวาล มีงาขวางามกว่างาซ้าย อ้อมโอบงวง และกัณฑ์หัตถ์งาซ้ายจะยาวกว่างาขวา อ้อมโอบงวงเช่นกัน เป็นช้างแห่งความสุข และเจริญด้วยทรัพย์สินและอำนาจ
3. วิษณุพงศ์ หมายถึง ช้างเผือกตระกูลที่พระวิษณุเนรมิต ผิวหนา ขนหนา เกรียน สีทองแดง อก คอ คางใหญ่ หางยาว งวงยาว หน้าใหญ่ นัยน์ตาขุ่น หลังราบ แยกเป็น 6 หมู่ ที่โดดเด่นที่สุด คือ สังขทันต์ มีงาอวบเรียวเหมือนสังข์ร้องได้ 2 เสียง ตอนเช้าเป็นเสียเสือ ตกเย็นเป็นเสียงไก่ขัน และดามหัสดินทร์ มีกายสีทองแดง เป็นช้างแห่งชัยชนะ พลาหาร ธัญญาหาร และน้ำฝนจะอุดมสมบูรณ์
4. อัคนีพงศ์ หมายถึง ช้างเผือกตระกูลที่พระอัคนีเนรมิต ท่วงทีงดงาม เดินเชิดงวง อกใหญ่ งาทั้งสองโค้งพอจรดกัน สีเหลืองจนสีขาวปนแดง ผิวกลายคล้ายสีใบตองตากแห้ง แยกเป็น 42 หมู่ ที่น่าสังเกต คือ ช้างที่มีผิวกายประหลาดแต่ ตกชั้น หรือขาดคชลักษณ์สำคัญอื่นๆ จะอยู่ในตระกูลนี้ด้วย หากได้ขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญ ผิวกายจะปกติ แต่รูปร่างปราดเปรียว งาจะอวบสั้น คชลักษณ์งดงามกว่าช้างสามัญธรรมดาทั่วไป ซึ่งก็จัดอยู่ในตระกูลนี้เช่นกัน ส่วนช้างตามคชลักษณ์ที่สองจะเรียกว่า "ช้างเนียม" ในราชพงศาวดารได้รับพระราชทินนามเป็น มณีจักรา ก็อยู่ในตระกูลนี้ โดยช้างตระกูลอัคนีพงศ์ ยังแบ่งเป็นช้างเผือก และช้างเนียม
...
หากช้างเผือกใดได้รับการขึ้นระวางเป็น ช้างสำคัญ จะต้องเรียกว่า ช้าง ไม่เรียกว่า เชือก เหมือนช้างสามัญทั่วไป และหากช้างใดได้รับพระราชทินนาม หรือได้รับการสถาปนาเป็นพระยาช้างเผือกประจำองค์ พระมหากษัตริย์ หรือประจำรัชกาลก็ต้องเรียกคำนำหน้าว่า "คุณพระ" ทุกคราวไป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ มักมีพระยาช้างเผือกประจำพระองค์ทั้งสิ้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ ของปวงชนชาวไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลด้วยเช่นเดียวกัน โดยพระราชทานนามว่า "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนามนาคบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกทลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาต สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญาธิการ ปรมินทรบพิตร สารศักดิ์เลิศฟ้าฯ" ซึ่งเป็นช้างเผือกโท ตระกูลพรหมพงศ์
พระเศวตฯ เติบโตในการดูแลขององค์การสวนสัตว์และดุร้าย จนควาญช้างต้องจับมัดขาทั้งสี่ไว้กับเสา จนเป็นที่เกรงกลัวของบุคลทั่วไป ครั้นความทราบไปถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระเศวตฯ เข้าไปยืนโรงช้างต้นในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเมื่อปี พ.ศ.2519
ทั้งนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "ขณะนำคุณพระจากสวนสัตว์ดุสิตไปยังสวนจิตลดา มีเพียงถนนคั่นอยู่เพียงสายเดียว คุณพระก็อาละวาดหนักไม่ยอมเดิน เอางวงยึดต้นไม้จนล้ม เจ้าหน้าที่ต่างหมดปัญญา แต่ก็พยายามนำคุณพระจากเขาดินไปถึงประตูสวนจิตรลดาจนได้ ก็กินเวลาหลายชั่วโมง ต้องใช้คนจำนวนมากถือปลายเชือกผูกไว้กับขาคุณพระทั้งสี่ขา คอยลากคอยดึงและดูเหมือนจะต้องใช้รถแทรกเตอร์ช่วยขนาบข้าง เสี่ยงอันตายอยู่มาก จนในที่สุดก็นำคุณพระไปยังประตูพระราชวังจนได้ พอก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปจากดุร้าย กลายเป็นสงบเสงี่ยม เดินเรียบร้อยเข้าไปสู่ประตูโรงช้างต้นและอยู่อย่างสงบเรื่อยมา" โดยปัจจุบัน พระเศวตฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์.
...